September 30, 2017
Motortrivia Team (10196 articles)

Google ประเทศไทย เผยผลวิจัยพฤติกรรมก่อนการตัดสินใจซื้อรถ


ภาพ : จันทนา เจริญทวี

 

●   Google ประเทศไทย เปิดงานแถลงข่าวกลุ่มย่อยในหัวข้อ Think Auto โดยเผยงานวิจัยชิ้นใหม่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศไทยไทย และพฤติกรรมการเลือกซื้อรถยนต์ในยุคปัจจุบันที่สื่อมีการนำเสนอข้อมูลที่หลากหลายก่อนตัดสินใจ เผย 8 ใน 10 หรือคิดเป็น 84% ของผู้ที่ซื้อรถใหม่ ตัดสินใจซื้อรถโดยไม่มีการทดลองขับจริงหลังรับชมวิดีโอแบบ 360 องศา

●   งานวิจัยชิ้นนี้มีขึ้นภายใต้หัวข้อ “Drive to Decide” โดยความร่วมมือระหว่าง Google และบริษัทวิจัยการตลาด TNS ซึ่งแสดงให้เห็นถึงกระบวนการที่ซับซ้อนของผู้บริโภคก่อนตัดสินใจซื้อรถยนต์ โดยทำการสัมภาษณ์ผู้ซื้อรถใหม่ทั้งเพศชายและเพศหญิง จำนวนทั้งสิ้น 518 ราย ที่มีการซื้อรถยนต์ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งผู้บริโภคส่วนใหญ่ได้รับข้อมูลข่าวสารที่ดีขึ้นกว่าเดิม จากช่องทางการค้นหาผลิตภัณฑ์และบริการ ทำให้ผู้บริโภคมีจุดประสงค์ที่ชัดเจนเกี่ยวกับแบรนด์และรุ่นรถที่ต้องการจะซื้อก่อนเข้าไปที่โชว์รูม

●   ทั้งนี้ ผลการวิจัยใหม่นี้ นับเป็นผลการวิจัยอย่างต่อเนื่องหลังจากที่ในปี 2559 ที่ผ่านมา Google และ TNS ได้ปล่อยข้อมูลผลสำรวจแรกออกมาว่า สมาร์ทโฟนมีส่วนในการตัดสินใจในการเลือกซื้อรถใหม่หรือไม่?.

●   สำหรับผลการวิจัยล่าสุดนี้ Google และ TNS พบว่า ผู้ซื้อรถใหม่ในไทยส่วนใหญ่ใช้เวลาประมาณ 2 เดือนในการพิจารณาข้อมูล โดยมีการเปิดใจรับฟังความคิดเห็นต่างๆ ในช่วงการหาข้อมูล หลังจากพิจารณาแบรนด์รถยนต์ที่สนใจเฉลี่ย 2.4 แบรนด์ก่อนทำการตัดสินใจ ในขณะที่กลุ่มตัวอย่าง 74% เริ่มต้นหาข้อมูลโดยที่ยังไม่มีตัวเลือกที่แน่นอนไว้ในใจ

●   จุดนี้ Google ระบุว่าเป็นข่าวดีสำหรับนักการตลาดที่ต้องการสร้างอิทธิพลต่อผู้บริโภค โดยเสิร์ชเอนจินนั้นมีอิทธิพลมากที่สุด และ 9 ใน 10 หรือคิดเป็นสัดส่วนถึง 96% ของผู้ซื้อรถ พบว่าเสิร์ชเอนจินเป็นเครื่องมือในการหาข้อมูลที่มีอิทธิพลมากที่สุด ในทุกขั้นตอน” ของการศึกษาหาข้อมูล

●   นายภูมิภัส ฉัตรแก้ว ผู้จัดการกลุ่มอุตสาหกรรมรถยนต์ Google ประเทศไทย กล่าวว่า “งานวิจัยชิ้นใหม่นี้ให้ข้อมูลเชิงลึกที่ดีมากเกี่ยวกับพฤติกรรมการเลือกซื้อรถยนต์ของคนไทยในปัจจุบัน ในช่วงระยะเวลา 2 เดือนที่จะซื้อรถใหม่ สื่อออนไลน์มีบทบาทที่สำคัญเป็นอย่างมาก คนไทยมากกว่า 9 ใน 10 (96%) ใช้เสิร์ชเอนจินในการหาข้อมูลเกี่ยวกับแบรนด์รถยนต์ รายละเอียด และแม้กระทั่งตัวแทนจำหน่าย มันแปลกใจที่ว่าไม่ใช่แค่เสิร์ชเอนจินที่มีผลในการตัดสินใจของผู้บริโภค เกือบ 9 ใน 10 (88%) ของผู้ที่ซื้อรถกล่าวว่าวิดีโอออนไลน์ก็มีผลในการเลือกแบรนด์ด้วยเช่นกัน”

●   ทั้งนี้ วิดีโอคลิปมีบทบาทในการเลือกแบรนด์ด้วยเช่นกัน โดย 9 ใน 10 หรือคิดเป็นสัดส่วน 88% ให้ข้อมูลว่า พวกเขาเลือกดูวิดีโอออนไลน์เพื่อประกอบการตัดสินใจซื้อ และ 87% ระบุว่าวิดีโอออนไลน์ทำให้พวกเขาพบรถรุ่นใหม่ที่ไม่เคยคิดจะซื้อมาก่อน และเกือบครึ่งหนึ่ง หรือคิดเป็นสัดส่วน 49% บอกว่า พวกเขาดูวิดีโอออนไลน์เกี่ยวกับรถยนต์ก่อนที่จะเข้าไปสอบถามกับตัวแทนจำหน่าย และวิดีโอแบบ 360 องศา สามารถใช้แทนการทดลองขับจริงได้ ทั้งนี้ 8 ใน 10 หรือคิดเป็นสัดส่วน 84% กล่าวว่า วิดีโอแบบ 360 องศาสามารถโน้มน้าวให้พวกเขาตัดสินใจซื้อรถยนต์โดยไม่ต้องมีการทดลองขับคันจริงก่อนตัดสินใจ

●   ด้านนักการตลาด งานวิจัยนี้แสดงให้เห็นว่า ควรเข้าหาผู้บริโภคตั้งแต่ในช่วงการเริ่มต้นหาข้อมูล ไปจนถึงเวลาของการตัดสินใจ แบรนด์ที่เริ่มต้นได้ดีไม่เพียงเเต่เข้าถึงผู้บริโภค แต่ต้องนำเสนอข้อมูลที่เกี่ยวข้องและมีประโยชน์ตั้งแต่วินาทีเเรก

●   นายศรุต อิงคะวัต ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด ฟอร์ด ประเทศไทย กล่าวเสริมว่า “ฟอร์ดสร้างความความเเตกต่างในการเข้าถึงผู้บริโภคในอุตสาหกรรมรถยนต์ที่มีการแข่งขันสูงด้วยกลยุทธ์ Digital First โดยสื่อสารกับผู้บริโภคผ่านทางสื่อดิจิทัล การโฆษณาของเราสร้างขึ้นจากพื้นฐานการวิเคราะห์ที่มั่นคงเพื่อให้มั่นใจว่าผู้บริโภคไม่เพียงแค่รู้จักแต่ยังเข้าถึงฟอร์ดด้วย การทำงานร่วมกับ Youtube มีผลอย่างมากในการสร้างการรับรู้แบรนด์ และการเติบโตของธุรกิจของเรา เราไม่เพียงแต่ก้าวข้ามปีที่ท้าทายในการทำยอดขายรถ แต่เรายังมีประสิทธิภาพที่สูงและพัฒนามากกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับแบรนด์ใหญ่รายอื่นๆ”

●   สมาร์ทโฟนและอุปกรณ์เคลื่อนที่เช่นแท๊บเลท ยังคงเป็นปัจจัยหลักในการใช้ค้นหาข้อมูลของผู้บริโภคในปัจจุบัน… ไม่จำเป็นว่าผู้คนจะต้องยึดติดกับสื่อเดิมๆ เช่นโทรทัศน์ เพราะในขณะที่ผู้คนกำลังรับชมโทรทัศน์ ก็ยังสามารถค้นหาข้อมูลข่าวสารต่างๆ บนสมาร์ทโฟนหรือแท๊บเลทควบคู่กันไปได้ตลอดเวลา ซึ่ง Google ระบุว่าพฤติกรรมในลักษณะการใช้งานแบบ Mobile First หรือ Second-screening นี้ พุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงปี 2556 มีผู้ใช้งานสมาร์ทโฟนในลักษณะนี้ราว 56% และก้าวกระโดดขึ้นไปเป็น 75% ในปี 2559

●   นอกจากนี้ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา สถิติการขายสมาร์ทโฟนในประเทศไทยยังคงไม่ตกลงมากนัก โดยในปี 2559 ที่ผ่านมา สมาร์ทโฟนมียอดจำหน่ายรวมสูงถึง 14.8 ล้านเครื่อง (ปี 2014 ทำสถิติสูงสุด 15.7 ล้านเครื่อง) ดังนั้นออนไลน์คอนเทนท์ที่แสดงผลผ่านแพลทฟอร์มสมาร์ทโฟน ยังคงมีความสำคัญที่สุดทั้งในยุคปัจจุบันและในอนาคต   ●