June 5, 2017
Motortrivia Team (10196 articles)

Toyota สหรัฐฯ เตรียมรันระบบอินโฟเทนเมนท์ด้วย Linux


Posted by : AREA 54

 

●   โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ป ประเทศญี่ปุ่น ประกาศว่า Toyota Camry รุ่นปี 2018 ที่เตรียมจำหน่ายในสหรัฐฯ จะเป็นรถรุ่นแรกของบริษัทที่รัน ระบบอินโฟเทนเมนท์ รุ่นใหม่ด้วย AGL หรือ Automotive Grade Linux ซึ่งใช้พื้นฐานของซอฟท์แวร์/ระบบปฏิบัติการแบบเปิดเสรี (Open-source) อย่างลินุกซ์ (Linus Torvalds ผู้พัฒนา Linux เคยให้สัมภาษณ์ว่า คุณจะออกเสียงเรียกมันว่า ลินุกซ์, ไลนักซ์, ลินิกซ์ หรืออะไรก็ได้ตามใจคุณ)

●   ย้อนกลับไปในช่วงต้นปี 2016 John Hanson ผู้จัดการแผนกเทคโนโลยีสื่อสารระดับแอดวานซ์ของโตโยต้า เคยให้สัมภาษณ์กับนิวยอร์ค ไทมส์ ว่า เหตุที่โตโยต้ายังไม่ติดตั้งฟังก์ชั่น Android Auto หรือ Apple CarPlay เพื่อแสดงผลการทำงานของสมาร์ทโฟนบนจอกลางในระบบอินโฟเทนเมนท์ให้กับรถที่จำหน่ายในสหรัฐฯ เนื่องจากโตโยต้าต้องการพัฒนาแพลทฟอร์มขึ้นมาใช้เองแบบ in-house ต่างจากแบรนด์ผู้ผลิตอื่นๆ ที่ไล่ติดตั้งฟังก์ชั่นนี้ให้กับรถรุ่นต่างๆ ตามการปรับรุ่นปีโดยไม่ต้องรอการเปลี่ยนโมเดล เช่น มิตซูบิชิที่เริ่มติดตั้ง Android Auto หรือ Apple CarPlay ให้กับรถรุ่นปี 2016 เป็นต้นมา

●   ไอเดียของโตโยต้า ณ เวลานั้นคือ เมื่อคุณเชื่อมต่อสมาร์ทโฟน (จะระบบปฏิบัติการอะไรก็แล้วแต่) OS ของโตโยต้าจะเข้าเทคโอเวอร์การแสดงผลสมาร์ทโฟนบนจอกลางทั้งหมด ลดความซับซ้อนของการใช้งานปุ่มควบคุม ลดการดึงดูดความสนใจระหว่างขับออกไปให้หมด ใช้การควบคุมด้วยเสียงให้มากที่สุด และไม่อนุญาตให้ผู้ขับทำอะไรกับสมาร์ทโฟนหลังจากการเชื่อมต่อกับระบบอินโฟเทนเมนท์ ส่วนบรรดาข้อมูลส่วนตัวต่างๆ บางส่วนของผู้ใช้งานจะถูกโยนขึ้นไปบน Cloud และใช้คำสั่งซิงค์เพื่ออัพเดทข้อมูลระหว่างรถและสมาร์ทโฟน

●   ล่าสุดในปี 2017 นี้ ผลออกมาที่โตโยต้าเลือกใช้โอเพน-ซอร์ซ อย่าง Automotive Grade Linux ของ Linux Foundation ครับ ทั้งนี้แผนงานพัฒนาแพลทฟอร์ม AGL ได้เริ่มขึ้นมาตั้งแต่ช่วงปี 2012 ผู้ผลิตรถยนต์ 3 แบรนด์ใหญ่ที่สนใจเข้าร่วมโปรเจคท์ในช่วงแรกประกอบด้วย จากัวร์ แลนด์โรเวอร์, นิสสัน และโตโยต้า ซึ่งระบบต้นแบบนั้นเปิดตัวเป็นครั้งแรกในปี 2014 โดยมีการเพิ่มความสามารถอาทิ การแสดงผลทั้งด้านภาพ เสียง และใช้งานร่วมกับแอพฯ ต่างๆ ในปี 2016

●   และในปีนี้ AGL ประกาศว่าตัวระบบสามารถรองรับการแสดงผลค่าต่างๆ ของตัวรถ เช่น มาตรวัดแบบดิจิทัล, ปรับค่าต่างๆ ผ่านจอกลางได้ (เช่น ระบบปรับอากาศ), ซัพพอร์ท USB 3.0, เชื่อมต่อการแสดงผลข้อมูลบนจอ Heads-up Display ได้, แสดงผลระบบ ADAS (Advanced Driver Assistance Systems ระบบช่วยขับ) และสามารถรองรับการใช้งาน Telematics หรือการสื่อสาร 2 ทางระหว่างรถและศูนย์บริการข้อมูลต่างๆ ได้อย่างสมบูรณ์ นอกจากนี้ยังรองรับการใช้สมาร์ทโฟนเป็นตัวสั่งงานระบบพื้นฐานของรถในระยะไกลได้

●   หลังจากการใช้งานใน Camry 2018 เป็นรุ่นแรก โตโยต้าจะทยอยติดตั้งระบบอินโฟเทนเมนท์รุ่นใหม่นี้ในรถรุ่นต่างๆ ของทั้งโตโยต้า และเลกซัส โดยจะเริ่มที่รถในตลาดอเมริกาเหนือก่อน จากนั้นจึงจะเป็นคิวของรถรุ่นใหม่หรือรุ่นปรับโฉมในภูมิภาคต่างๆ

●   ปัจจุบัน แบรนด์ผู้ผลิตรถยนต์ที่เข้าร่วมกับโปรเจคท์ AGL ประกอบด้วย ฟอร์ด, ฮอนด้า, จากัวร์ แลนด์โรเวอร์, มาสด้า, เมอร์เซเดส, มิตซูบิชิ, นิสสัน, ซูบารุ, ซูซูกิ และโตโยต้า ส่วนพันธมิตรที่สำคัญอื่นๆ ก็ไม่ธรรมดาครับ อาทิ เดนโซ, ฟูจิตสึ, ฮิตาชิ, อินเทล, เคนวูด, แอลจี, ไพโอเนียร์, อินวิเดีย, เอ็นอีซี, ออราเคิล, พานาโซนิค, ควอลคอมม์ หรือ โตชิบา เป็นต้น

●   อย่างไรก็ตาม… ใช่ว่ารถแบรนด์อื่นๆ ในภาคีจะเปลี่ยนมาใช้งานระบบอินโฟเทนเมนท์พื้นฐานลินุกซ์ทั้งหมดครับ การมีชื่อเข้าร่วมในแผนงาน AGL เป็นการลงทุนเพื่อซื้ออนาคต เรียกว่าทิศทางความนิยมเปลี่ยนไปทางไหนก็จะไม่มีการตกขบวน ซึ่งผู้แปลเดาว่าทั้ง Android Auto และ Apple CarPlay ความนิยมไม่ลดลงไปง่ายๆ หรอกครับ   ●