June 6, 2017
Motortrivia Team (10069 articles)

Honda, Nissan และ Toyota นำทีมเพิ่มสถานีไฮโดรเจนในญี่ปุ่น


Posted by : AREA 54

 

●   3 บริษัทผู้ผลิตยักษ์ใหญ่ในญี่ปุ่น นำโดย ฮอนด้า, นิสสัน และ โตโยต้า ร่วมมือกับรัฐบาลและเอกชนอีกหลายบริษัท เดินหน้าขยายการเปิดสถานีไฮโดรเจนในประเทศญี่ปุ่น โดยตั้งเป้าหมายเอาไว้ที่ 160 สถานีภายในปี 2020 และเพิ่มเป็น 300 สถานีในปี 2027 หลังจากที่ปัจจุบันนั้น ญี่ปุ่นมีสถานีไฮโดนเจนรวมแล้ว 98 สถานี ซึ่งแบ่งเป็นสถานีที่เปิดบริการจริงแล้ว 90 สถานี ส่วนอีก 8 สถานีอยู่ในระหว่างการก่อสร้าง

●   การขยับขยายสาธารณูปโภคให้กับรถกรีนยุคใหม่ๆ ในญี่ปุ่นนั้นมีมาอย่างต่อเนื่องโดยการสนับสนุนร่วมแรงร่วมใจของทั้งภาครัฐและเอกชน โดยในปี 2013 มีการริเริ่มอย่างเป็นรูปธรรม มีการลงนามข้อตกลงในการให้ความร่วมมือกับรัฐบาลเพื่อติดตั้งสถานีรีชาร์จแบตเตอรี่ให้รถยนต์พลังงานไฟฟ้าในประเทศทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นรถไฮบริดแบบปลั๊ก-อิน หรือรถไฟฟ้าล้วนแบบ BEV โดยเน้นไปที่การสร้างเครือข่ายอย่างเป็นระบบทั่วประเทศญี่ปุ่น และมีเงินสนับสนุนบางส่วนมาจากภาครัฐ

●   นอกจากนี้ยังมีการอำนวยความสะดวกให้ผู้ขับด้วยการขอความร่วมมือจากผู้ให้บริการที่แต่ละบริษัทถือหุ้นอยู่ในมือ เช่น Japan Charge Network Co., Ltd., Charging Network Development, llc และ Toyota Media Service ออกแบบลดขั้นตอนความยุ่งยากในการใช้บริการ เช่น ถือการ์ดใบเดียวสามารถใช้ได้ในทุกสถานีชาร์จ รวมทั้งรับสิทธิ์ประโยชน์ต่างๆ ได้โดยไม่จำเป็นต้องดูว่าลูกค้าขับรถแบรนด์ใด และรัฐบาลญี่ปุ่นยังช่วยสนับสนุนเงินลงทุนประมาณ 100.5 พันล้านเยน ในปีงบประมาณ 2013 ด้วย

●   ย้อนกลับไปที่สถานีไฮโดรเจน ฮอนด้านับเป็นหนึ่งในผู้นำและผู้บุกเบิกการพัฒนาสถานีเติมไฮโดรเจน ในปี 2012 ฮอนด้าได้ทดลองสร้างสถานีเชื้อเพลิงไฮโดรเจนพลังแสงอาทิตย์ที่สำนักงานในจังหวัดไซตามะ โดยนับเป็นหนึ่งในแผนงาน Next Generation Personal Mobility Field Test โดยมี Honda FCX Clarity เป็นพาหนะต้นแบบในการทดลองใช้งาน ทว่าความตื่นตัวในเรื่องสาธารณูปโภคนั้น ฝั่งสหรัฐฯ ต้องนับว่าขยับตัวได้เร็วกว่า และฮอนด้าก็เป็นหนึ่งในบริษัทจากญี่ปุ่นที่ให้ความร่วมมือกับทางการสหรัฐฯ โดยเข้าร่วมในโครงการ Hydrogen Highway ตั้งแต่ปี 2005 ในขณะที่แผนงานไฮโดรเจนของทางรัฐบาลญี่ปุ่นเองเพิ่งประกาศออกมาในปี 2009

●   อย่างไรก็ตาม แผนงานในญี่ปุ่นนั้นล่าช้ากว่ากำหนดพอสมควรจากเหตุสึนามิครั้งใหญ่ในปี 2011 และสภาพเศรษฐกิจที่ถดถอย หมุดหมายแรก 119 สถานีในปี 2015 ไม่สำเร็จครับ… ในครั้งนั้นรัฐบาลญี่ปุ่นวางแผนออกเงินสนับสนุนค่าใช้จ่ายถึง 50% สำหรับ 100 สถานีแรก และยังมีบริษัทมหาชนอีก 1 รายคือ JX Energy วางแผนงานระยะยาวในการติดตั้งสถานีเพิ่มเติมจนถึงช่วงปี 2018

●   สำหรับแผนงานล่าสุดที่มี ฮอนด้า, นิสสัน และ โตโยต้า เป็นหัวเรือใหญ่ นับเป็นการตั้งเป้าหมายที่ใหญ่ขึ้นไปกว่านั้นมาก เนื่องจากรัฐบาลญี่ปุ่นต้องการเพิ่มจำนวนรถฟิวเซลล์ให้ได้อย่างน้อย 4 หมื่นคันภายในปี 2020 ดังนั้น 90 สถานีที่ให้บริการอยู่ในปัจจุบันไม่มีทางรองรับจำนวนรถขนาดนั้นได้แน่นอน (เฉลี่ยสถานีละกว่า 400 คัน หากเรามองโลกในแง่ดีว่ารถฟิวเซลล์ขายได้ในระดับนั้นจริงๆ)

●   แต่ถึงกระนั้น หากมีรถฟิวเซลล์วิ่งอยู่บนถนน 4 หมื่นคันจริงในปี 2020 และมีสถานีไฮโดเจน 160 สถานีจริงตามเป้าหมาย 1 สถานีก็ยังต้องรองรับรถประมาณ 250 คันต่อสถานี และยังต้องคำนึงถึงการวางโครงข่ายเพื่อคำนวณระยะทางต่อสถานี เพื่อให้การเดินทางไกลมีความต่อเนื่องอีกด้วย ดังนั้นเป้าหมายที่ใหญ่จริงๆ ที่รัฐบาล (รวมทั้งบริษัทผู้ผลิต) ต้องการให้เกิดขึ้นจริงคือ การเปิดสถานีไฮโดนเจนให้ได้ 900 สถานี และเพิ่มจำนวนรถฟิวเซลล์เป็น 8 หมื่นคันในปี 2030… หมายความว่านี่คือการตั้งเป้าขยายสถานีแบบก้าวกระโดดเอามากๆ เนื่องจากเป้าในปี 2027 คือ 300 สถานี และหลังจากนั้นอีกเพียง 3 ปี เป้าสูงสุดคือเพิ่มสถานีรวดเดียวถึง +600 สถานี (หรือ 1 สถานีต่อรถราว 88 – 89 คัน)

●   งานนี้ภาครัฐและเอกชนที่ลงมาให้ความร่วมมือในภาคี มีอาทิ ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งชาติญี่ปุ่น (Development Bank of Japan), JXTG Nippon Oil & Energy, Toho Gas และ Tokyo Gas เป็นต้น ซึ่งการลงนามเพิ่มความร่วมมือในครั้งนี้ เหตุผลหลักๆ ก็คือการออกกฏระเบียบใหม่ให้เอื้อต่อการขยายสถานีไฮโดรเจนให้รวดเร็วขึ้น และเป็นการลดต้นทุนในอีกทางหนึ่งด้วย

●   คิดจะจับมือกันพัฒนาชาติ มันต้องเล่นกันระดับนี้แหละครับ   ●