December 30, 2017
Motortrivia Team (10167 articles)

Fuel cell electric vehicle : รู้เรื่องรถรังเชื้อเพลิง ตอนที่ 2 (จบ)


Posted by : Man from the Past

 

●   วานนี้ ซึ่งเป็นเรื่องของรถ FCEV ตอนแรก เราแนะนำให้รู้จักรถรังเชื้อเพลิงที่เป็นรถยนต์นั่งกันไปแล้ว อนาคตจะเป็นอย่างไร ขึ้นอยู่กับการขยายสถานีบริการเท่านั้น วันนี้เราไปจะไปดูทางฝั่งรถยนต์เพื่อการพาณิชย์กันบ้าง ปัจจุบันทุกคันยังเป็นเพียงแค่รถสาธิต และยังไม่มีการจำหน่ายแบบเป็นทางการ อย่างไรก็ตาม มีสถิติระบุว่าในช่วงปี 2011 รถเหล่านี้มีกว่า 100 คันทั่วโลก โดยมีผู้ผลิตคือ UTC Power บริษัทรังเชื้อเพลิงสัญชาติสหรัฐฯ


รถบัสฟิวเซลล์ระบบ PEM ผลิตโดย Van Hool NV จากเบลเยียม และใช้ระบบรังเชื้อเพลิงของ UTC Power ในภาพเป็นรุ่น A300 L ซึ่งเป็นสเปคสำหรับอเมริกา


●   ต่อด้วย โตโยต้า ที่กำลังจะเอาดีทางรถรังเชื้อเพลิงขนาดใหญ่, Ballard Power บริษัทแคนาดาที่เก่งเรื่องพลังงานสะอาด และประกาศตัวเองจะเป็นผู้นำด้านดทคโนโลยีรังเชื้อเพลิง, Hydrogenics อีกหนึ่งบริษัทสัญชาติแคนาดาที่เป็นผู้พัฒนาและผู้ผลิตเครื่องผลิตก๊าซไฮโดรเจน และรังเชื้อเพลิงวิทยาการ Water Electrolysis หรือการแยกอะตอมของน้ำ ซึ่งจะทำให้ได้ก๊าซไนโตรเจนและอ๊อกซิเจน และวิทยาการ PEM หรือ proton exchange membrane หรือเซลล์เชื้อเพลิงชนิดเยื่อแลกเปลี่ยนโปรตอน ซึ่งเป็นวิทยาการรังเชื้อเพลิงล่าสุด และ Proton Motor บริษัทเยอรมันที่เป็นผู้นำด้านรังเชื้อเพลิง


รถบัสฟิวเซลล์ของ Proton Motor Fuel Cell GmbH ผลิตโดย Skoda Electric ชุดระบบขับเคลื่อนใช้ชื่อทางการค้าว่า Triple hybrid system with fuel cells®


●   ทั้งนี้ในส่วนของรถโดยสารรังเชื้อเพลิงที่ใช้ชุดระบบของ UTC ขณะนี้ตัวรถวิ่งได้ระยะทางกว่า 600,000 ไมล์แล้ว หรือ 965,610 กิโลเมตร ข้อมูลในเบื้องต้นระบุว่า รถโดยสารรังเชื้อเพลิงสาธิตที่ทดลองออกวิ่งมีอัตราการประหยัดพลังงานดีกว่ารถโดยสารเครื่องยนต์ดีเซลและก๊าซธรรมชาติตั้งแต่ 30 – 141 เปอร์เซนต์ กันเลยทีเดียว

●   การวิ่งสาธิตและเก็บข้อมูลการใช้งานมีขึ้นใน Whistler แคนาดา, ซานฟรานซิสโก สหรัฐฯ, ฮัมบูร์ก เยอรมนี, เซี่ยงไฮ้ จีน, ลอนดอน สหราชอาณาจักร, ซานเปาโล บราซิล และเมืองกับนครอื่นอีกจำนวนหนึ่ง ก่อนจะยุติการทดลองวิ่งใน Whistler ช่วงปี 2015 ทว่าที่เหลือยังคงดำเนินการต่อไป และมีการก่อตั้ง Fuel Cell Bus Club หรือสโมสรรถโดยสารรังเชื้อเพลิง ซึ่งนับเป็นสโมสรระดับโลกเพื่อการทดลองใช้รถ

●   ที่ผ่านมา มีโครงการทดลองที่น่าสนใจดังนี้:

●   (1) โครงการในพื้นที่ริมอ่าวซานฟรานซิสโก ประกอบด้วยนครโอ๊คแลนด์กับซานฟรานซิสโก และเมืองที่อยู่รายรอบ รถรังเชื้อเพลิงที่ใช้มี 12 คัน

●   (2) โครงการของบริษัทเดมเลอร์ เอจี แห่งเยอรมนี ผู้ผลิตรถเมอร์เซเดส-เบนซ์ โครงการนี้เป็นโครงการทดลองรถรังเชื้อเพลิงในยุคแรกๆ โดยเริ่มขึนในช่วงปี 2004 – 2007 ใช้รถทั้งหมด 36 คัน ทุกคันติดตั้งรังเชื้อเพลิงของบริษัท Ballard Power การทดลองทำในเมืองใหญ่ 11 แห่ง โครงการในรัฐแคลิฟอร์เนียได้รับการดำเนินการโดยบริษัทเดินรถประจำทาง SunLine Transit Agency และใช้รถโดยสาร Thor ผลิตโดย Thor Industries บริษัทผลิตรถโดยสารขนาดใหญ่ใช้สำหรับการเดินทางแบบสันทนาการ รังเชื้อเพลิงที่ติดตั้งเป็นของ UTC Power

●   (3) โครงการ Brazilian Hydrogen Autobus ซึ่งบราซิลเป็นอีกประเทศที่คิดจะเอาดีกับรถรังเชื้อเพลิง มีการนำรถโดยสารรังเชื้อเพลิงต้นแบบ 3 คันออกวิ่งในนครซานเปาโล ตัวรถได้รับการผลิตในเมือง Caxias do Sul ทางตอนใต้ของประเทศ ส่วนไฮโดรเจนที่ใช้ผลิตใน São Bernardo do Campo เขตเทศบาลนครซานเปาโล ทางตอนใต้ของบราซิลเช่นกัน การทดลองนั้นไม่ธรรมดาทีเดียว และยังได้รับการจับตาจากนักพัฒนาในแวดวง เนื่องจากเชื้อเพลิงไฮโดรเจนที่ใช้นั้นได้มาจากน้ำซึ่งผ่านกรรมวิธี Water electrolysis ซึ่งเป็นน้ำที่ปกติเราใช้ดื่มใช้อาบ… หากรถรังเชื้อเพลิงแพร่หลายในอนาคต น้ำจะเป็นอีกหนึ่งแหล่งสำคัญในการผลิตไฮโดรเจน

●   ต่อจากรถโดยสารรังเชื้อเพลิง คงต้องแนะนำรถยกรังเชื้อเพลิงที่เกริ่นไว้เมื่อตอนที่แล้ว ว่ากำลังมีการใช้อย่างแพร่หลาย ตัวรถมีชื่อเรียกกันง่ายๆ แบบตรงตัวว่า fuel-cell forklift แต่ก็มีบ้างที่เรียกกันว่า fuel-cell lift truck ซึ่งเป็นรถบรรทุกที่มีระบบยกติดตั้งในตัว และมีการใช้กันมากมายตามโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เพื่อยกและลำเลียงวัตถุเข้าออก ส่วนใหญ่รถพวกนี้มักใช้รังเชื้อเพลิงแบบ PEM ซึ่งช่วยให้รถไม่ปล่อยมลพิษมากนัก และลดเสียงดังลงไปได้มาก

●   ในปี 2013 สหรัฐฯ มีการใช้รถยกรังเชื้อเพลิงกว่า 4,000 คัน ในจำนวนนี้ 500 คันได้รับเงินอุดหนุนจากกระทรวงการพลังงาน ภายใต้นโยบายส่งเสริมการประหยัดพลังงานทุกด้านและทุกรูปแบบ

●   อย่างที่เกริ่นแล้ว บริษัทที่่ใช้ล้วนเป็นบริษัทใหญ่ระดับแนวหน้า ซึ่งที่รู้จักกันดีได้แก่ FedEx Freight บริษัทรับส่งวัสดุภัณฑ์ในเครือ FedEX, Coca-Cola บริษัทผลิตเครื่องดื่มดัง และ Kimberley Clark บริษัทผลิตผ้าอนามัย 2 บริษัทหลังดำเนินการผ่าน GENCO ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ FedEx โดยเมื่อต้นปี 2017 เพิ่งเปลี่ยนชื่อเป็น FedEx Supply Chain และยังมี Sysco Foods บริษัทการตลาดและการจำหน่ายสินค้าให้ผู้ซื้อปริมาณมาก กับ H-E-B Grocers เครือข่ายร้านชำขนาดใหญ่ในรัฐเท็กซัสที่ยังเป็นบริษัทส่วนตัว

●   เราเอ่ยอ้างชื่อบริษัทดังเหล่านี้ เผื่อว่านักสตาร์ทอัพไทยคนไหนสนใจอยากเปิดบริษัทรับจ้างยกของจะได้เข้าไปค้นข้อมูล เพราะเมื่อไหร่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรือ EEC เปิด บริษัทที่ไปเปิดต้องอวดโรงงานและระบบปฏิบัติงาน โดยในกรณีหลังนี้ หนึ่งในเรื่องสำคัญคือการใช้รถยกแทนแรงคน ทั้งนี้มีการพูดกันแล้วในวงการรถยกว่า ต่อไปรถยกจะกลายเป็นรถเช่าเหมือนรถนั่งให้เช่า โดยเช่าผ่านบริษัทที่ตั้งขึ้นเฉพาะ เนื่องจากผู้ใช้มักมีการใช้ไม่แน่นอน บางเวลาใช้มาก บางเวลาใช้น้อย ดังนั้นวิธีดีที่สุดก็คือ “เช่า” แทนการซื้อ แถมรถยกรังเชื้อเพลิงยังต้องมีสถานที่เติมไนโตรเจนภายใน เพราะการใช้เกิดตลอดเวลา ดังนั้นการเช่าจึงเป็นการประหยัด

●   ในไทยเราที่เห็นๆ ก็มีแล้ว 1 รายที่ให้บริการเช่ารถยก คือ สยามกลการอุตสาหกรรม ที่เปิดบริการเช่า Forklift พร้อมพนักงานขับ ครบจบในที่เดียว ทว่ายังไม่ใช่ระบบรังเชื้อเพลิง

●   ฝั่งยุโรปมีการทดลองใช้รถยกรังเชื้อเพลิงในปี 2013 เช่นกัน โดยเป็นของ Hylift บริษัทจัดสาธิตรถยกผลิตในเขตเศรษฐกิจยุโรป รถที่ใช้มีจำนวน 30 คัน ต่อมา HyLift Europe ซึ่งเป็นบริษัทในเครือได้ขยายเป็น 200 คัน และยังมีโครงการทดลองอื่นในฝรั่งเศสและออสเตรียด้วย

●   ทั้งนี้ 2 ปีก่อนปีดังกล่าว สถาบันวิจัย Pike Research แห่งสหรัฐฯได้พยากรณ์ว่า เมื่อถึงปี 2020 การใช้ก๊าซไฮโดรเจนมากที่สุดจะเป็นการใช้กับรถยก รู้อย่างนี้นักสตาร์ทอัพไทยอย่าลืมคิดตั้งโรงผลิตและโรงเก็บก๊าซไฮโดรเจน สถานีบริการ รวมทั้งระบบจัดส่งในบริเวณระเบียง EEC อีกทั้งควรคิดใช้รถยกรังเชื้อเพลิง PEM เพราะทำงานได้นาน 8 ชั่วโมงต่อการเติมเชื้อเพลิง 1 ครั้ง แถมการเติมยังใช้เวลาเพียง 3 นาที และรถยังมีอายุใช้งานนาน 8 – 10 ปี

●   อีกเรื่องที่จะช่วยกระตุ้นการใช้รถยกรังเชื้อเพลิงในระเบียง EEC ก็คือ ต่อไปพื้นที่นี้จะเป็นแหล่งกระจายสินค้าไปยังภูมิภาคอาเซียน ดังนั้นจึงต้องมีโกดังห้องเย็นหลายแห่ง ซึ่งรถยกรังเชื้อเพลิงเหมาะกับการใช้ในโกดังห้องเย็นมาก เพราะความเย็นจะไม่กระทบการทำงานของระบบขับเคลื่อน

●   ต่อไปเป็นยวดยานรังเชื้อเพลิงที่คงถูกใจวัยรุ่น เพราะเป็นรถมอเตอร์ไซค์ มีการพัฒนารถพวกนี้นานแล้ว คือตั้งแต่ปี 2005 ผู้พัฒนาคือ Intelligent Energy บริษัทสัญชาติอังกฤษที่ชื่อแแปลว่าพลังงานอัจฉริยะ บริษัทนี้ได้พัฒนารถมอเตอร์ไซค์รังเชื้อเพลิงคันแรกที่สามารถนำไปใช้งานได้จริง โดยให้ชื่อประเภทรถว่า ENV ย่อมาจาก Emission Neutral Vehicle ยวดยานไอเสียไม่มีพิษ

●   ตัวรถบรรจุเชื้อเพลิงไฮโดรเจนที่เพียงพอสำหรับการขับขี่นาน 4 ชั่วโมง ถ้าเป็นการขับขี่ในเมือง ตัวรถจะให้ระยะเดินทางราว 100 ไมล์ หรือ 161 กิโลเมตร ด้วยความเร็วสูงสุด 50 ไมล์ต่อชั่วโมง หรือ 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งความเร็วขนาดนี้รถยนต์คงไม่มีทางทำได้ เพราะถนนในเมืองไม่อำนวย และนี่อาจทำให้นักบิดสนใจรถมอเตอร์ไซค์รังเชื้อเพลิงจนพากันอุดหนุน

●   รถมอเตอร์ไซค์ ENV นับเป็นหนึ่งในเสือปืนไว เนื่องจากถือกำเนิดขึ้นมาในเชิงพาณิชย์ ขณะที่บริษัทผลิตรถมอเตอร์ไซค์ตัวจริงยังเพิ่งแค่เริ่มพัฒนา โดยรายแรกที่ลงมือคือฮอนด้าในปี 2004 ผลงานได้แก่รังเชื้อเพลิง Honda FC Stack สำหรับใช้กับรถมอเตอร์ไซค์ ซึ่งรังเชื้อเพลิงดังกล่าวได้รับการออกแบบให้สอดเข้าไปในตัวรถ และถอดออกมาได้เหมือนสอดและถอดชั้นวาง ซึ่งจะทำให้การซ่อมและดูแลรักษาทำได้สะดวก

●   ทั้งนี้ ผู้คิดผลิตรถรังเชื้อเพลิงต้องคิดสร้างความได้เปรียบให้เหนือรถประเภทอื่นให้มาก โดยเฉพาะเหนือกว่ารถยนต์พลังงานไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ที่กำลังเป็นรถพลังงานทางเลือกที่ได้รับความนิยม

●   อีกหนึ่งบริษัทที่กำลังมุ่งมั่นเอาดีทางยวดยานประเภทนี้ได้แก่ซูซูกิ ที่นำรถสกู๊ตเตอร์ Suzuki Burgman แบบใช้รังเฃื้อเพลิงไปให้สหภาพยุโรปรับรองสำหรับใช้เป็นยวดยานที่ใช้งานบนท้องถนนได้ตามกฎหมาย โดยล่าสุดกองบัญชาการตำรวจนครบาลกรุงลอนดอนกำลังทดลองใช้งานรถจริง เพื่อตอบรับกระแสลดมลพิษในมหานคร โดยซูซูกิได้ส่งรถทดลองไปให้ 7 คัน

●   นอกจากนี้ยังมีบริษัทจากไต้หวัน APFCT ที่นำรถสกู๊ตเตอร์รังเชื้อเพลิง 80 คันออกมาทดสอบจริงบนถนน ตัวรถใช้รังเชื้อเพลิงของบริษัท Acta SpA แห่งอิตาลี ซึ่งการทดสอบทำขึ้นเพื่อขอใบรับรองจากสำนักพลังงานไต้หวันในการใช้งานจริงนั่นเอง

●   ต่อไปเป็นยวดยานรังเชื้อเพลิงที่ไม่ใช่รถ แต่เป็นเครื่องบิน ใช่แล้ว…อากาศยานก็กำลังมีการพัฒนาเพื่อให้ใช้พลังงานจากรังเชื้อเพลิงขับเคลื่อนเครื่องยนต์เช่นกัน การพัฒนาเครื่องบินรังเชื้อเพลิงนี้มีการทดลองบินจริงแล้วตั้งแต่ช่วงปี 2003 ชุดระบบติดตั้งรังเชื้อเพลิงในเครื่องบินแบบใบพัด ออกแบบในแนว FlatStack หรือชั้นวางเรียบ เพื่อจะได้นำไปติดตั้งกับลำตัวเครื่องบินได้

●   ครั้นแล้วปี 2008 นักวิจัยบริษัทเครื่องบินโบอิ้งกับผู้ร่วมงานในยุโรปได้ร่วมกันนำเครื่องบินรังเชื้อเพลิงออกบินทดลอง เครื่องบินลำนี้ชื่อ Boeing Fuel Cell Phantom Works EC-DD3 ซึ่งปัจจุบันได้กลายเป็นอากาศยานคลาสสิคไปแล้ว

●   ตัวเครื่องบินใช้รังเชื้อเพลิงแบบ PEM ผลิตกระแสไฟฟ้าไปกักเก็บเอาไว้ในแบตเตอรี่ลิเธี่ยม-ไอออน ก่อนจะจ่ายกระแสไฟไปยังเครื่องยนต์ โดยเป็นเครื่องยนต์ที่ให้พลังขับเคลื่อนใบพัดที่มีใบพัดเดียว การทดลองได้ทำหลายครั้ง และทุกครั้งได้รับความสำเร็จเป็นอย่างดี

●   นอกจากนี้ยังมีแนวคิดที่จะนำรังเชื้อเพลิงไปติดตั้งในยานอากาศด้วย โดยจะเป็นระบบแยกใช้เฉพาะการสตาร์ทเครื่องยนต์ กับการสนองตอบความต้องการในการใช้ไฟฟ้าภายใน แทนเครื่องจ่ายกระแสไฟในปัจจุบันที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงด้วย… ใช้ได้จริงในเชิงพาณิชย์เมื่อไหร่ เครื่องบินที่เราเห็นเวลาบินขึ้นลงจะไม่ส่งเสียงดัง แถมยังไม่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดอ๊อกไซด์รวมทั้งมลพิษอื่น

●   แต่ก็อย่างที่กล่าวไปแล้ว อากาศยานที่กำลังได้รับความสนใจในวงกว้าง เป็นอากาศยานไร้คนขับ หรือ unmanned aerial vehicle อักษรย่อ UAV หรือโดรนนั่นเอง

●   ในตะวันออกกลางช่วงที่มีการรบดุเดือด ยาน UAV กำลังได้รับการพัฒนาอย่างกว้างขวางเพื่อใช้รังเชื้อเพลิง โดยเฉพาะในวงการทหาร เพราะเป็นยานไร้คนขับที่บินเงียบ ทิ้งร่องรอยความร้อนน้อย ดังนั้นจึงยากต่อการตรวจจับ และยังสามารถขึ้นบินในระดับเพดานบินที่สูงมาก

●   ในแวดวงอากาศยาน มีการพัฒนายานยูเอวีรังเชื้อเพลิงนานแล้ว โดยในปี 2007 ยานที่ชื่อ Horizon ได้ทำสถิติบินระยะไกลสำหรับยานยูเอวีขนาดเล็ก 2 ปีต่อมายานยูเอวีรังเชื้อเพลิง Ion Tiger ของห้องวิจัยทดลองกองทัพเรือสหรัฐฯ ได้ออกบินเป็นเวลา 23 ชั่วโมง 17 นาที หรือเกือบ 1 วัน

●   และในขณะนี้ ยักษ์ใหญ่ในแวดวงการบินอย่างโบอิ้ง ก็กำลังทดสอบยานยูเอวีรังเชื้อเพลิง Phantom Eye ที่เป็นยานแบบ HALE ย่อจาก high altitude long endurance คือบินได้สูงและเป็นเวลานาน โดยเป็นยานที่จะใช้สำหรับการวิจัยและสอดแนมในระดับความสูง 65,000 ฟุต หรือ 19,812 เมตร และใช้เวลาบินต่อเที่ยวไม่เกิน 4 วัน

●   มาถึงเรือกันบ้าง… เรือรังเชื้อเพลิงลำแรกชื่อ HYDRA ติดตั้งระบบควบคุมกระแสแบบ AFC และให้กระแสไฟ 6.5 กิโลวัตต์ ซึ่งเรือรังเชื้อเพลิงนี้มีคุณสมบัติเด่นกว่าเรือเครื่องยนต์สันดาปมาก โดยเฉพาะการประหยัดเชื้อเพลิง ดังนั้นประเทศติดทะเลจึงพากันสนใจเรือพลังงานชนิดนี้ โดยเฉพาะไอซ์แลนด์ที่มีกองเรือประมงใหญ่ และได้กำหนดให้ภายในปี 2015 เรือประมงทุกลำต้องใช้รังเชื้อเพลิงผลิตกระแสไฟที่ใช้ทั่วไปในเรือ

●   ส่วนกรุงอัมสเตอร์ดัมที่มีคลองเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ เมื่อไม่นานได้เปิดตัวเรือรังเชื้อเพลิงพานักท่องเที่ยวท่องคลองลำแรกด้วย

●   แต่การใช้รังเชื้อเพลิงกับเรือทุกประเภท คงไม่มีประเภทไหนน่าสนใจกว่าเรือดำน้ำ เราคงทราบกันดีอยู่แล้วว่า นับตั้งแต่โลกมีเรือดำน้ำถือกำเนิดขึ้นมา บรรดาประเทศที่มีกองเรือดำน้ำต่างแข่งกันพัฒนาเรือที่จะอยู่ใต้น้ำนาน รวมทั้งยากต่อการถูกตรวจจับและโจมตี เมื่ออยากได้เรือดำน้ำแบบนี้ไม่มีอะไรจะดีไปกว่าการให้เรือใช้เครื่องยนต์รังเชื้อเพลิง?

●   เยอรมนีเป็นประเทศแรกที่คิดไวทำไวด้วยการผลิตเรือดำน้ำ Type 212 ขึ้นในปี 1996 และเวลานี้มีประจำการในกองทัพ 10 ลำ ตัวเรือใช้รังเชื้อเพลิงแบบ PEM รวม 9 รัง ติดตั้งตามบริเวณต่างๆ ทั่วลำ แต่ละรังให้กระแสไฟระหว่าง 30 – 50 กิโลวัตต์ ซึ่งเพียงพอสำหรับการให้เรืออยู่ใต้น้ำนานกว่าเรือดำน้ำทั่วไป

●   ทว่าสิ่งที่ทำให้วงการเรือรบทึ่งถึงทุกวันนี้ก็คือ เรือดำน้ำรังเชื้อเพลิงออกแบบง่าย ผลิตง่าย และบำรุงรักษาง่าย เทียบแล้วง่ายกว่าเรือดำน้ำนิวเคลียร์มากยิ่งกว่ามาก และนี่คงจะทำให้เรือดำน้ำนิวเคลียร์พ้นสมัยในเวลาไม่นาน

●   ต่อไปเป็นรถไฟรังเชื้อเพลิง ซึ่งเข้ากันดีกับการเริ่มต้นโครงการรถไฟความเร็วสูงของไทย อย่าตกใจถ้าจะบอกว่าจีนเป็นประเทศแรกที่นำรถรางรังเชื้อเพลิงออกสาธิต

●   รถรางเป็นรถไฟแบบหนึ่ง และนิยมใช้เป็นรถโดยสารประจำทางตามเมืองใหญ่ ซึ่งสำหรับจีนมีให้เห็นทุกเมืองสำคัญ ผู้นำรถออกสาธิตคือ China South Rail Corporation อักษรย่อ CSR โดยทำเมื่อปี 2015 ณ โรงงานประกอบรถรางเมืองชิงเต่า เหตุผลของการให้รถรางใช้รังเชื้อเพลิงก็เพื่อลดต้นทุนการเดินรถที่ผู้มีรายได้น้อยนิยมใช้ ถึงขณะนี้จีนได้วางรางรถรางรังเชื้่อเพลิงแล้ว 83 ไมล์ หรือ 133 กิโลเมตร โดยเป็นรางที่อยู่ในเมือง 7 แห่ง

●   ระยะทางที่วางอาจดูน้อย แต่จีนได้ประกาศจะใช้เงิน 200,000 หยวน หรือราว 30,500 เหรียญสหรัฐฯ ในระยะ 5 ปีข้างหน้า เพื่อสร้างทางรถรางให้ได้กว่า 1,200 ไมล์ หรือ 1,931 กิโลเมตร

●   น่าคิด… จีนกำลังเอาดีทางประหยัดพลังงานทุกด้าน โดยทำแม้กระทั่งให้คนปั่นจักรยาน แล้วเวลานี้กำลังจะให้คนใช้รถรางที่ขับเคลื่อนด้วยรังเชื้อเพลิง ดังนั้นอย่าแปลกใจ นอกจากรถไฟไทย-จีน ต่อไปไทยจะมีรถรางไทย-จีนวิ่งตามเมืองที่เอื้อต่อการสร้าง เพราะมีการวิจารณ์แล้วว่า นอกจากจะสร้างทางรถไฟในไทย จีนยังจะพัฒนาเมืองใหญ่ที่ไทยมีอยู่แล้วให้เป็นเมืองทันสมัย

●   ทันสมัยขนาดไหนให้ดูฮ่องกงที่จีนทำให้ดูเป็นตัวอย่าง ประเทศไหนอยากพัฒนาเมืองใหญ่ให้ทันสมัย จีนจะพาไปดูฮ่องกงซึ่งกำลังทันสมัยชนิดล้ำโลก ดังนั้นต่อไปถ้าทำจริงจังเมืองอย่างโคราช ขอนแก่น หนองคายฯ ที่รถไฟไทย-จีนแล่นผ่านคงจะมีหน้าตาแบบนั้น

●   ที่กล่าวไปแล้วนั้นเป็นรถไฟแบบรถราง ขณะที่รถไฟเต็มรูปแบบได้รับการเปิดตัวแล้วเมื่อปี 2016 และพอเดือนที่แล้วก่อนสิ้นปี 2017 มีการเริ่มเดินรถไฟรังเชื้อเพลิงในเยอรมนี โดยเป็นรถไฟที่ถูกเรียกว่า regional train หรือรถไฟใช้งานระดับภูมิภาค ยังไม่ถึงระดับประเทศ ตัวรถชื่อ Coradia iLint ผลิตโดย Alstorm บริษัทฝรั่งเศสเชี่ยวชาญด้านการขนส่งทางราง ในการเติมเชื้อเพลิงไนโตรเจนเต็มถังแต่ละครั้ง รถจะวิ่งได้ไกล 370-500 ไมล์ หรือ 600-800 กิโลเมตร ด้วยความเร็ว 87 ไมล์หรือ 140 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

สิ่งที่ขัดขวางการเกิดของรังเชื้อเพลิง

●   ต่อไปเป็นคิวของโครงสร้างพื้นฐาน… เรื่องนี้มีการพูดกันมากว่า “เป็นอุปสรรคสำคัญอย่างใหญ่หลวง” ต่อการขยายขอบข่ายการใช้งานยวดยานประเภทนี้ในโลก

●   เริ่มที่สหรัฐฯ ซึ่งกลางปีที่แล้วปรากฏว่า ทั่วประเทศมีสถานีบริการก๊าซไฮโดรเจน 36 แห่งที่บุคคลทั่วไปสามารถเข้าถึง ยังไม่นับที่ใช้ได้เฉพาะบุคคลบางกลุ่ม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเจ้าหน้าที่และพนักงานภาคเอกชน และในจำนวนนี้ 32 แห่งอยู่ในแคลิฟอร์เนีย โดยเป็นสถานีที่เกิดจากการออกกฏหมายส่งเสริมการสร้างที่ลงนามโดยผู้ว่าการรัฐเมื่อ 4 ปีที่แล้ว เพื่อให้มีการสร้างสถานีบริการก๊าซไฮโดรเจน 100 แห่งภายใน 10 ปี ตามด้วยการให้งบประมาณ 46.6 ล้านเหรียญในปีต่อมาเพื่อสร้างอีก 28 แห่ง โดยคณะกรรมาธิการพลังงานแห่งรัฐ

●   ในเวลาเดียวกัน มีการเริ่มสร้างสถานีไฮโดรเจนในญี่ปุ่นผ่านโครงการ สังคมไฮโดรเจน หรือ hydrogen society โดยเริ่มสร้าง 80 แห่งจนถึงช่วงปี 2016 บุคคลทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ และรัฐบาลญี่ปุ่นได้ประกาศจะเพิ่มให้ได้ 2 เท่าจนครบ 160 แห่งภายในปี 2020

●   ส่วนเยอรมนีกลางปี 2015 มีสถานีบริการก๊าซไฮโดรเจนที่บุคคลทั่้วไปเข้าถึงได้ 18 แห่ง ทั้งนี้เดิมรัฐบาลเยอรมันหวังจะให้มีการสร้างจนครบ 50 แห่งภายในปี 2016 แต่พอถึงกลางปี 2017 กลับมีการสร้างเพิ่มเพียง 12 แห่ง

●   มีการวิจารณ์ว่า การสร้างสถานีบริการก๊าซไฮโดรเจนไม่ใช่เรื่องง่ายนัก เพราะนอกจากต้องคำนึงถึงสถานที่และค่าก่อสร้าง สถานียังต้องมีโรงผลิตก๊าซไฮโดรเจนรองรับ รวมทั้งมีระบบขนส่งก๊าซที่ยังไม่แพร่หลาย รวมทั้งระบบความปลอดภัยที่เข้มงวดด้วย เช่น ในกรณีของฮอนด้า การตั้งสถานีไฮโดรเจนในแคลิฟอร์เนีย มีการวางแผนงานร่วมกับหน่วยงานรัฐอย่างน้อย 2 แห่ง ครอบคลุมงานออกแบบ การก่อสร้าง และการวางแผนงานด้านความปลอดภัย โดยมีการใช้กล้องอินฟราเรดตรวจจับการทำงานของระบบทุกจุดตลอดเวลา และจะทำการหยุดทุกระบบการทำงานโดยอัตโนมัติ ทันทีที่เกิดเพลิงไหม้ หรือแผ่นดินไหว เป็นต้น

●   ทว่าในความมืดมิดย่อมมีหนทาง… อย่าแปลกใจหากบรรดาสตาร์ทอัพหัวก้าวหน้าจำนวนไม่น้อยมองว่า “นี่เป็นโอกาสทอง” เพราะนับตั้งแต่ปี 2010 เป็นต้นมา ความรุดหน้าด้านวิทยาการรังเชื้อเพลิงได้ช่วยลดขนาด น้ำหนัก และราคารถรังเชื้อเพลิงลงอย่างมาก ตัวเลขจากกระทรวงพลังงานสหรัฐฯ ชี้ให้เห็นว่า เมื่อถึงปีด้งกล่าวต้นทุนผลิตและใช้รถรังเชื้อเพลิงได้ลดลงถึง 80 เปอร์เซนต์ เมื่อเทียบกับปี 2002 นอกจากนี้รถรังเชื้อเพลิงยังวิ่งได้ไกล 250 ไมล์ หรือ 402 กิโลเมตรต่อการเติมเชื้อเพลิงเต็มถังแต่ละครั้ง และการเติมยังใช้เวลาต่ำกว่า 5 นาที

●   ที่น่าสนใจกว่านั้นรถรังเชื้อเพลิงยังประหยัดเชื้อเพลิงมาก มีการนำรถโดยสารรังเชื้อเพลิงออกทดลองวิ่งและพบว่า ตัวรถใช้เชื้อเพลิงน้อยกว่ารถโดยสารดีเซลถึง 40 เปอร์เซนต์ อีกทั้งในปี 2011 โครงงานวิจัยวิทยาการรังเชื้อเพลิงของ EERE สำนักงานประสิทธิภาพพลังงานและพลังงานหมุนเวียนในกระทรวงพลังงานสหรัฐฯ ยังพบว่า เมื่อนำรถรังเชื้อเพลิงและรถไฟฟ้าออกวิ่งเต็มที่ รถรังเชื้อเพลิงมีประสิทธิภาพในการวิ่งสูงกว่ารถไฟฟ้าระหว่าง 42 – 55 เปอร์เซนต์ อีกทั้งยังสามารถวิ่งได้ไกลกว่า 75,000 ไมล์หรือ 120,000 กิโลเมตรก่อนรถจะเสื่อมสภาพ

●   ตัวเลขทั้งประสิทธิภาพและการเสื่อมสภาพนี้ ดีกว่าเมื่อปี 2006 หรือ 5 ปีก่อนหน้าถึงเท่าตัว

●   ส่วน Lux Reseach Inc. บริษัทวิจัยและให้คำปรึกษาในสหรัฐฯปี 2012 ได้ทำนายการใช้งานรังเชื้อเพลิงในรูปแบบติดอยู่กับที่จะมีมูลค่า 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯเมื่อถึงปี 2030 ขณะที่ในรูปแบบเคลื่อนที่อย่างการใช้กับยวดยานจะมีมูลค่า 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในจำนวนนี้ส่วนหนึ่งเป็นมูลค่าที่ได้จากการใช้รถยกรังเชื้อเพลิง

●   ไทยมีโอกาสมั่งคั่งจากรังเชื้อเพลิง เนื่องจากเป็นประเทศผลิตเชื้อเพลิงเอทานอลปริมาณสูง และต่อไปเอทานอลจะถูกใช้เป็นเชื้อเพลิงรังเชื้อเพลิงแทนก๊าซไฮโดรเจน บริษัทที่ประกาศเช่นนี้คือ นิสสัน มอเตอร์

การขยายกิ่งก้านสาขา

●   ในปี 2016 หลังเสร็จสิ้นการทำโครงการพัฒนาพลังงานใหม่ นิสสันกล่าวว่า การพัฒนาเชื้อเพลิงชนิดนี้เพื่อให้ใช้กับรังเชื้อเพลิงมีต้นทุนถูกกว่าก๊าซไฮโดรเจน อีกทั้งการพัฒนาโครงสร้างเพื่อรองรับการใช้ยังทำง่ายกว่า ทั้งนี้รถรังเชื้อเพลิงที่นิสสันกำลังจะใช้เชื้อเพลิงเอทานอล จะมีถังบรรจุเอทานอลผสมน้ำ เมื่อรถถูกใช้งาน เอทานอลผสมน้ำจะถูกฉีดเข้าไปในเครื่องแปลงที่ติดตั้งอยู่ในรถ ซึ่งนิสสันเรียกมันว่า on-board reformer ซึ่งจะช่วยแปลงออกมาเป็นก๊าซไฮโดรเจนกับก๊าซคาร์บอนไดอ๊อกไซด์ จากนั้นไฮโดรเจนที่ได้จะถูกส่งไปยังรังเชื้อเพลิงแบบ solid oxide fuel cell หรือรังเชื้อเพลิงแบบอ๊อกไซด์แข็ง

●   นิสสันกล่าวว่า ส่วนผสมเอทานอลกับน้ำมีอัตรา 55:45 และนิสสันเตรียมจะนำเทคโนโลยีที่ค้นพบไปใช้ในเชิงพาณิชย์ภายในปี 2020

●   เห็นเช่นนี้ชาวไร่มันสัมปะหลังและผู้ค้า ชาวไร่อ้อย เจ้าของโรงหีบอ้อย ผู้บริหารบริษัทผลิตน้ำตาล และนักสตาร์ทอัพคงตาลุก ใครอยากเห็นไทยมั่งคั่งควรรีบเร่งศึกษา เพราะความมั่งคั่้งไม่ใช่การแห่ใช้ หรือเริ่มขึ้นหลังการใช้ แต่เกิดจากการคิดและลงมือทำอย่างรวดเร็ว

●   สำหรับรายละเอียดของชุดระบบ e-Bio Fuel-Cell จากนิสสันนั้น อ่านรายละเอียดได้จากลิ๊งค์นี้ และ ตามด้วยลิ๊งค์นี้ เนื่องจากหากเอามารวมไว้ในที่นี้ เห็นทีว่าจะยาวเกินไปสักนิด

●   ในการวิจัย มีหลายแง่มุมให้คิดและลงมือทำ ไทยพร้อมที่จะเป็นแหล่งวิจัยการนำเอทานอลไปใช้กับรังเชื้อเพลิง ซึ่งต่อไปนอกจากจะใช้กับรถ ยังจะใช้กับยวดยานอื่นทุกชนิด รวมทั้งเครื่องบินและเรืออย่างที่กล่าวมาข้างต้นด้วย ส่วนอุปสรรคนั้นทราบกันดีในหมู่ผู้สนใจว่า คำวิจารณ์มีทั้งในแง่ดีและไม่ดีต่อการมาถึงของยุครังเชื้อเพลิง

●   ในแง่ดีคือ ไฮโดรเจนเป็นพลังงานที่นอกจากจะสะอาดยังไม่มีวันหมด อีกทั้งการผลิตที่อาจทำได้จากของเสียรวมทั้งอุจจาระ ซึ่งช่วยโลกให้พ้นจากการถูกขยะท่วม ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการกำจัด และรถรังเชื้อเพลิงยังไม่เสียเวลาเติมเชื้อเพลิงนาน เพียงไม่กี่นาทีไฮโดรเจนก็เต็มถัง ไม่เหมือนรถไฟฟ้าที่ต้องใช้เวลาเติมนานกว่า แม้จะมีโหมดชาร์จเร็วก็ตาม (ในอนาคตไม่แน่) ซึ่งจุดนี้ยังเป็นข้อจำกัดของการใช้รถไฟฟ้าระยะไกล… ยิ่งถ้าไกลมากยิ่งจำเป็นต้องจอดรถเป็นทอดๆ ตลอดทาง ดังนั้นต่อไปใครที่ต้องเดินทางไกล และอยากใช้รถพลังงานทางเลือก จึงควรใช้รถรังเชื้อเพลิง

●   มีการค้นพบข้อดีใหม่ๆ เกี่ยวกับรถรังเชื้อเพลิงตลอดเวลา ล่าสุดคือรถรังเชื้อเพลิงออกแบบง่าย ผลิตง่าย และใช้ง่าย ซึ่งจะทำให้รถมีราคาถูกและมีค่าดูแลต่ำ เทียบแล้วเหนือกว่ารถไฟฟ้าที่มีปัญหาราคาแบตเตอรี่แพง และเมื่อถึงเวลาต้องเปลี่ยน สิ่งที่ตามมาคือขยะอันตรายที่เป็นอันตรายมากต่อสุขภาพโดยตรง และการกำจัดก็ไม่ง่ายนัก

●   คำวิจารณ์ในแง่ดีล่าสุดที่ถูกจับตามองกันมากคือ รถรังเชื้อเพลิงเหมาะกับการใช้เป็นรถนั่งขนาดใหญ่ รวมทั้งรถบรรทุกใหญ่ใช้งานหนัก เมื่อเทียบกับรถไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ที่เหมาะกับการเป็นรถนั่ง

●   ส่วนคำวิจารณ์รถรังเชื้อเพลิงในแง่ไม่ดีคือ โลกจะต้องใช้จ่ายเงินก้อนมหาศาลในการให้รถรังเชื้อเพลิงมีโครงสร้างพื้นฐานรองรับ ซึ่งสิ่งที่จะต้องเร่งทำและมีมูลค่าในการใช้จ่ายมากที่สุดก็คือ โรงผลิตไฮโดรเจนและสถานีบริการ…  แทนที่จะเอาเงินไปสร้างโครงสร้างพื้นฐาน เอาเงินเหล่านั้นไปพัฒนารถไฟฟ้าและรถเชื้อเพลิงน้ำมันไม่ดีกว่าหรือ โดยเฉพาะรถประเภทหลังที่ยังมีทางที่จะพัฒนาให้ประหยัดพลังงานและลดการปล่อยมลพิษได้อีก

●   ตรงนี้ต้องดูกันต่อไปว่า แต่ละประเทศจะสามารถส่งเสริมการสร้างสาธารณูปโภคขึ้นมารองรับกันได้ขนาดไหน แต่อย่างน้อยๆ กว่าที่เราจะรู้คำตอบก็ต้องรอกันไปอย่างน้อยๆ หลังยุคปี 2020 เนื่องจากแต่ละโครงการในแต่ละประเทศ ล้วนเป็นโครงการระยะยาวทั้งสิ้น

●   สุดท้ายเกือบลืม การแข่งขันรถแข่งพลังงานไฟฟ้าล้วนอย่าง Formula E กำลังจะกลายเป็นการแข่งรถที่สำคัญในระดับเมนสตรีม ซึ่งระหว่างนี้เริ่มมีการคิดกันแล้วว่า จะมีการพัฒนารถแข่งในลักษณะนี้ให้ใช้ระบบขับเคลื่อนแบบรังเชื้อเพลิงด้วย โดยรถแข่งพลังฟิวเซลล์นั้น คันแรกเกิดขึ้นในปี 2012 ผลงานของนักศึกษา Delft University of Technology จากเนเธอร์แลนด์ ที่พัฒนาขึ้นมาเพื่อลงแข่งขันในรายการ formula student และมีการนำไปวิ่งสาธิตที่สนามซิลเวอร์สโตน

●   พูดถึง Formula E คิดแล้วก็น่าเสียดายโอกาสที่ไทยอดเป็นหนึ่งในปฏิทินการแข่งขัน Formula E… ในช่วงกลางปี 2013 ไทยเราเคยถูกระบุว่าจะได้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน Formula E สนามที่ 9 ในฤดูกาล 2014 – 2015 ซึ่งชื่อ “กรุงเทพฯ” เป็นหนึ่งในรายชื่อสนามที่ได้เข้าร่วมการแข่งขันร่วมกับเมืองใหญ่อื่นๆ เช่น ลอนดอน, ปักกิ่ง หรือบัวโนส ไอเรส แต่แล้วแผนงานนี้ก็พับฐานเงียบหายไปเสียอย่างนั้นจากเหตุการณ์ต่างๆ ในบ้านเราเอง

●   เฉพาะรายได้นักท่องเที่ยวอย่างเดียวก็น่าจะมหาศาล เพราะจะมีชาวต่างประเทศเข้ามาชมการแข่งมากมาย ยังไม่นับรายได้จากการถ่ายทอดทางโทรทัศน์ไปทั่วโลก เพราะแฟนกีฬารถแข่งมีทุกมุมโลก

●   อย่างไรเสีย คนรุ่นใหม่ก็อย่าเพิ่งถอดใจ พัฒนากีฬารถแข่งพลังงานไฟฟ้าไปด้วยเสียเลย… หวังว่าไทยจะได้เป็นประเทศรังเชื้อเพลิงและไฟฟ้าล้วนแบบแบตเตอรี่ในอนาคตเหมือนประชาคมโลก

●   ลาทีปีเก่าและสวัสดีปีใหม่ 2561   ●