December 20, 2017
Motortrivia Team (10075 articles)

Toyota/จุฬาฯ เปิดโปรแกรม Ridesharing CU TOYOTA Ha:mo เป็นทางการ

เรื่อง : AREA 54  •  ภาพ : สุพรรณี ยังอยู่

 

●   หลังจาก แนะนำโครงการอย่างเป็นทางการ ภายในงาน Toyota Expo 2017 ช่วงเดือนสิงหาคม 2560 ที่ผ่านมา ในที่สุด โตโยต้า ประเทศไทย และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็เปิดแผนงานทดลองใช้และเก็บข้อมูลการใช้งานเครือข่ายแบ่งปันการใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้าขนาดเล็ก ภายใต้ชื่อ Ha:mo หรือ Harmonious Mobility Network อย่างเป็นทางการในวันที่ 19 ธันวาคม 2560 โดยนับเป็นการเปิดยุค Ridesharing เป็นครั้งแรกในประเทศไทยด้วย

●   ตัวงานแถลงข่าวมีขึ้นที่ อาคารมหิตลาธิเบศร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมี มร. มิจิโนบุ ซึงาตะ เจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด, คุณนินนาท ไชยธีรภิญโญ ประธานคณะกรรมการ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด, มร. เคอิจิ ยามาโมโต เจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น และรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท คอนเน็คเต็ด, รศ.ดร. บุญไชย สถิตมั่นในธรรม รองอธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิยาลัย, ดร. พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และ คุณธีระพงษ์ รอดประเสริฐ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงคมนาคม ร่วมเปิดโครงการอย่างเป็นทางการ


มร. มิจิโนบุ ซึงาตะ เจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด


●   ตัวงานแถลงข่าวมีขึ้นที่ อาคารมหิตลาธิเบศร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมี มร. มิจิโนบุ ซึงาตะ เจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด, คุณนินนาท ไชยธีรภิญโญ ประธานคณะกรรมการ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด, มร. เคอิจิ ยามาโมโต เจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น และรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท คอนเน็คเต็ด, รศ.ดร. บุญไชย สถิตมั่นในธรรม รองอธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิยาลัย, ดร. พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และ คุณธีระพงษ์ รอดประเสริฐ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงคมนาคม ร่วมเปิดโครงการอย่างเป็นทางการ

●   มร. เคอิจิ ยามาโมโต กล่าวว่า “ทุกวันนี้ อุตสาหกรรมยานยนต์เผชิญกับความเปลี่ยนแปลงและความท้าทายครั้งใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมาจากการเปลี่ยนแปลงด้านเครื่องยนต์และนวัตกรรมการขับขี่แบบไร้คนขับ ด้วยเหตุนี้เอง โตโยต้าจึงได้ประกาศแคมเปญ Start Your Impossible เพื่อจุดประกายในความท้าทายให้เกิดการพัฒนาด้านการสัญจรเพื่อคุณและเพื่อคนทุกคน โดยเรามุ่งที่จะขับเคลื่อนสังคมและคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดียิ่งขึ้นด้วยการผลิตรถยนต์และคิดค้นพัฒนาแนวทางต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหาการคมนาคมสำหรับประชาชนและการขนส่งสินค้าต่างๆ ให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ”

●   “โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย เดินหน้าเติบโตเคียงคู่สังคมไทยมาเป็นระยะเวลาอันยาวนานนับตั้งแต่ พ.ศ. 2505 ด้วยสถานการณ์ปัจจุบันที่มีจำนวนรถยนต์เพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็วส่งผลให้เกิดปัญหาการจราจรติดขัด ดังนั้นจึงมีการคิดค้นนวัตกรรมรถ Ha:mo นี้เพื่อช่วยให้ผู้คนสามารถเดินทางสัญจรจากจุดเริ่มต้นไปยังจุดหมายปลายทางได้อย่างอิสระเสรีและสะดวกสบายยิ่งขึ้น โดยหลีกเลี่ยงการจราจรที่ติดขัด Ha:mo หมายถึง เครือข่ายการสัญจรที่สอดประสานกัน (Harmonious Mobility Network) เป็นอีกหนึ่งแนวทางเพื่อการแก้ไขปัญหาการคมนาคมที่โตโยต้าพัฒนาขึ้นมาเพื่อเชื่อมโยงและบูรณาการรูปแบบการคมนาคมส่วนบุคคลเข้ากับการขนส่งมวลชน เช่น รถไฟและเครือข่ายรถบัสโดยสาร ปัจจุบันประเทศไทยเผชิญกับปัญหาด้านการคมนาคมขนส่งหลายประการ ซึ่งส่งผลให้ผู้คนมากมายมีคุณภาพชีวิตลดลง ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการพัฒนาเพื่อแก้ไขเรื่องนี้อย่างจริงจัง ในวันนี้โตโยต้าจึงภูมิใจที่จะเชิญชวนให้ประชาชนมาใช้บริการ CU TOYOTA Ha:mo ซึ่งเป็นความตั้งใจของเราที่จะส่งเสริมให้สังคมพัฒนาอย่างยั่งยืนและผลักดันให้ผู้คนในประเทศหันมาเปลี่ยนวิถีชีวิตกัน”


นายนินนาท ไชยธีรภิญโญ ประธานคณะกรรมการ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด


●   Ha:Mo คือแผนงานสร้างเครือข่ายขนส่งสาธารณะขนาดจิ๋วหลายๆ ส่วนย่อย ประกอบเข้าด้วยกันจนเป็นเครือข่ายขนาดยักษ์ครอบคลุมทั่วทั้งเมือง แผนงานนี้เริ่มต้นที่ Toyota City, โตเกียว, โอกายาม่า และโอกินาวา โดยมีการแนะคำโครงการเป็นครั้งแรกในงาน 2013 Tokyo Motor Show ก่อนจะขยายแผนงานไปยังประเทศฝรั่งเศส ที่เมืองเกรอน๊อบบ์ ในช่วงปี 2014

●   องค์ประกอบหลักแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ Ha:mo NAVI ระบบให้ข้อมูลส่วนกลาง หรือระบบเทเลเมติคส์ เจนเนอเรชั่นต่อไป (Big Data Traffic Information Service) วิเคราะห์สภาพเส้นทางที่เหมาะสมและให้ข้อมูลกับผู้ใช้บริการแบบเรียลไทม์ และ Ha:mo RIDE บริการ Ridesharing ด้วยรถไฟฟ้าขนาดเล็ก (Ultra-compact Electrical Vehicle)

●   แผนงานในต่างประเทศ เป็นการผสมผสานกันระหว่างรถ 2 รุ่น คือ Toyota i-Road Concept และรุ่นพี่อย่าง Toyota COMS ซึ่งเป็นผลงานของบริษัทในเครือ Toyota Auto Body Co. ทั้งคู่เป็นรถขนาดจิ๋วแบบอัลตร้าคอมแพคท์ หรือเรียกกันแบบเป็นทางการว่า PMV : Personal Mobility Vehicle พาหนะส่วนบุคคลที่นั่งเดี่ยว ใช้เดินทางแบบซอกซอนไปในเมืองใหญ่ เน้นความคล่องตัวจากจุด A ไปยังจุด B ในระยะทางสั้นๆ

●   โดยธรรมชาติ Toyota COMS เป็นรถยนต์พลังงานไฟฟ้าในคลาสที่เรียกว่า LSV หรือ low-speed vehicle (รถยนต์ในคลาสความเร็วต่ำ) ตามกฏหมายมีความเร็วสูงสุดไม่เกิน 72 กม./ชม. หรือขึ้นอยู่กับกฏหมายที่ระบุเอาไว้ในแต่ละพื้นที่ ทั้งนี้รถ LSV “ไม่จำเป็นต้องเป็นรถที่ขับเคลื่อนด้วยแบตเตอรี่” (BEV: battery electric vehicles) คือใช้เครื่องยนต์สันดาปภายใน หรืออื่นๆ ก็ได้ก็ได้ ดังนั้น LSV คือคำจำกัดแบบรวมๆ ความของรถยนต์ความเร็วต่ำตามกฏหมาย

●   รศ.ดร. บุญไชย สถิตมั่นในธรรม กล่าวว่า “เรามีวิสัยทัศน์มุ่งมั่นที่จะเป็นมหาวิทยาลัยของประเทศที่อยู่ในระดับโลก โดยสร้างความรู้และนวัตกรรมที่จำเป็นสำหรับการพัฒนาสังคมไทยอย่างสร้างสรรค์และยั่งยืน เราก่อตั้งโครงการ ’ศูนย์กลางนวัตกรรมแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย’ (CU Innovation Hub) เมื่อปีที่แล้วเพื่อเป็นเวทีสำหรับพัฒนาทั้งนวัตกรและนวัตกรรม อันเป็นการปูทางเพื่อก้าวสู่การเป็นมหาวิทยาลัยของประเทศที่มีศักยภาพเชิงนวัตกรรมอยู่ในระดับโลก พร้อมเปลี่ยนวิธีการใช้ชีวิต การเรียนรู้ และการทำกิจกรรมต่างๆ ของคนไทย”

●   “นอกจากนี้ เรายังพัฒนาโครงการใหญ่ที่ดำเนินการภายในบริเวณมหาวิทยาลัยของเรา ชื่อโครงการ ‘เมืองจุฬา อัจฉริยะ’ (CU Smart City) เพื่อเป็นต้นแบบของกรุงเทพฯ ในอนาคตในหลากหลายมิติ เช่น เรื่องพลังงาน การเดินทางสัญจร สิ่งแวดล้อม เป็นต้น ดังนั้น เราจึงมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะจับมือร่วมกับโตโยต้าในโครงการนี้ ทั้งยังพร้อมสนับสนุนโครงการการพัฒนาสังคมของการสัญจรในอนาคตร่วมกัน ภายใต้แนวคิด ‘เวทีนวัตกรรมแบบเปิด’ ครับ”

●   คุณนินนาท ไชยธีรภิญโญ กล่าวว่า “โครงการยังได้จัดทำเว็บไซต์เพื่อประชาสัมพันธ์และให้ข้อมูลสู่สาธารณะผ่านทาง www.cutoyotahamo.com  และช่องทางเฟซบุ๊ก cutoyotahamo จำนวนผู้สมัครเป็นสมาชิกในโครงการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องกว่า 300 คน  จำนวนการใช้งานสะสมตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม ที่เริ่มเปิดให้บริการคิดเป็นค่าเฉลี่ย 45 ครั้งต่อวัน เกินเป้าหมายที่กำหนด 40 ครั้ง/วัน โดยในแต่ละวัน มีความต้องการใช้งานหนาแน่นในช่วงเวลา 11.00 – 13.00 น. และ 15.00 – 17.00 น. ทางโครงการจะได้นำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้วางแผนการบริหารจัดการเพื่อเคลื่อนย้ายรถไปยังสถานีต่างๆ ให้สอดคล้องกับปริมาณความต้องการตามช่วงเวลาได้อย่างเหมาะสม”

●   “ในโอกาสนี้ ผมขอขอบคุณพลังแห่งความร่วมมือโดยเฉพาะอย่างยิ่ง จากผู้ให้การสนับสนุนทั้ง 26 บริษัท ซึ่งมีส่วนสำคัญในการผลักดันโครงการนี้ ทางโครงการมีแผนนำงบประมาณที่ได้ ไปสมทบเป็นค่าใช้จ่ายในการให้บริการ EV Car Sharing และอีกส่วนจะนำมาใช้ใน Open Platform Innovation นำสู่โครงการวิจัยพัฒนาในด้านเทคโนโลยีควบคู่ไปกับการพัฒนาด้านสังคม ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่า หัวใจของโครงการนี้จะเป็นตัวอย่าง ที่แสดงถึงพลังความร่วมมือ เพื่อการพัฒนาทางเลือกใหม่สำหรับการเดินทางในสังคมเมือง อันจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติต่อไปอย่างยั่งยืน”


นายวุฒิกร สุริยะฉันทนานนท์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด


●   โครงการ Ha:mo ในบ้านเราใช้ชื่อว่า “CU TOYOTA Ha:mo” โดยร่วมมือระหว่างโตโยต้า และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยนับเป็นการเปิดวิสัยทัศน์การเชื่อมยานพาหนะเข้ากับเครือข่ายผ่านเทคโนโลยี IoT : Internet of Things เป็นครั้งแรกของแบรนด์ผู้ผลิตรถยนต์ในไทยอย่างเป็นทางการ ซึ่งในปี 2559 ที่ผ่านมา โตโยต้าได้เปิด บริษัท คอนเน็คเต็ด ขึ้นมาเพื่อรองรับแผนงานนี้โดยเฉพาะ

●   ขณะเดียวกัน โครงการ CU TOYOTA Ha:mo ยังเป็นโครงการเนื่องในโอกาสครบรอบ 100 ปีการสถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และในโอกาสครบรอบ 55 ปี ของการก่อตั้งบริษัทโตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ด้วย การดำเนินโครงการแบ่งเป็น 2 ระยะ : ระยะแรกคือ “ช่วงพัฒนา” กินระยะเวลา 2 ปี เริ่มตั้งแต่เดือนธันวาคม 2560 – พฤศจิกายน 2562 โดยเป็นการวิเคราะห์ข้อมูลการใช้งาน หลังจากนั้นจะมีการทบทวนและสรุปผลเพื่อเข้าสู่ระยะที่ 2 หรือ “การเปิดตัวธุรกิจ Ridesharing เต็มรูปแบบ” ซึ่งช่วงนี้จะมีการเปิดการทำงานร่วมกับหุ้นส่วนทางธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องกัน เพื่อขยายโครงข่ายไปยังพื้นที่อื่นๆ ในอนาคต

●   เบื้องต้นจะมีรถให้บริการทั้งหมด 10 คัน โดยใช้ Toyota COMS ทั้งหมด และจะเพิ่มขึ้นอีก 20 คันในช่วงกลางปี 2561 รวมเป็น 30 คัน พื้นที่การให้บริการครอบคลุมบริเวณจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยทั้ง 2 ฝั่ง มีสถานีย่อยสำหรับจอดรถ 12 สถานี มีสถานีชาร์จแบตเตอรี่ 10 สถานี และมีช่องจอดรถให้บริการทั้งหมด 33 ช่องจอด ผู้ใช้บริการสามารถเชื่อมต่อกับบริการสาธารณะ เช่น รถไฟฟ้า BTS, MRT หรือรถโดยสารประจำทางได้ กลุ่มเป้าหมายหลักคือ นิสิต อาจารย์ บุคลากร และประชาชนทั่วไป

●   ผู้ที่สนใจใช้บริการต้องสมัครเป็นสมาชิกของโครงการผ่านระบบออนไลน์ หรือสมัครด้วยตนเองที่สำนักงานโครงการในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ชั้น 1 อาคารมหิตลาธิเบศร) อัตราค่าบริการเริ่มต้น 30 บาทต่อครั้ง สามารถใช้รถได้ประมาณ 20 นาที และสามารถใช้บริการได้ตั้งแต่วันจันทร์ – ศุกร์ 7 โมงเช้าถึง 1 ทุ่ม

●   นอกจากนี้ ทางจุฬาฯ ยังได้ผลิตวีดิโอคู่มือการใช้งาน Ha:mo มาให้เข้าใจขั้นตอนการใช้งานกันแบบง่ายๆ ด้วย ใครสนใจดูได้จากวีดิโอทางด้านล่างบทความครับ… ยุคแห่งการเปลี่ยนผ่านได้เริ่มขึ้นแล้ว อยู่ที่พวกเราว่าพร้อมจะรับกับความเปลี่ยนแปลงหรือยัง

●   สนใจข้อมูลเพิ่มเติมเชิญได้ที่ www.cutoyotahamo.com หรือแฟนเพจ cutoyotahamo และคอลเซ็นเตอร์ 02-305-6733  ●


2017 CU TOYOTA Ha:mo Project