September 19, 2017
Motortrivia Team (10202 articles)

ดูไบเตรียมเปิดบริการแท็กซี่บินได้… แล้วเรื่องความปลอดภัยว่าอย่างไร?


Posted by : Man from the Past

 

●   ทุกคนคงทราบกันดีอยู่แล้วถึงความทันสมัยของมหานครดูไบ นครรัฐแห่งนี้ทันสมัยทั้งอาคาร บ้านเรือน ถนนหนทาง บริการ สาธารณูปโภค และโทรคมนาคม จนกลายเป็นหนึ่งในศูนย์กลางเชื่อมโยงการเดินทางทางอากาศแห่งหนึ่งของโลก รวมทั้งศูนย์ขนถ่ายลำเลียงสินค้าไปยังเอเชียใต้และตะวันออกกลาง

●   ด้วยเหตุนี้เอง บรรดาผู้ประกอบกิจการการค้าระดับโลกจึงพากันไปเปิดสาขาที่นี่ รวมทั้งดึงดูดผู้บริหารระดับสูงและคนมีฝีมือด้านต่างๆ ให้ไปพำนักที่นี่ในเวลาเดียวกัน จนมีการวิตกกันว่า ต่อไปการเดินทางในนครรัฐอาจไม่สะดวกนัก หากยังต้องพึ่งบริการที่มีในปัจจุบัน และด้วยเหตุนี้ ดูไบจึงคิดเปิดบริการ Flying taxi หรือแท็กซี่บินได้เพื่อให้เป็นอีกทางเลือกหนึ่งของการเดินทาง (ในภาพประกอบเป็นรุ่น EHANG 184 หรืออากาศยานแบบ AAV : Autonomous Aerial Vehicles ของบริษัท EHANG, Inc.)

●   โครงการนี้ริเริ่มโดย Road and Transport Authority หรือ RTA หน่วยงานด้านคมนาคมขนส่งของรัฐบาลเมืองดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งประกาศว่า ไม่เกิน 5 ปีนับจากปี 2017 นี้ ทางองค์กรจะเริ่มทำการทดสอบเครื่องบินแท็กซี่ หรือแท็กซี่บินได้ที่เป็นอากาศยานแบบ 2 ที่นั่งไม่ใช้นักบิน คือจะมีเฉพาะผู้โดยสารนั่งในนั้น โดยในการใช้งาน ผู้โดยสารเพียงกดปุ่มแจ้งสถานที่ๆ จะไป จากนั้นผู้ควบคุมภาคพื้นดินจะทำการควบคุมการบินทั้งหมด โดยยานพาหนะประเภทนี้จะใช้ชื่อว่า Volocopter และมีความแตกต่างนานัปการจากอากาศยานที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน

●   ดังนั้น ก่อนจะเปิดให้บริการจริง องค์กร RTA จึงต้องร่วมมือกับองค์กรการบินพลเรือนดูไบ ในการวางกรอบกฏหมายและข้อพึงปฏิบัติในการใช้และให้บริการของอากาศยานชนิดนี้ ซึ่งหากสัมฤทธิ์ผลเมื่อไหร่ มันจะกลายเป็นกฏข้อบังคับพื้นฐานฉบับแรกของโลก

เทคโนโลยี… มี แล้วกฏหมายล่ะ?

●   ทั้งนี้ เราต้องเข้าใจด้วยว่า ในความเป็นจริงแล้ว Volocopter ก็คือ “อากาศยานไร้คนขับ” (Pilotless Aircraft) หรือ “โดรน” ที่มีขนาดใหญ่มากนั่นเอง มันมีใบพัดมากถึง 18 ใบ และสามารถบินอยู่ในอากาศได้นาน 30 นาที…. เพราะมันใหม่และแปลกแบบนี้ จึงต้องมีปัญหามากในการได้รับใบอนุญาติการบิน โดยเฉพาะประเด็นความปลอดภัยกับภาระรับผิดชอบที่จะต้องมีต่อผู้โดยสาร ดังนั้นในการจะทำให้ตัวบริการเกิดขึ้นจริง จึงต้องมีการเจรจาอีกนานกับองค์การการบินพลเรือนนานาชาติ หรือ International Civil Aviation Organization (ICAO)

●   ปัจจุบันยังไม่มีกฏข้อบังคับเกี่ยวกับสิ่งที่องค์การเรียกว่า “remotely controlled aircraft” (RAC) อากาศยานควบคุมจากทางไกล อย่างไรก็ดี ทางองค์การได้เริ่มกำหนดแล้วว่า จะนำแนวทางการวางกฏข้อบังคับเข้าเสนอต่อที่ประชุมใหญ่ปลายปี 2017 นี้ที่แคนาดา

●   ถึงจะยังไม่มีกฏหมายควบคุม ทว่าวิทยาการอากาศยานไร้คนขับดูเหมือนมีทุกอย่างครบถ้วนแล้ว ล่าสุด Aurora Flight Sciences บริษัทอเมริกันที่กำลังคิดเอาดีทางนี้ได้นำเครื่องบินเล็ก 2 ใบพัดไม่ใช้คนขับออกทดสอบ ในขณะที่ทั้งกองทัพและองค์การอวกาศสหรัฐฯ ต่างยอมรับว่า กำลังขมักเขม้นทำการวิจัยระดับรุดหน้า เช่นเดียวกันบริษัทโบอิ้ง และบริษัทแอร์บัส 2 ยักษ์ใหญ่ด้านเครื่องบินโดยสาร ก็ยอมรับด้วยเช่นกัน

●   Tom Enders ซีอีโอของแอร์บัสได้ประกาศเมื่อต้นปีที่ผ่านมาว่า จะเริ่มทดสอบเครื่องบินที่นั่งเดี่ยวแบบไม่ใช้นักบินในช่วงปลายปี 2017 นี้ โดยยังเป็นเครื่องบินที่บริษัท “กำลังขมักเขม้นพัฒนาอย่างที่สุด” ส่วนโบอิ้งที่รู้กันแล้วว่ากำลังวิจัยเพื่อนำวิทยาการปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI (Artificial intelligence) ไปใช้แทนนักบินนั้น Mike Sinnett รองประธานฯ รับผิดชอบด้านวิทยาการในอนาคตของโบอิ้ง ได้แถลงเมื่อเดือนมิถุนายนว่า “บริษัทมีองค์ประกอบพื้นฐานวิทยาการนี้แล้ว”

มีนักบินหรือไม่มีนักบิน ต่างกันอย่างไร?

●   ทั้งนี้ในกรณีของโบอิ้ง John Tracy หัวหน้านักวิทยาการบรรษัท ได้เคยตั้งคำถามเมื่อ 2 ปีที่แล้วว่า “ผู้โดยสารที่เดินทางด้วยเครื่องบิน จะรู้สึกสบายใจหรือไม่หากต้องขึ้นเครื่องบินที่ปลอดนักบิน?”

●   คำถามนี้มีคำตอบออกมาจากคนในวงการว่า เครื่องบินสมัยนี้ส่วนใหญ่เวลาทำการบินนั้น มีการบินด้วยระบบอัตโนมัติอยู่แล้ว หากเปรียบเทียบกับระบบนักบินอัตโนมัติ นักบินจริงที่บินเครื่องบินพาณิชย์ใช้เวลาเพียงร้อยละ 5 เท่านั้นในการควบคุมบังคับเครื่องที่กำลังบิน

●   เมื่อมีคำตอบออกมาเช่นนี้ ก็เลยมีการเป็นห่วงถึงความปลอดภัยในการบิน เมื่อดูจากกรณีเครื่องบินแอร์บัส 320 ของสายการบิน US Airways ที่แล่นลงอย่างปลอดภัยในแม่น้ำฮัดสันบริเวณนครนิวยอร์กเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2009 หลังเครื่องยนต์ถูกฝูงนกทำลายเสียหายขณะกำลังร่อนลง ซึ่งการลงจอดแบบฉุกเฉินเช่นนี้ สามารถช่วยชีวิตผู้โดยสารในเครื่องบินได้ถึง 155 คน โดยฝีมือของ Chesley “Sully” Sullenberger กับ Jeffrey Skiles ซึ่งในกรณีนี้ Sullenberger นั้นเป็นนักบินที่มีประสบการณ์การบินมายาวนานเกือบ 30 ปี

●   อีกกรณี Andreas Lubitz นักบินวัย 28 ปีแห่งสายการบิน Germanwings ล็อคห้องนักบินไม่ให้นักบินด้วยกันเข้าไป จากนั้นก็บังคับเครื่องบินแอร์บัส 320 ให้บินชนเทือกเขาแอลป์ในฝรั่งเศส โดยระยะจากบนอากาศจนถึงพื้นที่ปะทะนั้น ไกลเกือบ 12,000 เมตร เหตุการณ์นี้เกิดวันที่ 24 มีนาคม 2015 และมีผู้เสียชีวิตที่เป็นผู้โดยสาร 144 คน กับพนักงานประจำเครื่องบิน 6 คน… มีการสอบสวนสาเหตุและพบว่า นักบินคนดังกล่าวมีประวัติป่วยทางจิตและได้ปกปิดเรื่องนี้ตอนสมัครงาน

●   การร่อนลงจอดในแม่น้ำฮัดสันนั้นไม่มีคนเสียชีวิต ในขณะที่การพุ่งชนเทือกเขาแอลป์มีคนเสียชีวิตทั้งลำ ทั้ง 2 กรณีชี้ให้เห็นว่า การใช้นักบินขับเครื่องบินมีทั้งข้อดีและไม่ดี โดยข้อดีครั้งนี้ยังเป็นข้อดีชั้นเลิศที่เกิดจากนักบินมากฝีมือ… ส่วนข้อที่ไม่ดีเอามากๆ กลับกลายเป็นตัวนักบินเช่นกัน เพราะความบกพร่องดังกล่าวคงไม่มีวันป้องกันได้ ตราบใดยังใช้นักบินเป็นผู้ขับเครื่องบิน

●   วงการการบินพาณิชย์มีการเตรียมแก้ไขทั้ง 2 ปัญหาแล้ว นั่นคือ ในขณะที่ระบบคอมพิวเตอร์ทำการควบคุมเครื่องบินมากขึ้น ก็มีการเพิ่มนักบินประจำศูนย์ควบคุมควบคู่กันไปด้วย เพื่อให้นักบินเหล่านี้ควบคุมนักบินที่กำลังขับเครื่องบินได้ใกล้ชิดยิ่งขึ้น

●   จะเห็นได้ว่า ความปลอดภัยขั้นสูงสุดจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการให้บริการการบิน ยิ่งเป็นบริการการบินแบบแท็กซี่ที่ใช้อากาศยานขนาดเล็กแบบปลอดนักบินด้วยแล้วยิ่งจำเป็นเข่าไปใหญ่ ดังนั้นคงอีกหลายปีกว่าดูไบจะเปิดบริการแท็กซี่บินได้จริง… เทคโนโลยีนั้นมี แต่กฏหมายต้องมีความชัดเจนมากกว่านี้ โดยเฉพาะในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุ ใครจะเป็นผู้ที่รับผิดชอบบ้าง

●   แต่ก็ไม่เป็นไร ณ เวลานี้แค่ประกาศทดสอบก็คงพอแล้วในการทำดูไบให้เป็นนครรัฐที่ทันสมัยในระดับสูงสุด จนคนทันสมัยและอยากทันสมัย พากันไปพำนักเพิ่มขึ้น หรืออย่างน้อยก็ไปเยือนบ่อยขึ้น เพื่อสัมผัสกับเทคโนโลยีต่างๆ   ●


EHANG 184 : Autonomous Aerial Vehicles