November 10, 2017
Motortrivia Team (10069 articles)

VW จับมือ Google พัฒนาระบบ Quantum Computing สำหรับรถยนต์

เรื่อง : AREA 54

●   โฟล์คสวาเก้น และ กูเกิล เตรียมร่วมมือกันยกระดับการพัฒนาชุดระบบควบคุมรถแบบใหม่ ซึ่งหากประสบความสำเร็จจะนับเป็นการยกระดับรถยนต์ที่ใช้ระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติขึ้นไปอีกขั้นอย่างแท้จริง โดยจะเป็นการก้าวกระโดดครั้งใหญ่และเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ รวมทั้งเพิ่มความปลอดภัยให้กับผู้ใช้ยานพาหนะทุกรูปแบบด้วย

●   มีรายงานว่าโฟล์คฯ ตั้งใจจะนำระบบ “การประมวลผลด้วยควอนตัม” หรือ Quantum Computing มาใช้งานในรถยนต์ โดยอาศัยความสามารถของ “คอมพิวเตอร์ที่มีการคำนวณด้วยระบบควอนตัม” หรือ Quantum Computer โดยมันจะทำหน้าที่คำนวณและบริหารจัดการชุดระบบย่อยทุกอย่างภายในรถ ไม่ว่าจะเป็นระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) สำหรับควบคุมและให้คำแนะนำผู้ขับ, การคาดการณ์สถานการณ์การจราจร ไล่ไปจนถึงการควบคุมและตัดสินใจแทนผู้ขับในกรณีที่เรียกใช้งานระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติ ในเบื้องต้นโฟล์คฯ และกูเกิลจะใช้เทคโนโลยีนี้ในการจำลองการทำงาน และทดลองพัฒนาแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์พลังงานไฟฟ้าในรูปแบบใหม่ๆ ด้วย

●   ทางฝั่งกูเกิลนั้น ผู้ที่ติดตามข่าวสารในแวดวง IT น่าจะยังจำกันได้ว่า ในปี 2015 กูเกิลและองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐฯ หรือ NASA ได้เริ่มทดลองใช้งานคอมพิวเตอร์ที่คำนวณด้วยระบบควอมตัมมาแล้ว (คอมพิวเตอร์ที่ใช้การคำนวณด้วยกระบวนการ Quantum Computing เรียกว่า Quantum Computer) โดยกูเกิลและนาซ่าได้ทดลองนำควอนตัม พิวเตอร์ ของบริษัท D-Wave Systems Inc. มาช่วยคำนวณสมการระดับสูง และระบุว่าความเร็วของมันนั้นอยู่ในระดับที่เร็วกว่าคอมพิวเตอร์ระดับองค์กรทั่วไปเฉลี่ยแล้วราว 100 ล้านเท่าตัว ทั้งยังช่วยร่นระยะเวลาในการคำนวณสมการที่ซับซ้อนด้วยคอมพิวเตอร์ระบบเดิมๆ จากระยะเวลาเป็นปีให้เหลือเพียงไม่กี่วินาทีเท่านั้น

●   นั่นหมายถึงในอนาคตหากแผนงานนี้สัมฤทธิ์ผล ชุดระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติและชุดระบบความปลอดภัยในรถจะตอบสนองต่อสถานการณ์ต่างๆ บนท้องถนนได้รวดเร็วยิ่งกว่าเดิมหลายร้อยหลายพันเท่า… เมื่อถึงจุดนั้น คำถามในการร่างกฏหมายที่ว่า “มนุษย์ยังจำเป็นสำหรับการเข้าไปแทรกแซงระบบเพื่อแก้ไขสถานการณ์อยู่หรือไม่?” ก็น่าจะได้รับคำตอบที่ชัดเจนแล้ว ย้ำ… ในกรณีที่แผนงานนี้สำเร็จ มีการผลิตแบบเชิงปริมาณ และไม่ใช่รถราคาแพงบ้าเลือดจนคนทั่วไปไม่สามารถซื้อหามาใช้งานได้นะครับ

D-Wave 2000Q ควอนตัม คอมพิวเตอร์ รุ่นล่าสุดของ D-Wave ที่เปิดตัวไปเมื่อเดือนมกราคม 2017

●   ทั้งนี้ ในช่วงปี 2015 กูเกิลระบุว่ามันทำงานได้อย่างรวดเร็วจนน่าอัศจรรย์ก็จริง ทว่าควอนตัม คอมพิวเตอร์ ยังเป็นเทคโนโลยีใหม่มาก การพัฒนาสำหรับการผลิตในเชิงปริมาณก็ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นเท่านั้น และน่าจะใช้เวลาอย่างน้อยๆ มากกว่า 10 ปีขึ้นไป… ตรงนี้ อันที่จริงแล้วนักวิเคราะห์การตลาดก็คาดเอาไว้ว่า อุตสาหกรรมยานยนต์จะเริ่มเข้าสู่ยุคเปลี่ยนผ่านในช่วงปี 2020 และจะเริ่มแข่งขันกันอย่างรุนแรงจริงๆ ก็ในปี 2025 เป็นต้นไป เนื่่องจากเทคโนโลยีต่างๆ น่าจะเริ่มนิ่งขึ้น มีทิศทางชัดเจนขึ้น และมีต้นทุนในการผลิตที่ลดลงจากการแข่งขันกันของผู้ผลิตด้วย

●   ก็ถือว่าใกล้เคียงกับที่กูเกิลคาดการณ์เอาไว้ว่า กว่าที่ควอนตัมคอมพิวเตอร์จะใช้งานในเชิงพาณิชย์ได้ก็ต้อง 10 ปีขึ้นไปครับ

●   ปัจจุบัน กูเกิล, นาซ่า ได้ขยายความร่วมมือในการติดตั้งควอนตัม คอมพิวเตอร์ ร่วมกับสมาคมวิจัยอวกาศมหาวิทยาลัย หรือ Universities Space Research Association โดยใช้ชุดระบบรุ่นล่าสุดซึ่งนับเป็นเจนเนอเรชั่นที่ 3 ของ D-Wave แล้ว

●   ทางด้านโฟล์คฯ Martin Hofman หัวหน้าแผนกเทคโนโลยีสารสนเทศขององค์กร (CIO) ให้ความเห็นว่า เทคโนโลยีควอนตัน คอมพิวเตอร์ นั้นได้เปิดมิติใหม่ให้กับพวกเขา ซึ่งโฟล์คฯ ได้แสดงเจตจำนงอย่างชัดเจนว่า ต้องการเป็น “บริษัทแรกที่ใช้ควอนตัม คอมพิวติง ในการคำนวณให้ได้เร็วที่สุด” ก่อนที่ในอนาคตเทคโนโลยีนี้จะกลายเป็นเทคโนโลยีที่บริษัททั่วๆ ไปเข้าถึงได้ในเชิงพาณิชย์ และการที่โฟล์คฯ ขยายความร่วมมือกับกูเกิลในครั้งนี้ ก็เพราะอยากจะเห็นว่าควอนตัม คอมพิวติง นั้นจะเปลี่ยนแปลงและนำพาอุตสาหกรรมการพัฒนารถยนต์ไปได้ไกลขนาดไหน

●   โฟล์คฯ เองนั้นก็ไม่ใช่มือใหม่ไร้ทิศทางในการใช้งานควอนตัน คอมพิวเตอร์ มาเลย ก่อนหน้านี้โฟล์คฯ เคยใช้ควอนตัม คอมพิวเตอร์ มาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการเส้นทางเดินรถของแท๊กซี่ราว 10,000 คันในกรุงปักกิ่งมาแล้ว ดังนั้นความร่วมมือกันระหว่างโฟล์คฯ และกูเกิลในครั้งนี้น่าจะเป็นการดำเนินแผนงานสำคัญที่มีเปอร์เซ็นต์ความสำเร็จสูงมากครับ… ต่างคนต่างก็มองการณ์ไกลทั้งคู่   ●