June 25, 2017
Motortrivia Team (10069 articles)

Child safety seat ตอนที่ 2 : เบาะเด็กหันหน้าหรือหันหลังดีกว่ากัน?

เรื่อง : PandaTrueno

●   ในตอนที่ 1 ผมกะจะเขียนแค่กระตุ้นเตือนให้บรรดาผู้ปกครองตระหนักถึง ความสำคัญของเบาะนั่งนิรภัยสำหรับเด็กเพียงแค่ตอนเดียวเท่านั้น แต่จากการได้มีโอกาสลองพูดคุยกับผู้ปกครองคนอื่นๆ ที่อยู่ใกล้ตัวแล้วพบว่า หลายคนยังไม่มีความรู้ และความเข้าใจเกี่ยวกับตัวเบาะนั่งนิรภัยสำหรับเด็ก รวมถึงการเลือกซื้อเพื่อให้เหมาะสมกับวัย ก็เลยตั้งใจว่าจะเขียนเรื่องนี้เป็นซีรีส์ลงในเว็บ motortrivia เผื่อว่าจะมีประโยชน์กับคนที่กำลังทำความเข้าใจและต้องการเลือกซื้อเบาะนั่งนิรภัยสำหรับเด็ก และในตอนแรก ขอเขียนถึงเรื่อง ความสำคัญของเบาะนั่งเด็ก และการจัดวางเบาะแบบหันหน้าหรือหันหลัง ดีกว่ากัน

●   ก่อนอื่นต้องบอกเอาไว้ก่อนว่า ‘เบาะนั่งนิรภัยสำหรับเด็กไม่ใช่ของวิเศษ’ ที่เมื่อใช้แล้วลูกของคุณ จะแคล้วคลาดจากการเสียชีวิตเพราะอุบัติเหตุ แต่เป็นสิ่งที่ช่วยลดความเสี่ยงของการเสียชีวิตให้ลดลงเท่านั้นเอง และแน่นอนว่าดีกว่าการไม่มีการยึดรั้งอะไรเลย

●   เพราะในอุบัติเหตุการชนด้วยความเร็วในระดับ 48 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เด็กที่ใม่ได้ยึดรั้งเอาไว้กับที่นั่งนิรภัย จะถูกเหวี่ยงเข้าไปกระแทกกับเบาะด้านหน้าหรือแผงหน้าปัดด้วยแรงกระทำที่เหมือนกับตกลงมาจากชั้น 3 ถ้านึกไม่ออกก็คงเหมือนกับกระโดดจากตึก 3 ชั้นแบบเอาหน้าลงมา

●   หรือการที่คิดว่าอุ้มเด็กตัวเล็กๆ ไว้บนตัก แล้วคิดว่าสามารถกอดเอาไว้ได้เมื่อเกิดการชน ก็คงต้องคิดกันใหม่ เพราะเด็กที่มีน้ำหนัก 11.3 กิโลกรัม หรือประมาณ 3 ขวบ จะกลายเป็นแท่งคอนกรีตที่มีน้ำหนัก 340 กิโลกรัม เมื่อมีอุบัติเหตุการชนที่ระดับความเร็วเดียวกัน…แล้วคิดว่าเอาอยู่ไหม่ล่ะ ?

การติดตั้งเบาะนั่งนิรภัยแบบ Rear Facing สามารถทำได้ทั้งกับเบาะสำหรับเด็กแรกเกิดจนถึง 4 ขวบ

●   อย่างที่เคยเขียนถึงในตอนที่แล้วว่า เบาะนั่งนิรภัยสำหรับเด็ก หรือ Child Seat ทำหน้าที่เปรียบเสมือนกับเข็มขัดนิรภัยที่ติดตั้งอยู่ในรถยนต์ เพียงแต่เป็นเข็มขัดนิรภัยที่ถูกออกแบบมาเพื่อเหมาะสมกับสรีระที่ยังไม่โตเต็มวัยเท่านั้นเอง

●   ความคิดที่ว่าการใช้เข็มขัดนิรภัยที่ติดตั้งมากับตัวรถกับเด็กที่ยังไม่โตเต็มวัย ถือว่าเป็นเรื่องที่อันตรายอย่างมาก และเชื่อหรือไม่ว่าในโฆษณาทั้งพวก Print Ad. และภาพเคลื่อนไหวที่ออกอากาศตามโทรทัศน์ในบ้านเราของบริษัทรถยนต์ชื่อดัง หรือสินค้าดังๆ ที่ใช้เด็กนั่งในรถยนต์ พบว่า มีการนำเด็กเล็กมานั่งโดยใช้เข็มขัดนิรภัยในรถยนต์คาดเข้าที่ลำตัว… ทั้งที่โฆษณาเหล่านี้ ถูกสร้างสรรค์โดยบรรดาเอเยนซี่ชื่อดัง ซึ่งน่าจะตระหนักถึง หรือทำการบ้านเกี่ยวกับเรื่องนี้สักหน่อย

●   เข็มขัดนิรภัยที่ติดตั้งมากับตัวรถ ได้รับการออกแบบโดยอิงสรีระของผู้ใหญ่ที่โตเต็มวัยเป็นหลัก ดังนั้นจึงไม่เหมาะสมอย่างยิ่งในการนำมาคาดกับเด็กไม่ว่าจะเล็กหรือโต และก็รวมถึงผู้ใหญ่ที่มีความปิดปกติของขนาดสรีระด้วย ซึ่งในบางเว็บไซต์ระบุว่า เด็กจะใช้เข็มขัดนิรภัยได้โดยไม่ต้องใช้ เบาะนั่งเสริม หรือ Booster ก็ต่อเมื่อมีความสูงเกิน 4 ฟุต 9 นิ้ว หรือ 142 เซ็นติเมตรขึ้นไป

●   จากการทดสอบในต่างประเทศพบว่า การนำเข็มขัดนิรภัยมาคาดให้กับเด็ก เมื่อเกิดการชน แรงกระชากจะส่งผลต่ออวัยวะภายในตรงช่องท้อง และขนาดของร่างกายที่เล็กของเด็กก็จะมีการเคลื่อนตัวไถลลง ทำให้เข็มขัดในส่วนที่พาดตรงไหล่บาดเข้าที่ลำคอ ผลคือ มีความเสี่ยงสูงที่เด็กจะคอขาด

●   ผมไม่ได้บอกว่าเข็มขัดนิรภัยมีอันตราย แต่การใช้ที่ไม่ถูกต้องต่างหากที่อันตราย

(ซ้าย) เด็กที่เหมาะสมสำหรับการคาดเข็มขัดนิรภัย ที่ติดตั้งในรถยนต์ ควรจะมีสรีระที่สูงเกิน 142 เซ็นติเมตร หรือถ้าเตี้ยกว่านั้นก็ควรใช้ Booster หรือเบาะรองเสริม ซึ่งในกรณีนี้ รวมถึงผู้ใหญ่ที่มีสรีระผิดปกติด้วย (ขวา) ภาพเปรียบเทียบขนาดของสรีระเด็กกับหุ่นดัมมี่ทดสอบชน ซึ่งเป็นขนาดของผู้ใหญ่โตเต็มวัย ถูกใช้อ้างอิงในขณะทำการทดสอบชน

●   ส่วนอีกหัวข้อที่เป็นประเด็นถกเถียงกันมานาน เกี่ยวกับเรื่องของการจัดวางเบาะนั่งนิรภัยว่าจะเป็นแบบ Rear Facing คือ หันหน้าเด็กไปทางด้านหลังรถ หรือว่าจะเป็นแบบ Forward Facing คือ หันหน้าเด็กไปทางด้านหน้าของรถเหมือนกับการนั่งปกติ ทั้ง 2 วิธีสามารถจัดวางได้ แต่เป็นเรื่องของความเหมาะสมกับวัยมากกว่า

●   สำหรับแบบแรก คือ Rear Facing เหมาะสำหรับเด็กแรกเกิดจนกระทั่งถึงวัย 1 ปีหรืออย่างน้อยมีน้ำหนักเกิน 10 กิโลกรัม แต่สำหรับผู้ผลิตรถยนต์จากสวีเดนซึ่งให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อย่างมากบอกว่าควรจะนั่งไปเลยจนกว่าจะครบอายุ 4 ปี หรือมีน้ำหนักเกิน 25 กิโลกรัม หรือแม้แต่หน่วยงานอย่าง American Academy of Pediatricians ก็สนับสนุนให้เด็กนั่งแบบ Rear Facing ไปให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ เช่นเดียวกับงานวิจัยใหม่ๆ ล่าสุดที่เพิ่งตีพิมพ์เมื่อกลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ก็สนับสนุนให้เด็กนั่งแบบ Rear Facing จนกว่าจะถึง 4 ขวบ

●   ประเด็นตรงนี้เกิดจากสรีระของเด็กยังไม่มีความแข็งแรง โดยเฉพาะกระดูกคอ ซึ่งการนั่งแบบ Rear Facing จะเหมาะสมกว่า เพราะตัวเบาะนั่งในลักษณะนี้จะออกแบบมาเพื่อรองรับกับช่วงกระดูกคอและศีรษะของเด็ก และจากการทดสอบจะพบว่า เบาะนั่งแบบ Rear Facing อาการเคลื่อนตัวของศีรษะและคอแทบจะไม่เกิดขึ้นเลย ต่างจากการนั่งแบบ Forward Facing ที่เมื่อเกิดการชนทางด้านหน้า ร่างกายของเด็กในส่วนหัวและแขนจะพุ่งไปด้านหน้าอย่างรุนแรงแม้ว่าตัวเบาะนั่งจะใช้เข็มขัดนิรภัยแบบ 5 จุดก็ตาม

สำหรับเด็กที่นั่งในแบบ Rear Facing และวางอยู่เบาะหน้า อย่าลืมปลดการทำงานของถุงลมนิรภัยคู่หน้าด้วย

●   นั่นเป็นเพราะการกระจายแรงกระแทกที่เกิดขึ้น จะถูกส่งผ่านไปทั่วแผ่นหลัง ศีรษะและคอของเด็ก ทำให้ช่วยป้องกันไม่ให้ศีรษะมีการเคลื่อนตัวอย่างรุนแรง รวมถึงช่วยลดอาการบาดเจ็บอย่างรุนแรง เพราะแรงกระชากที่จะทำให้เกิดอันตรายต่อเส้นประสาทของกระดูกสันหลัง

●   แม้เรื่องของการถูกชนทางด้านท้าย การนั่งแบบ Rear Facing จะมีประสิทธิภาพในการปกป้องลดลง แต่หลายความเห็นก็ชี้แนะว่า เรื่องการชนท้ายถือเป็นสิ่งที่รุนแรงน้อยกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับการชนทางด้านหน้าทั้งแบบเต็มหน้าหรือครึ่งหน้า ซึ่งเกิดขึ้นบ่อยและอันตรายกว่าในชีวิตประจำวัน แต่ข้อควรระวังสำหรับการติดตั้งแบบ Rear Facing คือ เมื่อวางอยู่เบาะหน้าต้องมั่นใจและแน่ใจว่า คุณปลดการทำงานของถุงลมนิรถัยฝั่งคนนั่งด้านหน้าแล้ว เพราะไม่เช่นนั้น เมื่อเกิดการชน แรงกระแทกที่เกิดจากการพองตัวของถุงลมฯ อาจทำให้เด็กคอหักได้

●   อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่อาจจะต้องรับมือกันอย่างหนักสำหรับผู้ปกครอง คือ การจับให้เจ้าตัวเล็กนั่งหันหลัง ซึ่งความจริงแล้วอาจจะดูฝืนๆ โดยเฉพาะเมื่อมาเริ่มเอาตอนมีอายุสักหน่อย

●   แต่ถ้าคิดว่าเพื่อความปลอดภัยแล้ว ยังไงก็ต้องทำใจแข็งแล้วก็ท่องให้ขึ้นใจว่า….เรื่องความปลอดภัยยอมกันไม่ได้   ●


ตอนที่ 1 : จริงหรือที่เบาะนิรภัยสำหรับเด็กแพง?.
ตอนที่ 2 : เบาะเด็กหันหน้าหรือหันหลังดีกว่ากัน?.
ตอนที่ 3 : มารู้จักกับประเภทของ Child Car Seat กัน.
ตอนที่ 4 : ซื้อให้ถูกต้องติดตั้งให้ถูกด้วย (ตอนจบ).
ตอนที่ 5 : ตอนแถม… การเลือกซื้อเบาะนั่ง และ ISOFIX.