August 5, 2017
Motortrivia Team (10196 articles)

Toyota เปิดศักราช Ridesharing ผ่านโปรเจคท์ Ha:mo ร่วมกับจุฬาลงกรณ์

เรื่อง : AREA 54  •  ภาพ : จันทนา เจริญทวี

 

●   หากคุณผู้อ่านยังจำรายละเอียดเกี่ยวกับแผนงานสร้างเครือข่าย Ridesharing ของโตโยต้าในชื่อ Ha:mo หรือ Harmonious Mobility Network กันได้ ในปี 2014 โตโยต้าได้เปิดแผนงานนี้นอกประเทศญี่ปุ่นเป็นครั้งแรกที่เมืองเกรอน๊อบบ์ ประเทศฝรั่งเศส ล่าสุดโตโยต้า ประเทศไทย และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ร่วมมือกันเปิดแผนงานทดลอง Ha:mo ในไทยอย่างเป็นทางการแล้ว โดยมีการปล่อยรายละเอียดเบื้องต้นในงาน Toyota Expo 2017 เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2560 ที่ผ่านมา

●   เดิมทีโปรเจคท์ Ha:Mo คือแนวคิดในการสร้างเครือข่ายขนส่งสาธารณะขนาดจิ๋วหลายๆ ส่วนย่อย ประกอบเข้าด้วยกันจนเป็นเครือข่ายขนาดยักษ์ครอบคลุมทั่วทั้งเมือง เริ่มต้นที่ Toyota City, โตเกียว, โอกายาม่า และโอกินาวา องค์ประกอบหลักของ Ha:mo แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ Ha:mo NAVI ระบบให้ข้อมูลส่วนกลาง วิเคราะห์สภาพเส้นทางที่เหมาะสมหลากหลายรูปแบบให้กับผู้ใช้บริการ และ Ha:mo RIDE บริการ Ridesharing ด้วยรถไฟฟ้าขนาดเล็ก (Ultra-compact Electrical Vehicle) ที่ซอยย่อยลงไปในระดับ สถานี – สถานี หรือ จุดหมาย A – B ในระยะทางสั้นๆ

●   ตัวรถที่โตโยต้าใช้ในโครงการคือ Toyota i-Road Concept และรุ่นพี่อย่าง Toyota COMS ซึ่งเป็นผลงานของบริษัทในเครือ Toyota Auto Body Co. ทั้งคู่เป็นรถแบบ “PMV” หรือ Personal Mobility Vehicle พาหนะส่วนบุคคลที่นั่งเดี่ยว ทำความเร็วสูงสุดได้ประมาณ 60 กม./ชม. เพียงพอต่อการใช้งานในเมืองใหญ่ที่มีสภาพการจราจรแออัด และสามารถวิ่งซอกซอนเข้าไปในตรอกซอกซอยได้อย่างคล่องตัว

●   โตโยต้าคาดว่าเครือข่าย Ha:mo จะช่วยเพิ่มการใช้ระบบขนส่งสาธารณะมากขึ้น เช่น [ ขับรถส่วนตัวจากบ้าน > จุดจอด > ขนส่งสาธารณะ > Ha:mo RIDE > ที่ทำงาน ] เป็นต้น ดังนั้นมลพิษในเมืองใหญ่จะลดลง และมีการใช้พื้นที่สาธารณะได้คุ้มค่ายิ่งขึ้น เนื่องจากพาหนะในโปรแกรม Ha:mo RIDE นั้นมีขนาดเล็กมาก ช่วยให้ซอยที่จอดรถได้มากยิ่งขึ้น คิดเป็นประมาณ 1:4 ของพื้นที่จอดรถต่อคันในปัจจุบัน


จุดบริการ Ha:mo ในฝรั่งเศส


มีค่าใช้จ่ายไหม?

●   มีครับ… ในฝรั่งเศสเริ่มให้บริการเป็นทางการในช่วงปลายปี 2014 มีรถ PMV ทั้งหมดรวม 70 คันคละกันไปทั้ง 2 รุ่น มีโครงข่ายเชื่อมต่อกันทั้งหมด 27 สถานี มีสถานีชาร์จเอาไว้รองรับ 150 จุด เฉลี่ย 5 จุดจอดชาร์จต่อ 1 สถานี ผู้ที่สนใจใช้บริการต้องมีอายุ 18 ปีขึ้นไป ครอบครองใบขับขี่ที่ถูกต้องตามกฏหมาย เมื่อลงทะเบียนแจ้งหลักฐานครบแล้วจะสามารถดาวน์โหลด app สำหรับสมาร์ทโฟน, แทบเลท หรือเดสค์ท๊อปไปใช้งานได้

●   อัตราค่าเช่า 15 นาทีแรก 3 ยูโร หรือประมาณ 123 บาท, 15-30 นาที +2 ยูโร ราคาเต็ม 5 ยูโร หรือราว 205 บาท, 30-45 นาที +1 ยูโร ราคาเต็ม 6 ยูโร หรือราว 246 บาท, 45-60 นาที +1 ยูโร ราคาเต็ม 7 ยูโร หรือราว 287 บาท หมดจากราคานี้เป็นราคาแบบเหมา 2 ชั่วโมง 11 ยูโร หรือราว 451 บาท และแบบ 4 ชม. 19 ยูโร หรือราว 780 บาท หากมีการจองใช้งานร่วมกับแพคเกจบริการขนส่งสาธารณะจะได้รับเรทพิเศษในราคาที่ต่ำกว่าปกติเฉลี่ย 1-2 ยูโร ขึ้นอยู่กับแพคเกจ เช่น จองร่วมกับบริการจุดจอดจักรยานผู้ให้บริการ หรือจองร่วมกับบริการรถไฟที่วิ่งภายในแคว้นของ TER

กำเนิด Ha:mo ในประเทศไทย

●   สำหรับโครงการ Ha:mo ในบ้านเรา ใช้ชื่อว่า “CU TOYOTA Ha:mo” เบื้องต้นเป็นความร่วมมือระหว่างโตโยต้า และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยนับเป็นการเปิดวิสัยทัศน์การเชื่อมยานพาหนะเข้ากับเครือข่ายผ่านเทคโนโลยี IoT : Internet of Things เป็นครั้งแรกของแบรนด์ผู้ผลิตรถยนต์ (ในไทย) อย่างเป็นทางการ ซึ่งในปี 2559 ที่ผ่านมา โตโยต้าได้เปิด บริษัท คอนเน็คเต็ด ขึ้นมาเพื่อรองรับแผนงานนี้โดยเฉพาะ

●   มร. เคอิจิ ยามาโมโตะ เจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น และรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท คอนเน็คเต็ด ให้ความเห็นว่า “Ha:mo คือการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็กร่วมกัน ซึ่งเหมาะกับการเดินทางระยะสั้นในเมือง เมื่อขับรถไปถึงที่หมายแล้ว ผู้ใช้รถ Ha:mo สามารถจอดรถทิ้งเอาไว้ได้เลย Ha:mo ช่วยให้ผู้คนเดินทางจากจุดเริ่มต้นไปยังจุดหมายปลายทางได้ง่ายขึ้น การเปิดตัว Ha:mo ในกรุงเทพฯ นับเป็นการริเริ่มสร้างต้นแบบของแนวทางการเดินทางต่อเนื่องหลายรูปแบบที่ช่วยแก้ปัญหาการจราจรในประเทศตลาดเกิดใหม่ ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่า คนไทยจะให้การยอมรับ Ha:mo โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มคนรุ่นใหม่ในอนาคต”

●   ทั้งนี้ โครงการ CU TOYOTA Ha:mo เป็นโครงการเนื่องในโอกาสครบรอบ 100 ปี การสถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และในโอกาสครบรอบ 55 ปี ของการก่อตั้งบริษัทโตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ในช่วงแรกจะเปิดทดลองใช้งานภายในพื้นที่โดยรอบของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเป็นเวทีเปิดเพื่อร่วมกันพัฒนาการรูปแบบการเดินทางยุคใหม่ของไทยในอนาคตด้วย ซึ่งบริษัท นักศึกษา นักวิจัย อาจารย์ บริษัท หรือองค์กรต่างๆ ที่สนใจ สามารถเข้ามามีส่วนร่วมกับโครงการนี้ได้

●   โตโยต้าและจุฬาฯ จะแบ่งการดำเนินโครงการเป็น 2 ระยะ : ระยะแรกคือ “ช่วงพัฒนา” กินระยะเวลา 2 ปี เริ่มตั้งแต่เดือนธันวาคม 2560 – พฤศจิกายน 2562 โดยเป็นการวิเคราะห์จ้อมูลการใช้งาน หลังจากนั้นจะมีการทบทวนและสรุปผลเพื่อเข้าสู่ระยะที่ 2 หรือ “การเปิดตัวธุรกิจ Ridesharing เต็มรูปแบบ” ซึ่งช่วงนี้จะมีการเปิดการทำงานร่วมกับหุ้นส่วนทางธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องกัน เพื่อขยายโครงข่าย (เชื่อมต่อโครงข่ายเล็กๆ จากจุดหนึ่งไปเชื่อมกับอีกจุดหนึ่ง) ไปยังพื้นที่อื่นๆ ในอนาคต


(จากซ้าย)  รองศาสตราจารย์ ดร.บุญไชย สถิตมั่นในธรรม รองอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มร.เคอิจิ ยามาโมโตะ เจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น และรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท คอนเน็คเต็ด และคุณนินนาท ไชยธีรภิญโญ ประธานคณะกรรมการ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด


รายละเอียดการให้บริการในโครงการ

●   การเปิดบริการในเดือนธันวาคม 2560 นี้ จะมีรถให้บริการทั้งหมด 10 คัน (Toyota COMS) และจะเพิ่มขึ้นอีก 20 คันในช่วงกลางปี 2561 (รวม 30 คัน) พื้นที่การให้บริการครอบคลุมในบริเวณจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยทั้ง 2 ฝั่ง มีสถานีย่อยสำหรับจอดรถ 12 สถานี มีสถานีชาร์จแบตเตอรี่ 10 สถานี และมีช่องจอดรถให้บริการทั้งหมด 33 ช่องจอด ผู้ใช้บริการสามารถเชื่อมต่อกับบริการสาธารณะ เช่น รถไฟฟ้า BTS, MRT หรือรถโดยสารประจำทางได้สะดวก กลุ่มเป้าหมายหลักในเบื้องต้นคือ นิสิต อาจารย์ บุคลากร และประชาชนทั่วไป

●   ในชั้นต้น ผู้ใช้บริการต้องสมัครเป็นสมาชิกของโครงการผ่านระบบออนไลน์ หรือสมัครด้วยตนเองที่สำนักงานโครงการในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อัตราค่าบริการเริ่มต้น 30 บาทต่อครั้ง ซึ่งสามารถใช้รถได้ประมาณ 20 นาที

●   รองศาสตราจารย์ ดร.บุญไชย สถิตมั่นในธรรม รองอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็นว่า “จากวิสัยทัศน์ของเรา เรามุ่งมั่นที่จะเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลก โดยสร้างความรู้และนวัตกรรมที่จำเป็นสำหรับการพัฒนาสังคมไทยอย่างสร้างสรรค์และยั่งยืน เราก่อตั้งโครงการศูนย์กลางนวัตกรรมแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (CU Innovation Hub) เมื่อปีที่แล้ว เพื่อเป็นเวทีสำหรับพัฒนาทั้งนวัตกรและนวัตกรรม อันเป็นการปูทางเพื่อก้าวสู่การเป็นมหาวิทยาลัยของประเทศที่มีศักยภาพเชิงนวัตกรรมในระดับโลก เพื่อเปลี่ยนผ่านวิถีชีวิต การเรียนรู้ และการทำกิจกรรมต่างๆ ของคนไทย นอกจากนี้ เรายังพัฒนาโครงการใหญ่ภายในบริเวณมหาวิทยาลัยด้วยชื่อโครงการ เมืองจุฬาฯ อัจฉริยะ (CU Smart City) เพื่อเป็นต้นแบบอนาคตของกรุงเทพฯ ในหลากหลายมิติ เช่น พลังงาน การเดินทาง หรือสิ่งแวดล้อมเป็นต้น เรามีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมมือกับโตโยต้าในโครงการนี้ และพร้อมสนับสนุนโครงการเพื่อร่วมพัฒนาสังคมการเดินทางในอนาคตภายใต้แนวคิด เวทีเปิดทางนวัตกรรม”

●   แม้จะเป็นการเริ่มต้นในพื้นที่จำกัด แต่นี่คือการก้าวสู่ยุคใหม่ของการเดินทางอย่างแท้จริงแล้วครับ motortrivia ได้แต่หวังว่า โตโยต้าจะสามารถขยายเครือข่ายย่อยเชื่อมต่อกันได้ทั่วกรุงเทพฯ ในอนาคต   ●


Toyota Expo 2017