February 7, 2018
Motortrivia Team (10069 articles)

ใครคือ 10 สุดยอดซัพพลายเออร์ในอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์


Posted by : AREA 54

 

● ความก้าวในด้านเทคโนโลยีต่างๆ ที่ติดตั้งในรถยนต์ยุคใหม่ ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์พื้นฐานหรือเทคโนโลยีข่วยขับชั้นสูงประเภท ADAS (Advanced driver-assistance systems) ส่วนหนึ่งไม่ได้เกิดขึ้นจากบริษัทผู้ผลิตรถยนต์โดยตรง แต่เป็นการคิดค้นและพัฒนาโดยบรรดาซัพพลายเออร์ยักษ์ใหญ่ เช่น BOSCH, Continental หรือ ZF เป็นต้น

● ในขณะที่ยานยนต์ยุคใหม่ กำลังปรับตัวเข้าสู่ยุคเปลี่ยนแปลงหลังปี 2020 เหล่าซัพพลายเออร์ต่างก็ทุ่มเทสรรพกำลังคิดค้นเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ในระดับแมส มีรายงานว่า BOSCH เพิ่มงบลงทุนถึง 336 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 1 หมื่นกว่าล้านบาทเพื่อศึกษาแพลทฟอร์ม AI สำหรับติดตั้งในระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติโดยเฉพาะ

● ด้านความตื่นตัวในแง่ของเทคโนโลยีการผลิตนั้น ข้อมูลบางส่วนจากเว็บไซท์ Automotive News ระบุว่า ในช่วงปี 2017 ที่ผ่านมามีรถยนต์ราว 10.8 ล้านคันที่ติดตั้งชุดระบบประเภทป้องกันการชน (collision avoidance systems) มาจากโรงงาน ซึ่งชุดระบบเหล่านี้กำลังจะกลายเป็น “อุปกรณ์พื้นฐาน” ในรถยนต์ เช่นเดียวกับระบบปรับอากาศ ระบบเบรค ABS หรือแม้แต่ที่ปัดน้ำฝนในยุคหน้า ซึ่งนักวิเคราะห์คาดกันว่า ในปี 2020 รถยนต์ที่ติดตั้งชุดระบบประเภทป้องกันการชนจะมีตัวเลขทวีคูณขึ้นไปถึง 85.9 ล้านคัน

● ตรงนี้ ส่วนหนึ่งเป็นไปตามข้อบังคับกฏหมายในแต่ละประเทศด้วย ยกตัวอย่าง ภายในปี 2018 รถทุกคันในสหรัฐฯ จะต้องติดตั้งกล้องมองหลังสำหรับช่วยถอยเป็นอุปกรณ์พื้นฐาน เป็นต้น

● เม็ดเงินจำนวนมหาศาลจากยอดจำหน่ายรถยนต์นั้น ส่วนหนึ่งหมุนเวียนอยู่ในแวดวงซัพลายเออร์ระดับสูงเหล่านี้… ในช่วงปีที่ผ่านมา BOSCH สามารถทำเงินได้ถึง 1 พันล้านยูโร หรือราว 3.9 หมื่นล้านบาท จากการส่งมอบเฉพาะซอฟท์แวร์และชุดควบคุมวาล์วต่างๆ (Actuator) ในชุดระบบเท่านั้น ดังนั้นการวิ่งไล่ตามเทคโนโลยีสมัยใหม่อย่างสุดกำลังของเหล่าซัพพลายเออร์ นอกจากจะหมายถึงการยกระดับเทคโนโลยียานยนต์ ยังหมายถึงความอยู่รอดของทั้งอุตสาหกรรมยานยนต์ตลอดห่วงโซ่ธุรกิจ ในวันที่รูปแบบการสัญจรของโลกเปลี่ยนแปลงไปด้วย

วันนี้เราจะมาดูกันว่า Top 10 ของซัพพลายเออร์ในแวดวงอุตสหกรรมยานยนต์ มีใครกันบ้าง และพวกเขาทำเงินกันได้อย่างน้อยปีละเท่าไหร่ในช่วงที่ผ่านมา

อันดับ 1 : Robert BOSCH GmbH ซัพพลายเออร์อันดับ 1 ของโลกในอุตสาหกรรมยานยนต์จากเยอรมนี พวกเขาเชี่ยวชาญด้านการผลิตชุดระบบอิเลคทรอนิคส์ทั้งเครื่องยนต์เบนซิน และดีเซล, เทคโนโลยีแบตเตอรี่, ชุดระบบบังคับเลี้ยว และชุดระบบมัลติมีเดียในรถยนต์ พวกเขาทำเงินได้ถึง 46,500 ล้านดอลลาร์ หรือราว 1.47 ล้านล้านบาท ในปี 2016 ที่ผ่านมา (ตัวเลขของปี 2017 จะมีการสรุปราวช่วงเดือนมิถุนายน 2018)

อันดับ 2 : ZF Friedrichshafen AG อีกหนึ่งในซัพพลายเออร์ชั้นนำจากเยอรมนีที่เรารู้จักกันดีในฐานะผู้ผลิตเกียร์ให้กับบรรดารถยุโรป เมื่อรวมกับการผลิตคลัทช์, ส่วนประกอบของแชสซีส์, ชุดระบบแดมเปอร์ และชุดระบบป้องกันการเกิดอุบัติเหตุทั้งก่อนและหลังการชน พวกเขาทำเงินไปได้ 38,465 ล้านดอลลาร์ หรือราว 1.21 ล้านล้านบาท

อันดับ 3 : Magna International Inc. จากแคนาดา ผู้ผลิตเบาะรถยนต์, ชุดระบบขับเคลื่อน, แชสซีส์, โมดูลในการควบคุมหลังคาไฟฟ้า, โมดูลสำหรับชุดระบบที่เกี่ยวข้องกับทัศนวิสัย เช่น ระบบไฟฟ้าในกระจกมองข้าง และกระจกมองหลังในห้องโดยสาร หรือชุดระบบไฟ LED พวกเขาทำเงินไปได้ 36,445 ล้านดอลลาร์ หรือราว 1.15 ล้านล้านบาท

อันดับ 4 : Denso Corp. จากประเทศญี่ปุ่น หนึ่งในบริษัทไฮเทคที่อยู่เบื้องหลังเทคโนโลยีเด่นๆ ของโตโยต้า, ซูซูกิ ฯลฯ ปัจจุบันทำเงินในธุรกิจ OEM จากระบบที่เกี่ยวเนื่องกับประสิทธิภาพทางความร้อน, ชุดระบบขับเคลื่อน, ชุดระบบไฟฟ้า, มอเตอร์ไฟฟ้าขนาดเล็ก และชุดระบบติดต่อสื่อสารบางส่วนในชุดระบบอินโฟเทนเมนท์ เป็นจำนวนเงินที่ใกล้เคียงกับอันดับ 3 คิดเป็นตัวเลขถึง 36,184 ล้านดอลลาร์ หรือราว 1.14 ล้านล้านบาท

อันดับ 5 : Continental AG จากเยอรมนี ผู้พัฒนาเทคโนโลยีในระดับแอดวานซ์ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีชุดระบบ ADAS ที่ใช้ในรถยุโรปโดยเฉพาะ รวมถึงระบบเบรค, ระบบควบคุมการทรงตัว, ยาง, แชสซีส์, ชุดระบบหัวฉีด, เทอร์โบชาร์จสำหรับเครื่องยนต์เบนซิน และโมดูลสำหรับชุดระบบไฟฟ้าในห้องโดยสาร Continental ทำเงินได้ 32,680 ล้านดอลลาร์ หรือราว 1.03 ล้านล้านบาท

อันดับ 6 : Aisin Seiki Co. จากญี่ปุ่น ผู้ผลิตชุดระบบเบรค, ชุดระบบบางส่วนในแชสซีส์, ชุดระบบอิเลคทรอนิคส์ในระบบขับเคลื่อนและเครื่องยนต์ พวกเขาทำเงินในธุรกิจนี้ได้ 31,389 ล้านดอลลาร์ หรือราว 9.91 แสนล้านบาท

อันดับ 7 : Hyundai Mobis จากเกาหลีใต้ หนึ่งในบริษัทในเครือของ Hyundai Motor Group ที่เปิดตัวเพื่อรองรับการขยายตัวทางธุรกิจของฮุนได, เกีย และเจเนซิสโดยเฉพาะ พวกเขารับหน้าที่ผลิตแชสซีส์, ชุดคอคพิทและแผงแดชบอร์ดในห้องโดยสาร, ระบบบังคับเลี้ยว, ถุงลมนิรภัย, ชุดเบรค, ชุดระบบกันสะเทือน และระบบอิเลคทรอนิคส์ในชุดไฟส่องสว่าง และทำเงินไปได้ 27,207 ล้านดอลลาร์ หรือราว 8.59 แสนล้านบาท

อันดับ 8 : Faurecia จากฝรั่งเศส ผู้ผลิตชุดเบาะ, เทคโนโลยีควบคุมมลพิษในไอเสีย และชุดระบบอิเลคทรอนิคส์ในห้องโดยสาร ผู้แปลคิดว่าคุณผู้อ่านส่วนใหญ่น่าจะไม่คุ้นชื่อกันนัก Faurecia เป็นหนึ่งในบริษัทภายใต้ชายคา Groupe PSA ซึ่งนอกจากจะผลิตอุปกรณ์ตามสั่งแบบ OEM ให้กับรถให้เครือ PSA แล้ว ยังผลิตชิ้นส่วนให้กับ โฟล์คสวาเกน กรุ๊ป, เจนเนอรัล มอเตอร์, ฟอร์ด, บีเอ็มดับเบิลยู, ฮุนได/เกีย และโตโยต้าด้วย… ในฐานะซัพพลายเออร์อันดับ 8 พวกเขาทำเงินได้ 20,700 ล้านดอลลาร์ หรือราว 6.53 แสนล้านบาท

อันดับ 9 : Lear Corporation จากสหรัฐอเมริกา แชร์ส่วนแบ่งทางการตลาดในธุรกิจ OEM จากการผลิตเบาะและชุดระบบอิเลคทรอนิคส์… ดูเหมือนไม่มีอะไรเมื่อเทียบกับบริษัทอื่นๆ ทว่า Lear Corp. เป็นหนึ่งในบริษัทที่รีบขยับตัวในวันที่โลกยานยนต์กำลังจะเปลี่ยนแปลง โดยในช่วงปี 2015 Lear Corp. เริ่มไล่ตามกระแสโลกด้วยการเข้าซื้อเทคโนโลยีจากบริษัทเล็กๆ ชื่อ Arada Systems โดยใช้โนว์ฮาวของ Arada กรุยทางเข้าสู่การพัฒนาเทคโนโลยีประเภท V2X (หรือ Vehicle-to-Vehicle หรือ Vehicle-to-Infrastructure เชื่อมต่อรถยนต์กับรถยนต์ หรือรถยนต์กับบรรดาฐานข้อมูลสาธารณูปโภค หรือการจราจร) พวกเขาทำเงินได้ 18,558 ล้านดอลลาร์ หรือราว 5.85 แสนล้านบาท

อันดับ 10 : Valeo SA จากฝรั่งเศส ผู้ผลิตชุดระบบไมโครไฮบริด, ชุดระบบที่เกี่ยวเนื่องกับประสิทธิภาพทางความร้อน, คอมเพรสเซอร์, อัลเตอร์เนเตอร์, ชุดปัดน้ำฝน, ชุดระบบส่งกำลัง, คลัทช์ และชุดระบบอิเลคทรอนิคส์สำหรับทำหน้าที่ควบคุมกล้อง, เซนเซอร์, ระบบความปลอดภัย และอุปกรณ์บางอย่างในห้องโดยสาร เช่น กระจกไฟฟ้า ทำเงินได้ 17,384 ล้านดอลลาร์ หรือราว 5.48 แสนล้านบาท

● นี่คือ 10 อันดับซัพพลายเออร์ยักษ์ใหญ่ผู้อยู่เบื้องหลังการผลิต และมีส่วนในการคิดค้นเทคโนโลยีใหม่ๆ ในอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์… ยังมีบริษัทในลักษณะนี้อีกมากมาย ซึ่งยังไม่นับเหล่าสตาร์ทอัพหัวก้าวหน้าที่เจาะเทคโนโลยีเฉพาะกลุ่มได้อย่างตรงตามความต้องการของการผลิตรถในยุคต่อไป บางบริษัทน่าจะอยู่รอด บางบริษัทอาจจะโชคดีหากถูกบริษัทใหญ่ๆ เข้าซื้อกิจการ และในทางกลับกัน บริษัทขนาดใหญ่ก็มีสิทธิ์จะต้องปิดตัวลงไปเช่นกันหากปรับตัวไม่ทันยุคสมัย

● นอกจาก 10 บริษัทข้างต้น ในลิสท์ 50 อันดับแรกยังมีบริษัทขนาดใหญ่ชื่อดังอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น Delphi, Panasonic, Schaeffler, Toyota Boshoku, Toyota Gosei, Hitachi Automotive, BorgWarner, Mitsubishi Electric หรือ Dana ซึ่งต่างก็มีสัดส่วนมูลค่าทางธุรกิจลดหลั่นกันไป บริษัทที่เน้นหนักไปในด้านชุดระบบสมัยใหม่ในระดับสูงยังคงมีเปอร์เซ็นต์สูงในการอยู่รอด

● และหลังปี 2020 เราคงจะเห็นภาพของ “ผู้อยู่รอด” กันชัดเจนขึ้น ●