August 11, 2018
Motortrivia Team (10167 articles)

Mazda CX-3 ลองรุ่นท๊อปเครื่องยนต์เบนซินและดีเซล

เรื่อง – ภาพ : นาธัส แสงสุริยะ

 

●   มาสด้า CX-3 เปิดตัวช่วงกลางเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา เน้นปรับรูปลักษณ์และเพิ่มอุปกรณ์มาตรฐาน ปรับปรุงระบบกันสะเทือน ส่วนเครื่องยนต์ไม่เปลี่ยนแปลง ทิ้งช่วงประมาณครึ่งเดือนก็จัดทดสอบแบบกลุ่มเส้นทางกรุงเทพ-หัวหิน ใช้รถรุ่นสูงสุดของเครื่องยนต์เบนซิน 2.0 SP ราคา 1.083 ล้านบาท และดีเซล 1.5 XDL ราคา 1.189 ล้านบาท

●   ภายนอกเปลี่ยนใหม่หลายจุด เช่น กระจังหน้า กรอบไฟตัดหมอกสีดำเงาตกแต่งด้วยคิ้วโครเมียม ไฟท้ายแนวคิดเดียวกับ CX-5 เป็นแบบ LED Signature ล้อแม็กลายใหม่สีทูโทนขนาด 18 นิ้ว คิ้วโครเมียมด้านข้างปรับใหม่ให้ขนานกับพื้นมากขึ้น พร้อมเพิ่มคิ้วโครเมียมที่ใต้ไฟตัดหมอกหน้า เสากลางรุ่นเดิมเป็นสีดำด้าน เปลี่ยนใหม่เป็นสีดำเงา Piano Black

●   ภายในปรับคอนโซลหน้าใหม่ พร้อมคอนโซลเกียร์ใหม่ ติดตั้งเบรกมือไฟฟ้า และระบบ Auto Brake Hold เพิ่มที่เท้าแขนระหว่างเบาะหน้า เพิ่มซันรูฟไฟฟ้า ชุดระบบความปลอดภัย i-ACTIVSENSE ทุกรุ่นติดตั้ง Advanced Blind Spot Monitoring แจ้งเตือนจุดบอดเมื่อผู้ขับทำการเปลี่ยนเลน และระบบ Rear Cross Traffic Alert ตรวจจับรถจากด้านข้างและด้านหลังขณะถอยหลัง

●   ส่วนรุ่นสูงสุดเพิ่มระบบ Lane Departure Warning System เตือนเมื่อตัวรถเบี่ยงออกนอกเลน, ระบบ Adaptive LED Headlamps ปรับระดับไฟหน้าอัตโนมัติ, ระบบ Driver Attention Alert เตือนผู้ขับเมื่อตรวจพบอาการเหนื่อยล้า, ระบบ Mazda Radar Cruise Control ปรับความเร็วพร้อมรักษาระยะห่างจากรถคันข้างหน้าโดยอัตโนมัติ, ระบบ 360 View Monitor แสดงผลพื้นที่รอบตัวรถแบบรอบคัน, ระบบ Smart City Brake Support (SCBS) & Smart City Brake Support-Reverse (SCBS-R) ช่วยหลีกเลี่ยงการชนโดยตรวจจับระยะห่างระหว่างรถ พร้อมแจ้งเตือนและเบรคอัตโนมัติ ช่วยลดความเสียหายที่เกิดจากการชนในความเร็วกลางไปจนถึงความเร็วสูง

●   นอกจากการปรับรูปลักษณ์และเพิ่มอุปกรณ์มาตรฐานแล้ว ห้องโดยสารของ CX-3 ยังเพิ่มความนุ่มนวลและลดเสียงรบกวน เพื่อให้ผู้โดยสารด้านหน้าและด้านหลังพูดคุยกันสะดวกขึ้น ด้วยการเพิ่มความหนาของกระจกประตูคู่หลังจาก 3.5 เป็น 4 มิลลิเมตร เพิ่มยางขอบประตูบริเวณ รวมทั้งเพิ่มความหนาของวัสดุซับเสียงที่บานประตูและหลังคา

●   ระบบกันสะเทือนได้รับการปรับปรุง เพื่อเพิ่มความนุ่มนวลและเพิ่มประสิทธิภาพการยึดเกาะถนน ปรับจูนการทำงานของพวงมาลัยเพาเวอร์ไฟฟ้า ให้มีความเหมาะสมระหว่างการผ่อนแรงและการตอบสนองของรถยนต์ ปรับในส่วนของคอยล์สปริงและช๊อคฯ เพื่อให้มีการกระจายน้ำหนักที่ดีขึ้น ช๊อคฯ มีการทำงานที่สอดคล้องกับสปริงที่ถูกปรับให้มีการทำงานที่สม่ำเสมอยิ่งขึ้น ลดขนาดเหล็กกันโคลงหน้าลง เพื่อปรับปรุงเรื่องการโยนตัวของรถให้สอดคล้องกับการทำงานของพวงมาลัยเพาเวอร์ไฟฟ้าที่ได้รับการปรับปรุงใหม่ ยางขนาด 18 นิ้ว เปลี่ยนเป็นยางที่มีคุณภาพดีขึ้นเพื่อความนุ่มนวลและดูดซับแรงสะเทือนจากผิวถนนได้ดีขึ้น และมีระยะเบรกสั้นลง


คุณอุทัย เรืองศักดิ์ ผู้จัดการอาวุโสส่วนงานประชาสัมพันธ์


●   ออกเดินทางจากกรุงเทพฯ ด้วยรถรุ่นเบนซิน นั่งกัน 4 คน เป็นเรื่องที่ค่อนข้างท้าทายเพราะพื้นที่ภายในของ CX-3 ค่อนข้างจำกัด การจะนั่ง 4 คน ต้องอาศัยความสามัคคี ผู้โดยสารด้านหน้าต้องช่วยเลื่อนเบาะให้ด้านหลังมีพื้นที่วางขาบ้าง ผู้โดยสารด้านหลัง 2 คน สูง 169 เซนติเมตร ยังนั่งหลังพิงเบาะได้สบายๆ ศีรษะเฉี่ยวๆ เพดาน แต่อีกคนที่สูงถึง 185 เซนติเมตร ต้องนั่งแบบกึ่งนั่งกึ่งนอน แต่ขาก็ยังติดพนักพิงเบาะหน้าอยู่ดี ต้องนั่งตะแคงตัว ถ้าจะซื้อ CX-3 ไม่ควรเน้นเรื่องพื้นที่ใช้สอยมากนักโดยเฉพาะด้านหลัง พื้นที่เก็บของด้านหลังก็มีจำกัด วางเป้ 4 ใบ ก็เต็มพอดี แต่พนักพิงเบาะหลังแยกพับก็ช่วยเพิ่มพื้นที่เก็บสัมภาระได้อีกพอสมควร ถ้าจะซื้อ CX-3 ควรนั่งแค่ 2 คนด้านหน้าเป็นหลัก ส่วนด้านหลังไว้วางของ


คุณวัชระ เจียรบุญ ผู้จัดการอาวุโสส่วนงานผลิตภัณฑ์


●   เครื่องยนต์เบนซิน 2,000 ซีซี ไดเร็คอินเจ็คชั่น 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว อัตราส่วนการอัด 14.0:1 ให้กำลังสูงสุด 156 แรงม้า ที่ 6,000 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุด 204 นิวตันเมตร หรือ 20.78 กก.-ม. ที่ 2,800 รอบต่อนาที ถังน้ำมันจุ 48 ลิตร เกียร์อัตโนมัติ 6 จังหวะ Activematic พร้อม Paddle Shift ขับความเร็วต่ำก็ตอบสนองได้ทันใจพอสมควร ส่วนการเร่งความเร็ว แค่กดคันเร่งลึกหน่อย เกียร์ก็จะคิ๊กดาวน์ให้แล้ว การลากรอบสูงทำได้ไหลลื่น รอบกวาดตวัดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว เสียงเครื่องยนต์หนักแน่น เลี้ยงรอบไว้แถวๆ 3,000-4,000 รอบฯ จะขับสนุกและเร่งได้ทันใจ โหมด Sport รอบจะสูงกว่าโหมดปกติประมาณ 500-750 รอบฯ ที่ความเร็วเท่ากัน

●   ในโหมด M ยังสามารถคิ๊กดาวน์ได้ และเมื่อเร่งไปถึงประมาณ 6,750 รอบต่อนาที เกียร์ก็จะเปลี่ยนขึ้นเกียร์สูงให้ รุ่นเบนซินยิ่งความเร็วสูงยิ่งขับสนุก เพราะเกียร์ 5 และ 6 ที่เป็นโอเวอร์ไดรฟ์ รอบจะไม่ตกมากนัก ทำให้เร่งเพิ่มความเร็วได้ทันใจ โดยเป็นความแรงแบบมีรอบ ช่วงแรกเดินทางด้วยความเร็วปกติ ได้อัตราสิ้นเปลืองเฉลี่ย 13.5 กิโลเมตรต่อลิตร

●   พวงมาลัยเพาเวอร์แปรผันน้ำหนักได้ดี ความเร็วต่ำเบาคล่องตัว ความเร็วสูงหนืดหน่วงมั่นคง แต่บางจังหวะอย่างการเปลี่ยนเลนที่ความเร็วสูง ก็ยังรู้สึกว่าเบาไปนิดๆ ช่วงล่างหน้าอิสระแม็กเฟอร์สันสตรัต พร้อมเหล็กกันโคลง ด้านหลังทอร์ชั่นบีม ให้ความหนึบแน่นมั่นใจตามสไตล์มาสด้า ซึ่งเป็นจุดที่คนซื้อมาสด้าคาดหวัง ยาง 215/50/18 ยังดูดซับแรงกระแทกได้ดีพอสมควร เบรกดิสก์ 4 ล้อ ให้ความรู้สึกในการเบรกที่ดี ควบคุมการเบรกให้นุ่มนวลได้ไม่ยาก และสร้างแรงเบรกได้เหลือเฟือ

●   รุ่งขึ้นสลับรถเป็นรุ่นดีเซล ความจุ 1,500 ซีซี ไดเร็คอินเจ็คชั่น เทอร์โบแปรผัน ฝาสูบแบบ DOHC 16 วาล์ว ให้กำลังสูงสุด 105 แรงม้า ที่ 4,000 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุด 270 นิวตันเมตร หรือ 27.5 กก.-ม. ที่ 1,600-2,500 รอบต่อนาที ถังน้ำมันจุ 48 ลิตร เกียร์อัตโนมัติ 6 จังหวะ Activematic นั่ง 4 คนเหมือนเดิม ก่อนออกจากที่พัก เซต 0 ข้อมูลการขับใหม่ทั้งหมด ถนนค่อนข้างโล่ง ใช้ความเร็วปกติ ไล่ไปถึง 140 กิโลเมตรต่อชั่วโมงบ้าง เมื่อทำความเร็วคงที่ได้สักพัก อัตราสิ้นเปลืองก็เริ่มดีขึ้นอย่างรวดเร็ว และเริ่มนิ่งแถวๆ 18 กิโลเมตรต่อลิตร ตัวเลขเคลมจากโรงงาน 22.2 กิโลเมตรต่อลิตร ทำได้แน่ๆ ถ้าน้ำหนักบรรทุกน้อยกว่านี้ และใช้ความเร็วต่ำกว่านี้ ที่ 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ใช้รอบเพียง 1,750 รอบต่อนาที ข้อดีหนึ่งของเครื่องยนต์ดีเซลคือ ความเร็วเพิ่มขึ้น แต่รอบเครื่องยนต์จะไม่ค่อยเพิ่มขึ้นมาก

●   อัตราเร่งที่ความเร็วต่ำ-ปานกลาง ทำได้ดี ใช้วิธีค่อยๆ กดคันเร่งในเกียร์เดิมก็เร่งได้ทันใจแล้ว การคิ๊กดาวน์ไม่ได้ช่วยให้เร่งได้เร็วกว่าเดิมมากนัก รอบเครื่องยนต์ไหลขึ้นได้ดีจรดรอบปลาย ไม่รู้สึกว่าตื้อหรืออั้น ขับช่วงแรกระยะทาง 75.6 กิโลเมตร ความเร็วเฉลี่ย 103 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ได้อัตราสิ้นเปลืองเฉลี่ย 18.3 กิโลเมตรต่อลิตร จากนั้นสลับผู้ขับ เจอกับรถติดช่วงก่อนเข้าเมือง อัตราสิ้นเปลืองก็ยังป้วนเปี้ยนแถว 17.8 กิโลเมตรต่อลิตร

●   เสียงเครื่องยนต์เมื่อฟังจากนอกรถ ก็ไม่ได้ดังโครมคราม มีแค่เสียงเบาๆ ถี่ๆ และเมื่อเข้ามานั่งในห้องโดยสารจะแทบไม่ได้ยินเสียงเครื่องยนต์ เช่นเดียวกับการขับใช้งานด้วยความเร็วรอบปกติ เสียงเครื่องยนต์เงียบ และแทบไม่มีอาการสั่นสะเทือน ส่วนเวลาลากรอบจะได้ยินเสียงเครื่องยนต์แผ่วๆ แต่ยังคงนิ่งไม่สะเทือน การเก็บเสียงภายในห้องโดยสารทำได้ดีเหมือนรุ่นเบนซิน ส่วนช่วงล่างรู้สึกว่านุ่มนวลกว่า แต่ก็ยังบอกไม่ได้แน่ชัด เพราะไม่ได้ขับบนถนนเส้นเดียวกัน

●   โดยสรุป CX-3 รุ่นเบนซิน ขับได้ราบเรียบนุ่มนวล รอบต่ำตอบสนองดี และเริ่มจี๊ดจ๊าดเร่งติดเท้าในรอบปลายหรือความเร็วสูง คาดหวังอัตราสิ้นเปลืองเฉลี่ย 12-13 กิโลเมตรต่อลิตร ส่วนดีเซลเร่งดีในรอบต่ำถึงปานกลาง เร่งขึ้นแบบนุ่มๆ ใช้รอบต่ำ คาดหวังความประหยัดได้ถึง 16-17 กิโลเมตรต่อลิตร เครื่องยนต์เงียบและนุ่มนวล ทั้ง 2 เครื่องยนต์มีบุคลิกที่ชัดเจน อยู่ที่ว่าผู้ซื้อต้องการใช้งานแบบไหน

●   ทั้ง 2 รุ่นเครื่องยนต์ มีจุดเด่นที่ระบบส่งกำลังแบบเกียร์อัตโนมัติ 6 จังหวะ เป็นเกียร์แบบฟันเฟืองที่ตอบสนองได้รวดเร็วทันใจ เปลี่ยนเกียร์ขึ้นลงได้อย่างนุ่มนวล ช่วงล่างปรับใหม่นุ่มนวลนั่งสบายและยังคงความหนึบสไตล์มาสด้า จุดด้อยคือ พื้นที่ภายใน โดยเฉพาะด้านหลังที่คับแคบ ตัวเบาะรองนั่งค่อนข้างสั้น คนตัวสูงเกิน 175 เซนติเมตร นั่งลำบากแน่ๆ จึงเหมาะสำหรับการนั่งแค่ 2 คนเป็นหลัก โดยรวมเป็นคอมแพ็ค ครอสโอเวอร์ ที่ขับสนุกคล่องตัวและน่าสนใจในงบประมาณ 1 ล้านบาทเศษ   ●

2018 Mazda CX-3 : Group Test