January 19, 2018
Motortrivia Team (10069 articles)

อนาคตของรถยนต์และอุตสาหกรรมยานยนต์ที่เกี่ยวเนื่อง : ตอนที่ 2


Posted by : Man from the Past

 

●   อาทิตย์ที่แล้ว เราคุยกันถึงเรื่องทิศทางของอุตสาหกรรมยานยนต์ในยุคหน้า โดยมีการเอ่ยชื่อถึง Bob Lutz บุคคลผู้ซึ่งเมื่อมีการพูดถึงวงการรถยนต์ คนในแวดวงยังคงต้องนึกถึงกันอยู่เสมอ บ๊อบ ลุตซ์ นั้นเป็นหนึ่งในมหาบุรุษของอุตสาหกรรมรถยนต์คนสำคัญแห่งยุคปัจจุบันที่แม้จะอายุอานามปาเข้าไปถึง 85 ปีแล้วก็ยังมีความเคลื่อนไหวสำคัญๆ อยู่เป็นนิจ

●   บ๊อบ ลุตซ์ นอกจากจะเคยเป็นรองประธานบริหารบริษัทรถยนต์ยักษ์ใหญ่อย่าง เจเนรัล มอเตอร์ส ยังเคยเป็นหัวหน้าผู้พัฒนาผลิตภัณฑ์ ซึ่งสำหรับรถยนต์ก็หมายถึงการกำหนดชะตาชีวิตของรถรุ่นใหม่ ๆ นั่นเอง นอกจากนี้ยังเคยดำรงตำแหน่งอาวุโสในบริษัทฟอร์ด บริษัทไครสเลอร์ บริษัทบีเอ็มดับเบิลยู และบริษัทโอเปิลด้วย

●   เห็นประสบการณ์การบริหารหลากหลายแบบนี้ ไม่แปลกใจที่คนในวงการพากันพลิก Automotive News หนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ของคนวงการรถยนต์ฉบับเดือนพฤศจิกายนปี 2017 ที่ผ่านมา เพื่ออ่านความเห็นของเขาในบทความชุดพิเศษเรื่อง “Redesigning the Industry” หรือการออกแบบอุตสาหกรรมอีกครั้ง ซึ่งก็คือการเรียกร้องให้คนในวงการช่วยกันปรับปรุงฟื้นฟูอุตสาหรรมรถยนต์ให้รับกับยุคใหม่ที่กำลังจะมาถึง

●   บทความชุดนี้มีตอนหนึ่งที่น่าสนใจมาก ใช้ชื่อหัวเรื่องว่า “Bob Lutz: Kiss the good times goodbye” หรือ บ๊อบ ลุตซ์ บอกให้จูบลาช่วงเวลาดีๆ กันได้แล้ว กล่าวก็คือ เช่นเดียวกับคนทั่วไปที่คุ้นเคยกับอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ทั้งในสหรัฐฯ และทั่วโลก เขามองว่า ก่อนหน้านี้อุตสาหกรรมรถยนต์เคยอยู่ในสภาวะที่ดี ทว่าตอนนี้มันไม่เป็นเช่นนั้นอีกต่อไป

●   ไม่มีการเยิ่นเย้อใดๆ ลุตซ์ เริ่มบทความของเขาด้วยการบอกผู้อ่านที่ล้วนเป็นคนในวงการรถเช่นเดียวกับเขาว่า เขารู้สึกเศร้าที่จะต้องพูดว่า พวกเรากำลังใกล้จะเข้าสู่จุดจบของยุครถยนต์ที่คุ้นเคยกัน จากการที่อุตสาหกรรมรถยนต์กำลังอยู่บนโค้งถนนที่กำลังเร่งเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เป็นเวลาหลายร้อยปีที่ม้าได้เป็นตัวเคลื่อนย้ายมนุษย์ และเป็นเวลาถึง 120 ปีมาแล้วที่รถยนต์ได้เข้ามาแทนที่บรรดาม้าเหล่านั้น

●   พวกเรากำลังจะเยื้องย่างเข้าปลายเส้นแบ่งยุครถยนต์ ซึ่งเมื่อข้ามเส้นแบ่งไปก็จะเป็นยุคของ autonomous module หรือยุคโมดูลขับเคลื่อนอัตโนมัติที่ไม่มีการใช้งานคนขับในการควบคุมบังคับพาหนะ โดยมันจะเป็นโมดูลที่คุณต้องโทรศัพท์เรียกเวลาต้องการใช้งาน (หรืออุปกรณ์ใดๆ ก็ตามในยุคนั้น) ครั้นแล้วโมดูลก็จะเคลื่อนตัวมายังจุดที่คุณต้องการ จากนั้นคุณจะเข้าไปนั่งในนั้น แจ้งปลายทางที่จะไป แล้วโมดูลก็จะเคลื่อนตัวไปบนฟรีเวย์ที่เป็นทางวิ่งเฉพาะตัว (ลองนึกภาพฟรีเวย์ในภาพยนตร์เรื่อง Minority Report ก็ได้)


แนวคิดการบริหารจัดการการจราจรใน Minority Report คือสิ่งที่ใกล้เคียงกับแนวคิดของลุตซ์ ทว่าตัวพาหนะใน Minority Report นั้น ยังมีระบบขับเคลื่อนให้ 2 ระบบ คือควบคุมด้วยคน หรือใช้ระบบอัตโนมัติ ทว่าแนวคิดของลุตซ์นั้น ตัวรถจะถูกปรับให้เป็นโมดูลสำหรับเดินทางเพียงอย่างเดียว ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดของโฟล์คสวาเก้นในการพัฒนารถแท๊กซี่อย่าง Sedric Concept ซึ่งจะไม่มีชุดควบคุมการขับด้วยมือคนอีกต่อไป


●   บนฟรีเวย์ โมดูลจะรวมตัวอย่างเรียบสนิทเข้ากับโมดูลคันอื่นๆ จนการเคลื่อนตัวดูคล้ายสายน้ำไหล และใช้ความเร็วราวๆ 120 – 150 ไมล์ต่อชั่วโมง… แต่ความเร็วนี้จะไม่ได้บ่งบอกอะไรเป็นนัยสำคัญอีกต่อไป เพราะคุณกำลังเดินทางบนระบบขนส่งแบบใหม่ ที่ผนวกการเดินทางบนรางแบบรถไฟเข้ากับการเดินทางบนถนนที่ถูกออกแบบให้แต่ละคนใช้งานเป็นส่วนตัว

●   ครั้นแล้ว ขณะที่คุณใกล้จะถึงช่องที่คุณจะต้องเดินทางออก โมดูลของคุณจะค่อยๆ ลดความเร็วลง พร้อมเคลื่อนตัวออกจากช่องทางปกติไปสู่ถนนสายรอง และไปยังปลายทางที่คุณกำหนดเอาไว้ เมื่อถึงที่หมายแล้วคุณจะได้รับข้อมูลแจ้งค่าบริการ โดยการชำระเงินจะทำด้วยวิธีใช้หมายเลขบัตรเครดิตของคุณ หรือไม่ก็ลายนิ้วมือ หรืออะไรก็ตามแต่ที่จะใช้ในสมัยนั้น (ลุตซ์ หมายถึงนวัตกรรมการจ่ายเงินนี้ยังคงพัฒนากันไปได้อีก) เมื่อจ่ายแล้วโมดูลก็จะเคลื่อนตัวไปยังจุดเก็บ เพื่อรอรับการเรียกใช้งานจากผู้โดยสารรายต่อไป

●   โมดูลมาตรฐานที่เหมือนกันเหล่านี้ ส่วนใหญ่จะถูกซื้อและใช้งานโดยบริษัทรถแท็กซี่อย่าง Uber กับ Lyfts หรือบริษัทอื่นๆ ที่จะเข้าไปทำธุรกิจขนส่งในอนาคตซึ่งมีแต่พระผู้เป็นเจ้าเท่านั้นที่รู้ชื่อบริษัทเหล่านั้นในเวลานี้

●   ลุตซ์ บรรยายต่อไปว่า ท่ามกลางสถานการณ์ในลักษณะนี้ ผูู้ใช้รถในปัจจุบันกลุ่มหนี่งที่เป็นกลุ่มขนาดไม่ใหญ่ อาจเลือกที่จะมีโมดูลพิเศษที่ออกแบบให้ใช้เฉพาะตัว และสามารถจอดเก็บเอาไว้ที่บ้านได้ เพื่อจะใช้มันเป็นที่เก็บสัมภาระที่จะต้องใช้ระหว่างการเดินทางไปพักผ่อนตามสถานที่ไกลๆ หรือไม่ก็เก็บชุดเล่นฟุตบอลของบุตรหลานในลักษณะพาหนะครอบครัว เพราะถึงอย่างไร ก็ยังมีคนบางกลุ่มที่ยังต้องการความสะดวกสบายจากการมีอะไรที่มันเป็นของส่วนตัว


EDAG Light Car แนวคิดรถคาร์แชริ่งจากบริษัทสัญชาติเยอรมันในปี 2012


●   ทว่าผู้คนในกลุ่มนี้ เวลาจะไปไหนมาไหนก็ยังคงใช้บริการบริษัทรถแท็กซี่แบบโมดูลดังกล่าว ดังนั้นพวกเขาจึงน่าจะเป็นทั้งผู้ใช้บริการและเจ้าของโมดูลเพียงกลุ่มเดียวในยุคนั้น ทั้งนี้ยวดยานเฉพาะบุคคลดังกล่าว รวมทั้งยวดยานแบบอื่นๆ ต่อไปจะไม่มีมนุษย์เป็นผู้บังคับควบคุม เพราะในอีก 15 – 20 ปีข้างหน้ายวดยานที่ต้องใช้มนุษย์ขับจะถูกฝ่ายนิติบัญญัติออกกฏหมายไล่ออกไปจากท้องถนน

●   จุดนี้จะเป็นจริงได้ก็เมื่อรถที่ติดตั้งระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติมีจำนวนระหว่างร้อยละ 20 – 30 เป็นอย่างต่ำ เมื่อถึงเวลานั้นบรรดาประเทศต่างๆ จะเริ่มพลิกดูสถิติอุบัติเหตุบนถนน และพบว่าร้อยละ 99.9 ของอุบัติเหตุเกิดจากคนขับรถที่เป็นมนุษย์

●   แต่แน่นอน… การให้มนุษย์เลิกขับรถต้องมีช่วงเวลาที่เปลี่ยนผ่านอย่างเข้มงวด ฝ่ายนิติบัญญัติจะออกกฏหมายบังคับภายใน 5 ปี ทุกคนต้องเอารถออกไปจากท้องถนน ไม่ก็ขายเป็นเศษเหล็กไปเสีย หรือไม่ก็นำไปแลกกับรถที่เป็นโมดูล (จุดนี้คือสิ่งที่ Daron Gifford หัวหน้าที่ปรึกษาด้านรถยนต์แห่งสำนักการบัญชีและที่ปรึกษา Plante Moran ในนครดีทรอยต์ ไม่เห็นด้วยในบทความที่แล้ว)

●   หลังจบประเด็นดังกล่าว ลุตซ์ เริ่มประเด็นใหม่ที่มีหัวเรื่องว่า “The big fleets” หรือขบวนรถขนาดใหญ่ เขากล่าวว่า สถานีโทรทัศน์ CNBC เพิ่งให้เขาวิจารณ์ผลการศึกษาที่พบว่า ผู้คนส่วนใหญ่ไม่อยากซื้อรถอัตโนมัติเพราะความกลัว

●   โดยพื้นฐาน “ความกลัว” นี้คืออะไร? นั่นคือ “สิ่งที่ยังมองไม่เห็น” หรือยังไม่มีอะไรที่จับต้องได้อย่างเป็นรูปธรรมนั่นเอง ส่วนใหญ่พวกเขาไม่มั่นใจในฝีมือการผลิตรถอัตโนมัติของบริษัทรถในยุคปัจจุบัน ดังนั้นหากคิดจะซื้อ พวกเขาจะซื้อเฉพาะรถหรือเทคโนโลยีที่่ผลิตจากบริษัทไฮเทคอย่างแอ๊ปเปิล หรือไม่ก็กูเกิ้ล หรือจนกว่าบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ในปัจจุบันจะทำการผลิตอย่างเป็นล่ำเป็นสันจนผ่านไป “ในระยะหนึ่ง” พวกเขาจึงจะเลิกกลัว

●   ส่วนคำตอบของอดีตรองประธานจีเอ็มเกี่ยวกับเรื่องนี้คือ บริษัทรถไม่ต้องการๆ ยอมรับรถอัตโนมัติจากสาธารณชน ทว่าต้องการการยอมรับจากกลุ่มผู้ใช้รถที่ต้องใช้รถเป็นจำนวนมาก หรือเป็นขบวนๆ แบบฟลีท ยกตัวอย่างนอกจาก Uber และ Lyfs ก็คือ FedEx บริษัทรับส่งพัสดุภัณฑ์ระหว่างประเทศ, UPS บริษัทไปรษณีย์เอกชน, USPS การไปรษณีย์แห่งสหรัฐอเมริกา หรือ บริษัทสาธารณูปโภคต่างๆ บริษัทรับส่งของต่างๆ เช่น Amazon เจ้าของเวบไซต์ซื้อขายออนไลน์ ที่คงจะเข้าไปซื้อบริษัทพวกนี้เป็นกอบเป็นกำ

●   กลุ่มผู้ใช้รถอัตโนมัติในปริมาณมากเหล่านี้ จะใช้ยวดยานประเภทนี้ปีละหลายล้านคันในอนาคต โดยทุกปีพวกเขาจะเริ่มซื้อโมดูลระดับล่าง 100,000 คัน ระดับกลางอีก 100,000 คัน และระดับบน 100,000 คัน… บริษัทไหนให้ราคาต่ำสุดก็จะได้ข้อตกลงนั้นๆ ไป นอกจากนี้โมดูลที่ขายอาจจะไม่ติดแบรนด์ดังอย่าง Chevrole, Ford หรือแบรนด์ Toyota แต่จะติดแบรนด์ Uber หรือ Lfyt หรือแบรนด์อื่นๆ ที่เข้าไปแข่งขันในตลาดรถแท็กซี่แบบใหม่แทนที่

●   ผู้ผลิตโมดูลดังกล่าวจะดำเนินการในแบบเดียวกับที่ Nokia เคยทำ คือในกรณีโนเกียนั้น โนเกียจะผลิตเฉพาะโทรศัพท์กับอุปกรณ์ แต่ในการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ โนเกียจะยกภาระความรับผิดชอบส่วนนี้ให้บริษัทอื่นทำ… ดังนั้นอย่าไปสนใจตลาดรถอัตโนมัติในส่วนที่เป็นการผลิตโมดูล เพราะทั้งหมดจะตกเป็นของบริษัทผู้ให้บริการ

สมรรถนะไร้ซึ่งความหมาย

●   มาถึงประเด็นที่สำคัญอย่างยิ่งยวด ลุตซ์ เปลี่่ยนมาจุดประเด็นที่เป็นจุดเด่นที่สุดของยานยนต์ นั่นคือ “The end of performance” หรือ จุดจบของสมรรถนะ เขากล่าวว่า ถึงแม้บริษัทบริการขนส่งจะสั่งโมดูลรถอัตโนมัติทุกขนาด ทั้งขนาดสั้น กลาง และยาว รวมทั้งโมดูลมีกระบะท้ายในลักษณะรถปิคอัพ ทว่าสมรรถนะของพาหนะต่างรูปแบบนั้นจะ “เท่าเทียมกัน” เนื่องจากการวิ่งบนถนนที่จัดเอาไว้เฉพาะนั้น จะไม่มีคันไหนสามารถแหกคอกวิ่งแซงหน้าคันอื่นได้ และนี่คือสัญญานเคาะระฆังไว้อาลัยบริษัทรถสมรรถนะสูงอย่างออดี้, บีเอ็มดับเบิลยู หรือเมอร์เซเดส-เบนซ์ เพราะสมรรถนะในแบบเดิมๆ จะไม่ใช่จุดเด่นสำหรับผู้คนในอนาคตอีกต่อไป

●   ภายในยวดยานอัตโนมัติทุกขนาด คุณสามารถสั่งติดตั้งอุปกรณ์ระดับต่างๆ ได้ โดยจะแบ่งเป็นแพคเกจสำหรับโมดูลพื้นฐานกับโมดูลหรู ซึ่งสำหรับโมดูลชนิดหลังนี้ ภายในจะมีตู้เย็น โทรทัศน์ และแป้นวางคอมพิวเตอร์ หรือจุดเชื่อมต่ออุปกรณ์ใดๆ ก็ตามที่สามารถเชื่อมทุกช่องทางออนไลน์ได้ นอกจากนี้ยังจะไม่มีการจำกัดสิ่งของที่คุณจะขนเข้าไปในโมดูล เพราะเมื่อถึงเวลานั้น การดื่มและการเท็กซ์ข้อความระหว่างใช้พาหนะจะไม่เป็นประเด็นถกเถียงทางสังคมอีกต่อไป

●   นอกจากสมรรถนะรถจะไม่สำคัญแล้ว ต่อไปรูปร่างหน้าตาของรถที่เรียกรวมๆ กันว่า “สไตล์” หรือ design language ของรถก็จะลดความสำคัญลง เนื่องจากเวลานำโมดูลไปจอดในรถไฟความเร็วสูงขนาดใหญ่ที่จะเป็นพาหนะเดินทางไกลในยุคนั้น ตัวโมดูลจะต้องมีส่วนหัวและส่วนท้ายที่แบน เพื่อให้การจอดหรือบรรจุตัวโมดูลประหยัดเนื้อที่ โดยหลังจากจอดโมดูล หรือ “สอด” เข้าไปในรถไฟ เมื่อถึงจุดหมาย ระบบก็จะทำการคายโมดูลออกมาเพื่อใช้เดินทางในระยะสั้นต่อไป

การปรับตัวของดีลเลอร์

●   อีกหนึ่งประเด็นสำคัญ นั่นคืออนาคตของตัวแทนจำหน่าย ลุตซ์ ตั้งหัวข้อนี้เป็นคำถามปลายเปิดว่า “The future of dealers?” เพราะรู้ว่าอย่างไรเสียก็ต้องมีบรรดาผู้ค้ารถและอะไหล่ยานยนต์ถามถึงประเด็นนี้

●   ลุตซ์ เริ่มประเด็นนี้ด้วยการกล่าวว่า… อย่างที่ไม่น่าจะเกิดขึ้น เขาคิดว่าเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมรถยนต์ ยังหมายถึงการจากไปของธุรกิจค้าปลีกรถยนต์แบบที่เห็นกันจนเจนตาอย่างทุกวันนี้ ลองคิดให้ดีๆ สมัยใช้ม้า คนค้าม้ามีคอกม้าที่ในนั้นมีม้าทุกระดับอายุ คุณเข้าไปในคอก จูงตัวที่คุณต้องการออกมา จากนั้นคุณก็เจรจาเพื่อแลกม้าที่คุณมีกับม้าตัวที่คุณต้องการ

●   เอาล่ะ… ตัวแทนจำหน่ายรถยนต์จะยังคงมีอยู่ต่อไป แต่จะเปลี่ยนแปลงไปเป็นธุรกิจในรูปแบบชายขอบ เพื่อให้บริการคนที่อยากได้โมดูลเฉพาะตัว หรือคนที่อยากได้รถเฟอร์รารี่โบราณที่ถูกบูรณะหรือถูกผลิตขึ้นมาใหม่ หรือแม้รถแข่งฟอร์มูล่า 3 สักคันที่ผลิตขึ้นมาใหม่เช่นกัน ซึ่งเมื่อมาถึงจุดนี้ “ความเร็ว” จะเปลี่ยนรูปแบบไปเป็นเครื่องจักรสำหรับกีฬาเท่านั้น

●   จุดนี้โยงมาถึงประเด็นของกีฬาประเภทมอเตอร์สปอร์ต ประเด็นนี้มหาบุรุษรถยนต์แห่งยุคกล่าวว่า “การใช้รถเพื่อความสนุกจะอยู่รอด” โดยหนทางของการอยู่รอดนี้จะไม่ใช่บนถนนสาธารณะ แต่จะเกิดขึ้นตามสโมสรพักผ่อนในชนบทของคนที่ค่อนข้างมีฐานะ เช่น Monticello Motor Club สโมสรยานยนต์เมืองมอนติเซลโล รัฐนิวยอร์ก ที่มีสนามแข่งภายในสโมสร หรือที่ Joliet Country Club สโมสรพักผ่อนนอกเมืองโจเลียต รัฐอิลลินอยส์ ซึ่งก็มีบริการเช่นกัน  สถานที่เหล่านี้จะเป็นสถานที่ๆ กลุ่มคนมีฐานะใช้สอนลูกหลานให้ขับรถ ซึ่งจะทำให้บรรดาเพื่อนฝูงพากันแปลกใจที่พวกเขายังรู้จัก “การขับรถ” และสอนขับรถให้ลูก

●   มีความเป็นได้สูงทีเดียว ว่าการขับรถจะกลายเป็นสิ่งอภิสิทธิ์ และกลายเป็นหนึ่งใน “หน้าตาทางสังคม” ถึงตอนนั้น สนามแข่งรถสาธารณะอาจจะมีทั่วไปก็ได้ เช่นเดียวกับสนามกอล์ฟสาธารณะในปัจจุบัน ที่ให้คุณเข้าไปลงชื่อขอยืมรถ จากนั้นคุณก็สามารถนำรถออกขับหาความสนุกได้สักชั่วโมงเป็นต้น (เช่นเดียวกับคนเพาะเลี้ยงม้าแข่งที่ยังเป็นกีฬาจนทุกวันนี้)


Monticello Motor Club


มอเตอร์สปอร์ตยังคงอยู่

●   ถึงตอนนั้น วงการรถยนต์จะยังคงมีผู้ผลิตรถแข่ง รถสปอร์ต และรถออฟ-โรด อย่างแน่นอน แต่การผลิตจะเป็นลักษณะรถคัสตอมเมด ดังนั้นอุตสาหกรรมการผลิตรถในลักษณะนี้จะกลายเป็นอุตสาหกรรมที่มีขนาดเล็กลงอย่างมาก ซึ่งโยงกลับไปหา….ใช่แล้ว ผู้แทนจำหน่ายสำหรับผลิตภัณฑ์เหล่านี้นั่นเอง แต่คงจะมีจำนวนไม่มากนัก และอยู่ไกลออกไปในลักษณะการบริการเฉพาะกลุ่ม ดังนั้นผู้ที่ต้องการใช้บริการจึงไม่น่าจะสามารถเข้าถึงได้ง่าย

●   เมื่อเป็นเช่นนี้ บรรดาผู้แทนจำหน่ายจึงต้องไปเปิดบูธตามงานแข่งรถ หรือตามคอกปศุสัตว์ที่เปิดให้คนในเมืองเข้าไปพักผ่อน ซึ่งสถานที่เหล่านี้ยังสามารถต่อยอดพื้นที่สำหรับการลองขับรถออฟ-โรดได้ด้วย และการเปิดบูธตามงานแข่ง และพื้นที่ทดลองขับ จะทำให้คนทั่วไปสามารถซื้อรถ ขับ และรับบริการ ซึ่งรวมถึงการซ่อมตัวถังและพ่นสี โดยในช่วงเริ่มต้นจำนวนสถานที่ๆ เปิดให้บริการคงจะมีจำนวนมาก ก่อนจะค่อยๆ น้อยลงตามการเปลี่ยนเจนเนอเรชั่นของผู้คน

●   ดังนั้น ธุรกิจค้าปลีกรถยนต์คงจะอยู่ได้อีกราวๆ 10 หรือ 15 ปี ตราบใดที่ยวดยานอัตโนมัติในยุคแรกยังจะต้องมีการผลิต และพะยี่ห้อแบรนด์ดังต่างๆ นั่นเอง

●   การหยุดทำธุรกิจของตัวแทนจำหน่ายรถ คงจะเกิดขึ้นพร้อมๆ กับความลำบากของ น.ส.พ.รายสัปดาห์อย่าง Automotive News และนิตยสารรายเดือนอย่าง Road & Track ซึ่งทั้ง 2 ฉบับดังกล่าวจะต้องพบอนาคตที่เปลี่ยนแปลงไป สื่อสิ่งพิมพ์ (หรือสื่อออนไลน์ หรืออะไรก็ตามแต่) ที่จะเข้ามาแทนคือ “Battery and Module” ซึ่งจะมีผู้อ่านเป็นผู้ที่ทำธุรกิจและคนทั่วไปที่ใช้บริการรถอัตโนมัติ โดยยุคแห่งรถยนต์ที่มีมนุษย์เป็นผู้ขับ อู่ซ่อม ร้านจำหน่าย และสื่อต่างๆ ที่อยู่รายรอบ จะค่อยๆ เลือนหายไปภายใน 20 ปี

●   ประเด็นต่อมามีหัวข้อเป็นคำถามเช่นกัน นั่นคือ “Today’s automakers?” แล้วบริษัทผลิตรถทุกวันนี้จะเป็นอย่างไร? ลุตซ์ ตอบคำถามนี้ว่า บริษัทที่มุ่งหน้าไปทางสาย downstream จะยังคงอยู่ได้ (หรือปรับตัวได้) ความหมายก็คือ บริษัทใดคิดขยับขยายธุรกิจไปสู่ระดับล่าง บริษัทนั้นจะเป็นผู้อยู่รอด แต่พวกเขายังจะต้องพัฒนาศักยภาพด้านเทคนิคชั้นยอดควบคู่ไปด้วย เนื่องจากไม่ว่าบริษัทเหล่านี้ (ซึ่งเรายังไม่รู้ว่าเป็นใคร) จะผลิตอะไร ผู้ที่จะกำหนดคุณสมบัติและมาตรฐานในเบื้องต้นก็คือ บริษัทขนส่งมวลชน รวมทั้งผู้ให้บริการรถแท็กซี่

●   บรรดาบริษัทเหล่านี้ที่ล้วนเป็นเจ้าของรถในปริมาณมากแบบฟลีทที่กำเงินก้อนโตมาซื้อรถล็อตใหญ่จะพูดว่า “เราต้องการโมดูลยาวขนาดนี้ หนักขนาดนี้ และมีพิสัยในการเดินทางไกลเท่านี้” อีกทั้งยังจะเป็นผู้กำหนดค่าโสหุ้ยในการใช้งาน อัตราเร่ง ความเร็วสูงสุด และการประมูลด้วย

●   อย่างไรก็ดี หากผู้ผลิตรถยนต์ปัจจุบันรู้เท่าทัน ก็อาจจะปรับตัวได้เช่นกัน เช่น เมื่อจีเอ็มเห็นคำพยากรณ์เขียนบนฝาผนัง (คำเปรียบเปรย) จึงก่อตั้งบริษัทในเครืออย่าง Maven ซึ่งเป็นบริษัทบริการการแบ่งปันการใช้รถแบบเดียวกับอูเบอร์และลิฟต์ รวมทั้งซื้อ Cruise Automation หนึ่งในบริษัทผู้บุกเบิกการผลิตรถไร้คนขับด้วย

●   นอกจากนี้ยังซื้อลิฟต์ที่เป็นคู่ปรับอูเบอร์ ซึ่งจีเอ็มไม่ต้องการเป็นผู้ผลิตแบบโนเกียที่ทำธุรกิจเพียงผลิตเครื่องและอุปกรณ์โทรศัพท์เคลื่อนที่ จีเอ็มต้องการเป็นผู้สร้างมูลค่าให้กับอุตสาหกรรมรถยนต์อัตโนมัติ และเข้าครอบครองหรือแชร์ส่วนแบ่งทางการตลาดให้ได้ทั้งหมด หรือมากที่สุด และ ลุตซ์ เชื่อว่าพวกเขากำลังทำในสิ่งที่ถูกต้องในช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านของยุครถยนต์ (เสริมอีกนิด ยักษ์ใหญ่อย่างฟอร์ดก็ไม่อยู่นิ่งเช่นกัน โดยมีการมองหาพาร์ทเนอร์ใหม่ๆ รับมือกับความเปลี่ยนแปลงนี้ด้วย)

●   มาถึงตรงนี้ ลุตซ์ เขียนว่า… ผมคิดว่าคนในวงการทุกคนต่างเห็นสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น เพียงแต่ตอนนี้ไม่มีใครอยากพูดถึง พวกเขารู้ว่าทุกอย่างจะดำเนินไปด้วยดีในระยะอีกไม่กี่ปีข้างหน้า หากยังสามารถรักษาการมีวิทยาการชั้นยอด การออกแบบชั้นยอด และการคิดค้นซอฟท์แวร์ดีๆ ให้กับรถอัตโนมัติ นั่นจะทำให้บริษัทรถยนต์ในปัจจุบันสามารถเข้าไป “ครอบครอง” ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกี่ยวเนื่องกับรถอัตโนมัติ ก่อนจะเกิดเหตุการณ์พลิกผัน เมื่อบริษัทใช้งานรถอัตโนมัติในระดับฟลีทขนาดใหญ่เข้ามายึดพื้นที่ในการทำธุรกิจ

●   บริษัทอย่างอูเบอร์และลิฟท์ จะเข้ามาทำธุรกิจทุกด้านที่เกี่ยวกับรถอัตโนมัติแน่ๆ เหมือนบริษัทให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในขณะนี้

●   ส่วนใหญ่การเปลี่ยนผ่านน่าจะยุติลงภายในอีกราวๆ 20 ปีข้างหน้า ถึงตอนนั้นผม (ลุตซ์) คงไม่อยู่เพื่อจะได้พูดว่า “เห็นหรือยัง ผมบอกคุณแล้ว” เอาละ ถึงผมจะอายุยืนยาวถึง 105 ปี แต่เมื่อถึงเวลานั้นผมก็คงขับรถไม่ได้อยู่ดี เพราะการขับรถจะมีการแบนเกิดขึ้นอย่างแน่นอน

●   เป็นอย่างไรบ้าง อายุผมกับยุครถยนต์ช่างเข้ากันดีจริงๆ   ●