ก่อน ฮอนด้า ฟรีด เปิดตัวเป็นทางการในเมืองไทยไม่นาน บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด ได้เชิญสื่อมวลชนกลุ่มใหญ่ไปทดลองขับถึงประเทศอินโดนิเซีย จากนั้นกระแส 'ฟรีด ฟีเวอร์' ก็ระบาดในกลุ่มคนรักฮอนด้า มีการเปิดเวบไซต์เพื่อพูดคุยทุกเรื่องราวเกี่ยวกับฟรีด โดยมีประเด็นร้อนอยู่ที่การคาดคะเนว่า ฮอนด้าจะตั้งราคาฟรีดประมาณเท่าไร มีคนอยากซื้อถึงขั้นนัดแนะรวมกลุ่มกันไปเพื่อจองรถทันทีที่เปิดจอง
หลังเปิดตัวพร้อมราคาอย่างเป็นทางการ ทำเอาหลายคนถอดใจ ตัดพ้อ และถึงขั้นบ่นด่า เนื่องจากฮอนด้าตั้งราคาฟรีดไว้สูงกว่าที่หลายคนคาดไว้ โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับขนาดของรถและเครื่องยนต์แค่ 1,500 ซีซี รุ่นพื้นฐาน S ราคา 894,500 บาท และ รุ่นสูงสุด E Navi Sport ราคา 1,074,500 บาท
เรื่องราคาจะส่งผลกระทบกับยอดขายแค่ไหน? จะทำได้ตามเป้าที่ตั้งไว้หรือไม่? ต้องดูกันยาวๆ
ทิ้งช่วงจากงานเปิดตัวเพียงไม่กี่วัน ฮอนด้าก็เชิญสื่อมวลชนร่วมทดสอบ ฟรีด ในแบบ Group Test บนเส้นทางกรุงเทพ-หัวหิน ระยะทางรวมไป-กลับประมาณ 380 กิโลเมตร มีโอกาสได้ทดลองขับ วัดอัตราเร่ง และอัตราสิ้นเปลือง รวมถึงได้ลองนั่งทั้งบนเบาะแถวกลางและแถวหลังด้วย
เกริ่นไว้ก่อนว่าหลังทดลองขับ ฮอนด้า ฟรีด ทำให้ผมแปลกใจ และไม่แปลกใจ ในเวลาเดียวกัน |
|
 |
|
ทดสอบสไตล์ท่องเที่ยว
ฮอนด้านัดหมายสื่อมวลชนที่โรงแรมสุโขทัย ซึ่งตั้งอยู่บนถนนสาทร รับประทานอาหารกลางวันท่ามกลางบรรยากาศธรรมชาติที่ห้องอาหาร Garden Villa จากนั้นจึงเข้าสู่พิธีการ บรรยายสรุปเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์และเส้นทางที่ใช้ในการทดสอบ
สำหรับรถยนต์ที่ใช้ทดสอบเป็นรุ่นสูงสุด E Navi Sport มาครบๆ ทั้งประตูสไลด์ไฟฟ้า 2 ด้าน ควบคุมด้วยคันโยกบนบานประตู สวิตช์ที่คอนโซลฝั่งผู้ขับ และสวิตช์ที่รีโมตคอนโทรล ระบบนำทางผ่านดาวเทียม ซึ่งใช้ซอฟแวร์ที่หลายคนคุ้นเคย เครื่องเล่น DVD กล้องมองหลังพร้อมตัวกะระยะบนจอ คิ้วบันไดสเตนเลส หัวเกียร์หุ้มหนัง
ภายนอก European Style โฉบเฉี่ยวด้วยชุดแต่งแบบสปอร์ต ทั้งกระจังหน้า สปอตไลต์ และสปอยเลอร์หลัง เส้นตัวถังด้านข้างช่วยให้รถดูสปอร์ต กลมกลืนกับไฟหน้าและไฟท้ายทรงเฉียบ |
|
 |
|
 |
|
แบ่งกลุ่มทดสอบออกเป็นคันละ 4 คนเท่ากับการแบ่งช่วงในการขับทดสอบ ขับจากโรงแรมสุโขทัยไปยัง Rest Detail Hotel ระยะทางประมาณ 190 กิโลเมตร (มีเพียงบางคันเท่านั้นที่ต้องขับกัน 3 คน) เมื่อขับไป-กลับ แต่ละคนจะได้ขับประมาณ 90 กิโลเมตร
สำหรับคันที่ผมทดลองขับพิเศษหน่อย ตรงที่ตอนขาไปมีตากล้องวีดีโอพ่วงมาด้วย ผู้ขับรวมผู้โดยสาร 5 คน และสัมภาระอีก 1 กอง คำนวณน้่ำหนักคร่าวๆ ได้กว่า 400 กิโลกรัม คงพอจินตนาการได้ว่า แต่ละคนจะมีรูปร่างไซส์ประมาณไหน
ก่อนออกเดินทาง มีการแสดงละครใบ้เกี่ยวกับความเอนกประสงค์ของ ฟรีด ที่สามารถจุสัมภาระขนาดใหญ่ได้อย่างเกินตัว อย่าถามว่าทำได้อย่างไร เพราะพิธีกรสาวสวยทั้ง 2 คน คือ น้องหนิง และ น้องลูกกอล์ฟ ดึงความสนใจจากผมไปจนหมด หันมาอีกทีนักแสดงละครใบ้ทั้ง 2 คน ก็นำของใส่เข้าไปใน ฟรีด จนหมดแล้ว |
|
 |
|
 |
|
ช่วงที่ 1 ระยะทาง 47 กิโลเมตร
เป็นที่รู้กันในกลุ่มเพื่อนสื่อมวลชนที่นั่งมาด้วยกันว่า ผมเป็นโรคแพ้กรุงเทพฯ ขับยังไงก็หลง ตอนแรกก็คิดว่าจะขับเป็นมือแรก จะได้ทดลองใช้ระบบนำทางผ่านดาวเทียม แต่เพื่อความปลอดภัย จึงเปลี่ยนให้สื่อมวลชนท่านอื่นขับออกจากกรุงเทพฯ ก่อนดีกว่า
ส่วนผมย้ายไปนั่งบนเบาะแถวกลางซึ่งเป็นแบบ Captain's Seat แยกเป็นเบาะเดี่ยว ปรับเอนและเลื่อนเดินหน้า-ถอยหลังได้ แถมมีที่เท้าแขนแบบพับได้ในตัว เบาะนั่งรองรับร่างกายเจ้าเนื้อของผมได้อย่างน่าแปลกใจ
ช่องวางขามีให้พอสมควร โดยได้รับความเอื้อเฟื้อจากผู้โดยสารข้างผู้ขับ ที่ช่วยปรับเลื่อนเบาะไปข้างหน้าให้บ้าง ไม่ได้เลื่อนถอยหลังมาจนสุดรางเบาะ ส่วนพื้นที่ด้านข้างเหลือเฟือ เพราะวางเบาะนั่งแบบ Captain's Seat ไว้เพียง 2 ตัว พื้นห้องโดยสารแบบเรียบ ฮอนด้าเตรียมขนมขบเคี้ยวพร้อมน้ำดื่มไว้ให้พร้อม
|
|
 |
|
ในรถทดสอบส่วนใหญ่มักจะไม่ติดฟิล์มกรองแสง สำหรับ ฟรีด ก็เช่นกัน กระจกรอบคันบานใหญ่ ขับทดสอบในช่วง 14.00-17.00 น. ช่วงแรกแดดร้อนจัด แต่แอร์ก็ยังกระจายความเย็นมาถึง สอบถามไปยังตากล้องวีดีโอซึ่งนั่งบนเบาะแถวหลังสุด ก็บอกว่าไม่ร้อน แต่ก็ไม่ถึงกับเย็นฉ่ำ ถ้าเร่งความเร็วพัดลมแอร์อีกหน่อย และติดฟิล์มกรองแสงคุณภาพดี ก็น่าจะเย็นฉ่ำกว่านี้
เป็นอันว่า เบาะนั่งแถวกลางมีความสะดวกสบายเพราะปรับเอนได้ และมีที่เท้าแขน พื้นที่กว้างขวางพอสมควร และแอร์เย็น ถ้าไม่ติดว่านี่เป็นการทดลองขับ ผมจะยึดที่นั่งนี้ไว้จนถึงปลายทาง
เมื่อนั่งเข้าที่เข้าทางแล้ว จึงเริ่มใช้สายตาสำรวจไปยังแผงหน้าปัด รวมทั้งห้องโดยสารด้านหน้า ซึ่งฮอนด้าระบุว่าเป็นแบบ Open Cafe แปลกตาด้วยการแบ่งหน้าปัดออกเป็น 2 ชั้น โดยรวมดูแล้วล้ำสมัยเข้ากับรูปทรงภายนอก |
|
 |
|
ส่วนบนมีชุดมาตรวัดแบบดิจิตอล คอนโซลกลางยื่นออกมาเล็กน้อย ติดตั้งจอของระบบนำทางผ่านดาวเทียม ประกบด้วยช่องแอร์ขนาดใหญ่ น่าจะเตรียมไว้สำหรับผู้โดยสารแถวกลางและแถวหลัง ส่วนผู้ขับและผู้โดยสารด้านหน้า มีช่ิองแอร์ส่วนตัวที่มุมซ้าย-ขวาของแผงหน้าปัด
ส่วนล่างออกแบบให้เป็นทรงแบน ตรงกลางติดตั้่งสวิตช์ควบคุมระบบปรับอากาศ คันเกียร์อยู่รวมกับแผงหน้าปัด เพื่อเปิดทางให้ผู้โดยสารด้านหน้าเดินทะลุไปถึงเบาะแถว 3 ได้โดยไม่ต้องลงจากรถ
หลังคันเกียร์มีหลุมเล็กๆ สำหรับใส่ของกระจุกกระจิกพร้อมที่วางแก้วน้ำแบบหลุมและแบบพับเก็บได้ ที่ใส่ของบริเวณคอนโซลกลางด้านล่าง และลิ้นชักเก็บของด้านหน้าผู้โดยสารข้างผู้ขับ แผงประตูคู่หน้าก็มีที่เก็บของขนาดพอพึ่งพาได้ บนเพดานมีไฟอ่านแผนที่
คอนโซลหน้าฝั่งขวาด้านผู้ขับ ติดตั้งสวิตช์ควบคุมประตูสไลด์ซึ่งทำงานด้วยระบบไฟฟ้า ทั้งเปิดและปิด สวิตช์ปรับและพับกระจกมองข้าง ซึ่งทำงานด้วยระบบไฟฟ้าเช่นกัน เหลือบมามองของใกล้ตัวคือ ด้านหลังพนักพิงเบาะคู่หน้า พบว่าฝั่งผู้โดยสารมีทั้งช่องใส่เอกสารและตะขอแขวนสัมภาระแบบพับเก็บได้
ผู้ขับมือแรกรายงานว่า ที่ความเร็วประมาณ 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง บนทางเรียบตรง ให้ความรู้สึกนุ่มนวล แต่การเข้าโค้งด้วยความเร็วเดียวกัน จะมีอาการโยนมากไปนิด ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากตัวรถที่สูง 1,735 มิลลิเมตร และยาง 185/65/15 หน้าแคบแก้มสูง เพื่อนสื่อมวลชนที่มีประสบการณ์คิดว่าถ้าเพิ่มแรงดันลมยางอีกนิด น่าจะช่วยลดการบิดตัวของแก้มยางได้ จึงตกลงกันว่าจะลองเติมเพิ่มเมื่อถึงจุดแวะถัดไป |
|
 |
|
ช่วงที่ 2 ระยะทาง 43 กิโลเมตร
ถึงปั๊มปตท. กม. 35 แวะดื่มกาแฟเข้าห้องน้ำประมาณ 15 นาที จากนั้นจึงเดินทางต่อ ก่อนออกเดินทาง ไม่ลืมที่จะเติมลมยางเพิ่มด้วยเครื่องเติมอัตโนมัติ เมื่อเสียบหัวเติมเข้าไปพบว่ามีแรงดันลมยาง 32 ปอนด์ต่อตารางนิ้วตามสเปค แต่เนื่องจากบรรทุกหนักและเดินทางไกล จึงตัดสินใจเพิ่มลมยางเป็น 36 ปอนด์ต่อตารางนิ้ว
ผมรับหน้าที่เป็นผู้ขับคนที่ 2 เพราะเส้นทางข้างหน้านั้นตรงอย่างเดียว ไม่ซับซ้อน รวมทั้งมีความคุ้นเคยพอสมควร เมื่อขับออกไปได้สักพัก ทุกคนก็ลงความเห็นเป็นเอกฉันท์ว่า รถมีการโยนตัวลดลง แสดงว่าคำเตือนให้เพิ่มแรงดันลมยางเมื่อบรรทุกหนักนั้นถูกต้องแล้ว |
|
 |
|
บางช่วงที่ถนนโล่งจึงลองกดคันเร่งมิดแช่ไว้ พบว่าอัตราเร่งช่วงต้นทำได้ดีพอสมควร แม้จะค่อนข้างอืด แต่ก็ไม่แปลกใจ เพราะอย่าลืมว่าม้า 118 ตัว ต้องลากน้ำหนักรวมกว่า 1,700 กิโลกรัม จากนั้นจะอัตราเร่งจะเริ่มแผ่วลง ตามสัดส่วนของความเร็วที่เพิ่มขึ้น
คันเร่งเป็นแบบ Drive by Wire การคิ๊กดาวน์เพื่อเร่งแซงก็เช่นกัน ที่ความเร็วต่ำ-ปานกลาง ยังมีความกระฉับกระเฉงให้สัมผัสบ้าง แต่ถ้าใช้ความเร็วสูงอยู่แล้ว เมื่อคิ๊กดาวน์ความเร็วจะเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ
เกียร์อัตโนมัติ 5 จังหวะ ควบคุมการทำงานด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ Grade Logic Control พร้อม Direct Control และ Shift Hold Control ทำงานรวดเร็วตอบสนองฉับไวเมื่อกดคันเร่งคิ๊กดาวน์ การเปลี่ยนเกียร์ลงต่ำมีความนุ่มนวล เช่นเดียวกับการเปลี่ยนเกียร์ที่รอบสูง ก็ไม่มีอาการกระชากให้สัมผัส
ระบบกันสะเทือนหน้าอิสระ แม็กเฟอร์สันสตรัต พร้อมเหล็กกันโคลง ด้านหลังทอร์ชั่นบีม ประสิทธิภาพอยู่ในระดับปกติ เน้นความนุ่มนวลเป็นหลัก เดินทางไกลด้วยความเร็วประมาณ 120 กิโลเมตร/ชั่วโมงได้อย่างสบาย และง่ายต่อการควบคุม พวงมาลัยเพาเวอร์ไฟฟ้า เบาแรงที่ความเร็วต่ำ และไม่โหวงเหวงเมื่อใช้ความเร็วสูง
ที่ความเร็วประมาณนี้ มาตรวัดอัตราสิ้นเปลืองแบบดิจิตอลบนแผงหน้าปัด แจ้งตัวเลข 14 กิโลเมตรต่อลิตร อาจไม่หรูหราถ้าดูแค่เครื่องยนต์ 1,500 ซีซี แต่หรูมากเมื่อเป็นรถทรงสูง และแบกน้ำหนักถึง 1,700 กิโลกรัม
ตำแหน่งการขับไม่เหมือนกับรถเก๋งเสียทีเดียว ออกแนวกึ่งเก๋งกึ่งรถเอนกประสงค์ มุมมองรอบคันโดยเฉพาะด้านหน้า กว้างโปร่งโล่งกว่ารถเก๋งทั่วไป เหมาะกับการขับท่องเที่ยวชมวิวเป็นอย่างยิ่ง และจะดีมากขึ้นถ้าได้ย้ายไปนั่งฝั่งผู้โดยสารด้านหน้า |
|
 |
|
ช่วงที่ 3 ระยะทาง 45 กิโลเมตร
เมื่อถึงจุดพักรถที่ 2 ระหว่างรอเพื่อนสื่อมวลชนพักผ่อนยืดเส้นยืดสาย ผมได้ทดลองระบบประตูสไลด์ไฟฟ้า ซึ่งบนบานประตูสไลด์มีคันโยกสำหรับเปิด-ปิดประตู ทำงานด้วยระบบไฟฟ้า ออกแรงโยกเพียงเบาๆ ประตูก็เปิด-ปิดได้อย่างนุ่มนวล เปิดได้กว้างถึง 600 มิลลิเมตร ขึ้น-ลงสะดวก
เล่นไปเล่นมาเกิดความสงสัย จึงเอามือขวางไว้แล้วให้เพื่อนกดสวิตช์ปิดประตู พบว่า ฟรีด มีระบบป้องกันการหนีบมาให้ด้วย ออกแรงต้านเพียงเล็กน้อย ประตูที่กำลังจะปิดก็เลื่อนกลับไปยังตำแหน่งเปิดสุด ถ้าประตูหนีบร่างกายจริงๆ ยังไม่ทันเจ็บตัวประตูก็เลื่อนกลับแล้ว
เดินไปดูประตูบานท้ายซึ่งเป็นแบบเปิดขึ้นด้านบน เปิดได้ลึกเกือบสุดแนวกันชนด้านล่าง เมื่อเปิดขึ้นสุดแล้วจึงกว้างจุใจ บวกกับเบาะหลังที่พับเก็บไว้ด้านข้างได้ จึงสามารถเคลื่อนย้ายสิ่งของขนาดใหญ่ได้
มิติตัวถังมีความยาว 4,215 มิลลิเมตร กว้าง 1,700 มิลลิเมตร สูง 1,735 มิลลิเมตร ฐานล้อ 2,740 มิลลิเมตร ความกว้างล้อหน้า/หลัง 1,478/1,466 มิลลิเมตร ความสูงจากพื้น 165 มิลลิเมตร น้ำหนักรุ่น S 1,330 กิโลกรัม รุ่น E 1,355 กิโลกรัม
ตัวรถมีขนาดกะทัดรัด ใช้งานในเมืองได้อย่างคล่องตัว ห้องโดยสารกว้างขวางเพราะฐานล้อยาวถึง 2,740 มิลลิเมตร (ฐานล้อแอคคอร์ด 2,800 มิลลิเมตร) และช่วยให้การทรงตัวมั่นคงขึ้นด้วย
พักประมาณ 15 นาที ก็เริ่มเคลื่อนขบวนสู่จุดพักรถที่ 2 ซึ่งอยู่ห่างออกไปประมาณ 43 กิโลเมตร ผมขยับไปนั่งบนเบาะหลังสุดฝั่้งเดียวกับผู้ขับ เพื่อให้ตากล้องวีดีโอเก็บภาพมุมอื่นบ้าง
ฮอนด้าออกแบบเบาะแถว 2 ให้เป็นแบบแยก เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้โดยสารบนเบาะแถว 3 สามารถเดินผ่านระหว่างเบาะเพื่อเข้า-ออกได้ แต่ด้วยความเคยชิน ผมจึงใช้วิธีพับพนักพิงเบาะแถว 2 แล้วแทรกตัวเข้าไปนั่งบนเบาะแถว 3 ซึ่งก็ไม่ได้ลำบากแต่อย่างใด เพียงแต่ต้องปรับเบาะแถว 2 ใหม่เท่านั้น และก่อนนั่งบนเบาะแถว 3 ต้องเลื่อนหมอนรองศีรษะขึ้นมาก่อน ไม่เช่นนั้นจะค้ำหลังทำให้นั่งไม่สะดวก |
|
 |
|
แม้จะระบุว่ารองรับผู้โดยสารได้ 7 ที่นั่ง โดยแบ่งเป็นด้านหน้า 2 คน แถวกลาง 2 คน และแถวหลัง 3 คน (ผู้โดยสารแถวหลังตรงกลางมีเข็มขัดนิรภัย 2 ตำแหน่งมาให้) แต่เมื่อดูจากลักษณะของเบาะนั่งและพื้นที่ด้านกว้างแล้ว ถ้าเป็นการเดินทางไกล การนั่งบนเบาะแถว 3 เพียง 2 คน จะสะดวกสบายกว่านั่ง 3 คน
ไม่รู้ว่าเป็นเพราะผมนั่งบนเบาะหลังคนเดียวหรือเปล่า (เบาะหลังอีกด้านแยกพับแบบ 50:50 เพื่อวางสัมภาระ) จึงรู้สึกแปลกใจว่าเบาะแถว 3 ที่ดูหน้าตาแล้วไม่น่านั่งสบาย กลับให้ความสบายไม่แพ้เบาะแถว 2 แต่ก็ต้องอาศัยความเอื้อเฟื้อจากผู้โดยสารแถว 2 ด้วยเช่นกัน พื้นที่วางขามีให้พอสมควร นั่งหมุนไปหมุนมาเพื่อถ่ายรูป ฟรีด คันอื่นได้อย่างคล่องตัว แอร์แม้ไม่เย็นฉ่ำ แต่ก็ไม่ร้อนจนเหงื่อซึม
เนื่องจากผู้ขับท่านนี้ใช้ความเร็วค่อนข้างสูง ประมาณ 120-140 กิโลเมตรต่อชั่วโมงในบางช่วง จึงพบว่าตัวรถมีอาการยวบยาบ เมื่อขับผ่านถนนที่เป็นคลื่นลอนโดยไม่ชลอความเร็ว
อาการนี้ผมไม่แปลกใจ เพราะรถออกแบบให้ใช้เดินทางในแบบสบายๆ เน้นความนุ่มนวลที่ความเร็วต่ำ-ปานกลางเป็นหลัก แก้ไขไม่ยาก แค่ลดความเร็วลงเมื่อขับผ่านผิวถนนไม่เรียบ เท่านี้ก็ช่วยให้ผู้โดยสารนั่งได้สบายขึ้นแล้ว |
|
 |
|
ช่วงที่ 4 ระยะทาง 56 กิโลเมตร
การขับทดสอบในช่วงนี้ ถูกจองไว้ตั้งแต่แรกแล้วโดยเพื่อนสื่อมวลชนท่านหนึ่ง เนื่องจากรู้ว่าถนนก่อนถึงโรงแรม กว้าง เรียบ และค่อนข้างโล่ง สามารถวัดอัตราเร่งได้อย่างปลอดภัยและไม่รบกวนรถคันอื่น เมื่อถึงจุดแวะพักที่ 3 จึงติดตั้งเครื่องมือ ส่วนผมย้ายมานั่งเบาะหน้าข้างผู้ขับเพื่อช่วยควบคุมเครื่องมือ เป็นอันว่าวันนี้ได้ทดลองนั่งครบทุกตำแหน่งแล้ว
ออกจากจุดพักรถปั๊มปตท. บ้านลาดเพชรบุรี ใช้ความเร็วปกติมาจนถึงแยกถนนเลี่ยงเมือง ขับตรงเข้าเมืองไปทางชะอำได้ไม่นานก็ถึงถนนที่ปลอดภัยพอสำหรับการทดสอบ จึงนำรถชิดขอบทาง รอจังหวะรถว่างแล้วกดค้นเร่งมิดเพื่อออกตัว เนื่องจากถนนค่อนข้างโล่ง จึงมีโอกาสได้ทดสอบอัตราเร่งหลายครั้ง พบว่าครั้งแรกดีที่สุด
• อัตราเร่ง 0-60 กม./ชม. - 7.3 วินาที
• อัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. - 16.7 วินาที
• อัตราเร่ง 0-120 กม./ชม. - 25.2 วินาที
• อัตราเร่ง 0-140 กม./ชม. - 36.1 วินาที
• เร่ง 0-400 เมตร ในเวลา 20.6 วินาที ความเร็ว 110.1 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
• เร่ง 0-1,000 เมตร ในเวลา 37.5 วินาที ความเร็ว 141.6 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
จากนั้นประมาณ 17.30 น. ก็เดินทางถึงที่พัก Rest Detail Hotel รีสอร์ตบรรยากาศริมทะเล ห้องพักแบ่งเป็น 2 ฝั่ง หันหลังชนกัน ตรงกลางคั่นด้วยสระว่ายน้ำขนาดใหญ่ สามารถว่ายไปหากันได้ น่าเสียดายที่ตากล้องวีดีโอของผมหนีกลับไปก่อน |
|
 |
|
ปิดท้ายด้วยการนั่ง 7 คน
หลังพักผ่อนอาบน้่ำอาบท่า ก็ถึงเวลาออกไปทานอาหารเย็น เพื่อความสะดวกสบายของสื่อมวลชน เจ้าหน้าที่ของฮอนด้าจึงรับหน้าที่เป็นสารถี พร้อมโชว์ความแม่นยำของระบบนำทางผ่านดาวเทียมไปยังร้านอาหารทะเล เป็นร้านโอเพ่นแอร์บรรยากาศเป็นกันเอง
การเดินทางทั้งไปและกลับ นอกจากเพื่อนสื่อมวลชนกลุ่มเดิมที่เดินทางมาด้วยกันรวม 4 คนแล้ว ยังมีเพื่อนมาสบทบเพิ่มอีก 2 รวมคนขับเป็น 7 คน ผมมีโอกาสนั่งกลางเบาะแถว 3 โดยไม่ตั้งใจ พบว่าเป็นไปตามคาดคือ นั่งไม่ค่อยสบายนัก เพราะเบาะตรงกลางเป็นเนินสูงขึ้นมา และถ้าผู้โดยสารฝั่งซ้ายและขวาขยับช่วยนิดหน่อย ก็สามารถเอนหลังพิงได้ทั้ง 3 คนแบบไหล่ชนไหล่
วันรุ่งขึ้นเดินทางกลับผลัดกันขับ 4 คนเหมือนเดิม แวะพักตามจุดต่างๆ ก่อนเดินทางกลับถึง โรงแรมสุโขทัย ทานอาหารว่างที่ ฮอนด้า จัดเตรียมไว้ก่อนแยกย้ายกันกลับ •
ขอบคุณ: บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด อำนวยความสะดวกตลอดการเดินทาง |
|
|