December 16, 2017
Motortrivia Team (10170 articles)

มองโอกาสในสร้างธุรกิจจากวิทยาการอากาศยานไร้คนขับ


Posted by : Man from the Past

 

●   ในช่วงหลายปีที่ผ่านมามีจับตามองการพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับโดรนกันเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเจ้า “Drone” ที่แปลว่าผึ้งตัวผู้กับเสียงกระหึ่มเหมือนเสียงผึ้งนี้ เป็นที่มาของคำที่เราใช้เรียกอากาศยานไร้คนขับ หรือ UAV : unmanned aerial vehicle ซึ่งเป็นคำที่ใช้กันอย่างแพร่หลายโดยเฉพาะด้านข่าว ดังนั้นไม่ว่าจะเรียกมันว่าอย่างไร รับรองว่าแทบจะไม่มีใครไม่รู้จักโดรน

●   ในช่วงแรก เมื่อพูดถึงโดรน เรามักจะนึกถึงการใช้งานในแง่ของการทหารเสียส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นในแง่ของอาวุธ หรือยุทธปัจจัยที่แพร่หลายในโลกยุคหน้า ลองคิดดูกันเล่นๆ ว่า อะไรจะเกิดขึ้นกับแนวทางการทำสงคราม หากประเทศที่ถูกข่มขู่นำเรือหรือรถบรรทุกโดรนติดอาวุธไปจอดแถวชายแดน แนวทางการต่อสู้และป้องกันอาจจะเป็นไปในลักษณะการปล่อยโดรนขึ้นบิน และระดมยิงอาวุธที่มีใส่ประเทศที่รุกราน โดยเลือกเป้่าหมายที่เป็นจุดอ่อนที่สุด หากเป็นไปตามแนวคิดนี้ ต่อไปอาจจะไม่มีประเทศไหนคิดใช้กำลังทหารแก้ไขกรณีพิพาทระหว่างประเทศก็ได้… โลกก็น่าจะถึงยุคสุขสงบสันติอย่างที่ฝันกันมานานเสียที

●   อย่างไรก็ดี อะไรที่มันเป็นไปในแนวทางสันติคงไม่เกิดขึ้นง่ายๆ สำหรับเหล่ามนุษย์ การพัฒนาโดรนให้เป็นอาวุธยุคหน้ายังคงดำเนินไปเรื่อยๆ ล่าสุดมีข่าวว่าการพัฒนาโดรนในหมู่ประเทศมหาอำนาจ ได้ดำเนินการไปถึงขั้นการเตรียมสร้างโดรนขนาดมหึมาสำหรับบินเหิรฟ้าพร้อมกับบรรทุกระเบิดทำลายประเทศข้าศึกกันเรียบร้อยแล้ว หรือไม่ก็ใช้ลำเลียงสเบียงและอาวุธยุทโธปกรณ์ แทนการใช้เครื่องบินที่ต้องใช้คนเสี่ยงอันตรายและมีค่าใช้จ่ายสูงกว่ามาก


Aerial Combat Drone จากจินตนาการของ PeterChov ศิลปิน 3D


●   แน่นอนว่าเมื่อมันสามารถใช้แทนเครื่องบินได้ ภาคเอกชนย่อมถือโอกาสในการพัฒนาโดรนให้ใช้งานเป็นอากาศยานสำหรับงานพลเรือน ซึ่งปัจจุบันมีการดำเนินงานกันไปแล้วมากมาย เช่น การใช้งานเพื่อการขนส่งระยะใกล้ที่เป็นระยะทางภายในเมืองหรือระหว่างเมือง โดยมีผู้ทดลองรายสำคัญคือเว็บไซต์อเมซอน หรือบริการในชื่อ “Amazon Prime Air” นั่นเอง

●   นอกจากนั้นก็ยังมีการพัฒนาโดรนให้เป็นแท็กซี่คอยบินรับส่งผู้โดยสารแบบเดียวกับรถยนต์ ทั้งนี้ว่ากันว่า บริษัทที่เอาจริงเรื่องนี้มีอยู่ 3 ราย รายหนึ่งก็คือ Volocopter ที่เริ่มทำการทดลองบินทดสอบเพื่อเก็บข้อมูลในดูไบ และคาดว่านครรัฐแห่งนี้จะเป็นพื้นที่แรกในโลกที่เปิดบริการแท็กซี่ทางอากาศแบบใช้โดรน

●   และที่เป็นข่าวต่อมาก็คือ การใช้โดรนเพื่อปลูกพืชในสหราชอาณาจักร โดยพืชที่ปลูกก็คือข้าวบาร์เล่ย์สำหรับใช้ทำเบียร์ มีการใช้โดรนปลูกข้าวชนิดนี้ครบทุกขั้นตอนทั้งการเตรียมพื้นที่ การเพาะปลูก และการเก็บเกี่ยว ยังผลให้ครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกในโลกที่มีการปลูกพืชแบบไม่ใช้มือคน โดยชื่อที่ใช้เรียกการปลูกข้าวบาร์เล่ย์ในลักษณะนี้ก็คือ “Drone barley snatch” หรือการใช้โดรนฉกข้าวบาร์เล่ย์ ทั้งนี้ตามทัศนะของ 3 วิศวกรมหาวิทยาลัย Harper Adams University พวกเขาไม่ได้ปลูกข้าวชนิดดังกล่าว แต่ใช้โดรนฉกมันจากพื้นดิน โดยเป็นการดำเนินงานภายใต้โครงการ Hands Free Hectare หรือโครงการพื้นที่หนึ่งเฮกตาร์ปลอดมือมนุษย์ (หนึ่งเฮคตาร์เท่ากับ 10,000 ตารางเมตร หรือประมาณ   6 ไร่ 1 งาน)

●   ทั้งนี้ บนพื้นที่เพาะปลูกจะไม่มีการใช้มือหรือแรงงานมนุษย์เข้าไปแตะต้องเลยแม้แต่น้อย โครงการนี้มีขึ้นเพื่อการก่อตั้งธุรกิจหรือที่เรียกกันติดปากในยุคปัจจุบันว่า “สตาร์ทอัพ” ตามกระแสคนสมองดียุคใหม่ ซึ่งพอเห็นหรือคิดอะไรที่อาจนำไปต่อยอดเป็นธุรกิจได้ ก็จะเปิดโครงการเพื่อระดมทุนจากนักลงทุน หรือในกรณีที่รัฐให้การสนับสนุนก็จะขอรับเงินช่วยเหลือจากรัฐ ซึ่งสำหรับโครงการดังกล่าวข้างต้นนี้ ได้รับเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลสหราชอาณาจักรไปถึง 186,000,000 ปอนด์ หรือราว 8.18 ล้านบาท แถมเมื่อได้รับแล้วยังมีการนำเงินไปใช้กันอย่างสุดประหยัดและคุ้มค่า เช่น การซื้อเครื่องจักรกลและอุปกรณ์การเกษตรมือสองที่นำเข้าจากญี่ปุ่น

●   เครื่องจักรกลและอุปกรณ์ทุกชิ้น จะได้รับการปรับปรุงและดัดแปลงเพื่อให้เป็นหุ่นยนต์ จากนั้นจะถูกนำไปเชื่อมต่อกับระบบสั่งงานที่ติดตั้งในโครน เมื่อบินขึ้นทำงาน โดรนจะถ่ายภาพพื้นที่ด้วยกล้องอินฟราเรดซึ่งให้ภาพคมชัดและมีข้อมูลรายละเอียดสูง เช่น ข้อมูลของสภาพดินที่ระบุได้ว่า เหมาะหรือไม่เหมาะกับพืชที่จะปลูก… ถ้าเหมาะ มันเหมาะในระดับไหน และหากไม่เหมาะ จะต้องปรับปรุงอย่างไรถึงจะทำให้เหมาะ

●   ขณะเดียวกัน นักทดลองที่กำลังจะกลายเป็นเกษตรกรก็จะคอยตรวจและเก็บข้อมูลทุกระยะตลอดเวลา เพื่อนำไปหาขั้นตอนการทำงานลำดับต่อไป โดยข้อมูลเหล่านี้จะถูกรวบรวมเอาไว้เพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลสำหรับการเขียนระบบสั่งงาน จากนั้นเมื่อมีการสั่งโดรนให้ทำงาน ระบบจะดูแลและควบคุมการทำงานของโดรนทุกระยะ

●   ไม่แปลกใจเลยที่นักสังเกตการณ์ต่างพูดกันเป็นเสียงเดียวว่า เมื่อใดที่มีการนำโดรนไปใช้ในการทำเกษตรกรรมอย่างจริงจัง เมื่อนั้นโลกจะเต็มไปด้วยพื้นที่เพาะปลูกที่อุดมสมบูรณ์ เพราะไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน โดรนก็สามารถบินเข้าถึงพื้นที่ได้ และนำความรู้ในการทำการเกษตรชั้นยอดไปใช้กับพื้นที่นั้นๆ

●   ทว่าสำหรับประเด็นนี้ ปรากฏว่าการทดลองปลูกข้าวบาร์เล่ย์ด้วยโดรนของโครงการหนึ่งเฮกตาร์ปลอดมือมนุษย์ กลับได้ข้าวน้อยกว่าที่ควรจะได้ แถมยังใช้เวลาและเงินมากกว่าเสียด้วย… แต่ก็ไม่เป็นไร เพราะโครงงานที่ทำนั้นยังอยู่ในขั้นทดลอง ซึ่งก็คงจะต้องลองผิดลองถูกกันไประยะหนึ่ง กว่าจะได้ผลตามที่ต้องการ มีการประเมินกันแล้วว่า การใช้โดรนทำการเกษตรจะเหมาะมากสำหรับยุคหน้า เพราะต่อๆ ไปการทำการเกษตรจะต้องทำตามกฏเกณฑ์ที่วางเอาไว้ โดยเป็นกฏเกณฑ์จากทุกภาคส่วนของสังคม รวมทั้งการตลาดและการจำหน่่าย ตัวอย่างที่กำลังเห็นได้ชัดก็คือ ผักปลอดสารพิษนั่นเอง แม้ไม่มีการบังคับ แต่เกษตรกรที่ปลูกผักล้วนขยับเขยื้อนไปตามทิศทางที่กำลังเป็นกระแส นั่นคือการปลูกผักที่ปลอดสารพิษ ผักที่นอกจากจะช่วยรักษาระบบนิเวศ ยังจะช่วยพิทักษ์ชีวิตคน

●   ยังไม่มีข่าวว่า ทีมงานหนึ่งเฮกตาร์ปลอดมือมนุษย์ได้รับการติดต่อจากบริษัทเครื่องจักรกลการเกษตรบ้างหรือไม่ แต่มีข่าวว่าบางแห่งได้เริ่มพัฒนาการเพาะปลูกแบบไม่ใช้มือคนเช่นกัน ซึ่งด้านหนึ่งคือ การใช้หุ่นยนต์ ทว่าเทียบกันแล้วการใช้โดรนน่าจะได้เปรียบกว่ามาก เพราะเปิดให้เห็นภาพจากมุมสูง การจัดเก็บข้อมูลทำได้ว่องไวกว่า นอกจากนี้การสร้างโดรนยังง่ายและถูกกว่าการสร้างหุ่นยนต์ด้วย

●   นอกจากโครงการดังกล่าวแล้ว ยังมีอีกโครงการที่กำลังดังสนั่นโลกไม่แพ้กัน นั่นคือโครงการที่ใช้ชื่อว่า “Garuda Robotics” สตาร์ทอัพสิงคโปร์ที่กำลังจะนำโดรนไปใช้งานด้านต่างๆ ทั่วเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ก่อนจะขยับขยายต่อไปยังภูมิภาคอื่นจนครบทุกแห่ง

●   บริษัท Garuda Robotics Pte. Ltd. ที่แปลว่า ครุฑ หรือพาหนะของพระวิษณุเวอร์ชั่นหุ่นยนต์นี้ ก่อตั้งได้โดย Mark Yong ชาวสิงคโปร์วัย 36 ปี เมื่อ 3 ปีที่ผ่านมา หลังสนใจโดรนมานานจนสามารถสร้างมันขึ้นมาเองได้ตอนอายุเพียง 10 ขวบ อีกทั้งต่อมาเขายังขยายขอบเขตความรู้ความสนใจไปทางด้านหุ่นยนต์ ดังนั้นจึงไปเข้าเรียนวิศวกรรมหุ่นยนต์ที่มหาวิทยาลัย Carnegie Mellon University ในสหรัฐอเมริกา

●   ระหว่างนั้นได้เกิดเหตุการณ์โจมตีตึกเวิลด์เทรดในเมืองนิวยอร์คช่วงปี 2001 ซึ่งทำให้เขาสนใจการสร้างหุ่นยนต์สำหรับใช้ช่วยเหลือผู้ประสบภัย โดยมีการพัฒนาการสร้างหุ่นยนต์ลักษณะนี้แล้วในมหาวิทยาลัยที่เขาเรียน ดังนั้นเขาจึงเข้าไปร่วมงาน และได้เก็บเกี่ยวความรู้ในการสร้างหุ่นยนต์ค้นหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัย ก่อนจะนำมาปรับใช้กับโดรน

●   หย่อง เปิด Garuda Robotics ร่วมกับวิศวกรสิงคโปร์อีก 2 คนๆ หนึ่งเป็นเพื่อนร่วมห้องพักตอนเรียนที่สหรัฐฯ อีกคนเป็นอดีตนักศึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนันยางแห่งสิงคโปร์ (Nanyang Technological University) ซึ่งมีชื่อเสียง และเป็นหนึ่งมหาวิทยาลัยที่มีการบริหารการจัดการอิสระแยกจากระบบราชการ (autonomous university) อันดับต้นๆ ของโลก… ทว่ารายหลังนี้ได้แยกตัวออกไปก่อตั้งบริษัทโดรนของตัวเองที่ชื่อ Swarm X

●   สำหรับ หย่อง นับตั้งแต่วันแรกเขาเน้นให้บริษัทจับงานไปที่แก้ปัญหาสำคัญให้เพื่อนมนุษย์ โดยมุ่งไปด้านการเกษตรเป็นอันดับแรก เนื่องจากขณะนี้ในมาเลเซียและอินโดนีเซียมีพื้นที่ปลูกปาล์มมากถึง 16 ล้านเฮกตาร์ หรือ 100 ล้านไร่ ดังนั้น หากทำให้ต้นปาล์มที่ปลูกเจริญงอกงามกว่าที่ควรเพียงร้อยละ 25 ผลจะปรากฏได้ชัดเจนทันที ปัจจุบันเจ้าหน้าที่ 12 นายจากบริษัทนี้กำลังนำโดรนไปช่วยลูกค้าที่ปลูกปาล์มในสิงคโปร์ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย โดยการเข้าไปบริหารจัดการในครั้งนี้ ส่วนใหญ่ไม่ใช่การแก้ปัญหา แต่เป็นการปรับและยกระดับคุณภาพผลผลิต โดยใช้ความรู้ที่ได้จากการทำงานอันรวดเร็วของโดรน ซึ่งมีความถ้วนถี่มากกว่าคน สามารถติดตามการเจริญเติบโตได้ทุกระยะ นอกจากนั้นยังสามารถดูแลไม่ให้เกิดไฟไหม้ ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ตลอดระยะเวลาปลูก และลามไปจนเป็นปัญหาระหว่างประเทศ

●   อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่แค่งานด้านเกษตรเท่านั้นที่ Garuda Robotics จับอยู่ในขณะนี้ ยังมีงานด้านการตรวจสอบสิ่งปลูกสร้าง มีการใช้ระบบ TowerSight หรือมองจากหอสูง เพื่อให้โดรนตรวจสภาพอาคารสูง รวมทั้งหอที่เป็นเสาโทรคมนาคม… แน่นอนว่าการใช้โดรนทำงานในลักษณะนี้ย่อมรวดเร็วและให้ผลดีกว่าการใช้วิธีอื่น โดยมีการระบุว่า มันรวดเร็วกว่าเดิมถึง 3 เท่า

●   นอกจากนั้น การใช้โดรนยังช่วยขจัดปัญหาคนงานได้รับอันตรายจากการทำงานในพื้นที่สูง ซึ่งต้องเสียค่าป้องกันเป็นวงเงินไม่น้อย รวมถึงปัญหาร้ายแรงเช่นโรคติดต่อ ซึ่งเราทราบกันดีอยู่แล้วว่าสิงคโปร์ให้ความสำคัญอย่างยิ่งยวดกับความสะอาด เนื่องจากสิงคโปร์เป็นประเทศที่มีสภาพอากาศร้อนชื้น เหมาะกับการบ่มเพาะเชื้อโรคเฉพาะกลุ่ม โดยเฉพาะโรคติดต่อที่เกิดจากยุง ซึ่งหลังทำศึกเป็นเวลานานกับโรคไข้เลือดออก ปีที่แล้วสิงคโปร์ยังต้องเผชิญกับการเข้ามาของไข้ซิก้าที่เกิดจากไวรัสซิก้าและมียุงเป็นพาหนะด้วย

●   ผลก็คือ บริษัทของวิศวกร หย่อง ได้รับว่าจ้างจากรัฐบาลสิงคโปร์ให้เป็นผู้พัฒนาระบบตรวจป้องกันโรคระบาด โดยเป็นชุดระบบเฉพาะที่รวมทั้งฮสร์ดแวร์และซอฟท์แวร์ในชื่อ Garuda Dragonfly หรือแมลงปอตราครุฑ ชุดระบบใช้โดรนติดตั้งกล้องถ่ายภาพร้อมกับเครื่องพ่นยาฆ่าแมลง โดยโดรนจะบินไปทุกพื้นที่เสี่ยงเพื่อตรวจสอบบริเวณที่อาจมีน้ำขัง รวมทั้งมีแมลงหลบซ่อน เมื่อพบแล้วก็จะพ่นยาฆ่าแมลงเพื่อกำจัดเสีย

●   โดยหลักการทำงานทั้งหมดนี้ หย่อง พบว่าเขาอาจสามารถนำไปใช้ในประเทศใกล้เคียงได้ ดังนั้น Garuda Robotics จึงมีแผนที่จะขยายงานไปยังประเทศเพื่อนบ้าน และประเทศภูมิภาคอื่น ขณะเดียวกันก็ยังสามารถติดตามการเคลื่อนไหวและเก็บข้อมูลในการใช้งานโดรนได้ด้วย

●   และเมื่อดูการทดลองใช้งานโดรนของสำนักซื้อขายหนังสือออนไลน์อย่างอเมซอน ในการใช้โดรนส่งมอบหนังสือและผลิตภัณฑ์ให้ลูกค้า เรายังสามารถดูการค้นคว้าของนักวิจัยเพื่อวางระบบการใช้งานโดรนเพื่อให้การช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมได้อีกด้วย ซึ่งการช่วยเหลือในลักษณะนี้ โดรนสามารถทำได้ดีกว่ามนุษย์ เช่น ไม่ต้องกังวลเรื่องระยะทางและความทุรกันดาร ดังนั้นต่อไปชาวโลกน่าจะได้เห็นโดรนนำเสื้อผ้า อาหาร และยารักษาโรคไปให้ผู้ประสบภัยในพื้นที่ต่างๆ โดยทั่วถึง เพราะหากใครไม่ได้รับ ก็เพียงแค่แจ้งกลับไปยังศูนย์ ตัวโดรนก็จะสามารถบินย้อนกลับไปส่งได้ทันที

●   จะเห็นว่าการใช้โดรน (อย่างสร้างสรรค์) กำลังแพร่หลายไปทุกมุมโลก ดังนั้นจึงมีการประเมินกันว่า ในปี 2020 หรืออีก 3 ปีข้างหน้า ธุรกิจอากาศยานไร้คนขับจะมีมูลค่าซื้อขายที่มหาศาลถึง 127,300 ล้านเหรียญ หรือประมาณ 4.2 ล้านล้านบาท บวกลบคูณหารแล้วเป็นจำนวนเงินที่สูงกว่างบประมาณประเทศไทยเกือบเท่าตัว ส่วนใหญ่เป็นมูลค่าอากาศยาน ทว่าส่วนที่น่าสนใจคือ อากาศยานไร้คนขับส่วนมากจะถูกซื้อเพื่อนำไปทดลองใช้งานในด้านต่างๆ วิทยาการอื่นๆ พร้อมเมื่อไหร่ก็จะมีการซื้อสมทบเข้าไปอีกจำนวนหนึ่ง เพื่อนำไปใช้งานตามที่ต้องการ

●   ประเทศไทยน่าจะ หรือควรจะมีโอกาสเป็นมหาอำนาจในเรื่องโดรน อย่างน้อยที่สุดก็ควรจะเป็นหนึ่งในระดับภูมิภาค เนื่องจากขณะนี้เด็กไทยกำลังตื่นตัวกับวิทยาการสาขานี้ อีกทั้งยังมีสถานศึกษาในระดับที่สามารถคิดค้นและสร้างโดรนได้ โดยจะเป็นการพัฒนาการสร้างไปพร้อมๆ กับสร้างผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง

●   ทำเถอะ… ทำเร็วๆ โอกาสจะเป็นประเทศมั่งคั่งรออยู่แล้ว ทิศทางการทำธุรกิจของโลกกำลังรอให้คนรุ่นใหม่เข้ามาสานฝันกันเห็นๆ   ●