February 18, 2017
Motortrivia Team (10203 articles)

Volvo S90 D4 Inscription กรุงเทพฯ-เขาใหญ่ โชว์ระบบความปลอดภัยและความประหยัด


เรื่อง : นาธัส แสงสุริยะ • ภาพ : วอลโว่ ประเทศไทย

 

●   ในงานแสดงรถยนต์ มอเตอร์ เอ็กซ์โป ช่วงปลายปีที่ผ่านมา วอลโว่เปิดตัวซีดานรุ่นใหม่ Volvo S90 D4 Inscription ซีดานหรูขนาดกลาง ใช้แพลทฟอร์มใหม่ Volvo SPA หรือ Volvo Scalable Product Architecture Platform ทำให้ห้องโดยสารกว้างขวางขึ้น และลดน้ำหนักโดยรวมของรถ ประหยัดเชื้อเพลิง ลดมลภาวะ และขับง่ายคล่องตัว โดยยังคงความแข็งแรงปลอดภัยด้วยวัสดุที่มีความแข็งแกร่ง เช่น เหล็กกล้าโบรอน ที่ทนการบิดและยืดหยุ่นได้ดี

●   เครื่องยนต์ตระกูล Drive-E Powertrain รหัส D4204T14 ดีเซล 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว คอมมอนเรล ทวินเทอร์โบชาร์จ หัวฉีดอัจฉริยะ i-ART ความจุ 1,969 ซีซี 190 แรงม้าที่ 4,250 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุด 40.7 กก.-ม. ที่ 1,750-2,500 รอบค่อนาที ขับเคลื่อนล้อหน้าด้วยเกียร์อัตโนมัติ 8 จังหวะ Geartronic พร้อม 4 โหมดการขับ Comfort, Dynamic, Eco และ Individual อัตราสิ้นเปลืองเฉลี่ย 19.6 กิโลเมตรต่อลิตร คาร์บอนไดอ๊อคไซด์ในไอเสีย 133 กรัมต่อกิโลเมตร ตัวเลขโรงงานระบุอัตราเร่ง 0-100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ใน 8.2 วินาที ความเร็วสูงสุด 230 กิโลเมตรต่อชั่วโมง อัตราสิ้นเปลืองเฉลี่ย 19.6 กิโลเมตรต่อลิตร ถังน้ำมันจุ 55 ลิตร

 

●   ช่วงล่างด้านหน้าอิสระปีกนก 2 ชั้น พร้อมเหล็กกันโคลง ด้านหลัง Integral Link ใช้วัสดุคอมโพสิทวางตามขวางกับตัวรถ ทำหน้าที่แทนสปริงขด มีข้อดี คือ ใช้พื้นที่ติดตั้งน้อย ทำให้ห้องเก็บสัมภาระด้านท้ายมีพื้นที่เพิ่มขึ้น

●   แนวคิดของวอลโว่ที่มีมาตั้งแต่ปี 1927 คือ Human Centric วอลโว่จึงออกแบบรถและคิดค้นนวัตกรรมต่างๆ เพื่อความปลอดภัยของผู้ขับและผู้โดยสารเป็นหลัก เช่น การใช้กระจกลามิเนตในปี 1944 เริ่มใช้เข็มขัดนิรภัยในปี 1959 รวมทั้งการคิดค้นระบบโครงสร้างป้องกันการพลิกคว่ำในปี 1997

●   สำหรับ S90 D4 Inscription ใส่ระบบความปลอดภัยมาแบบเต็มๆ ด้วยแพกเกจ Intellisafe ประกอบด้วย Pilot Assist หรือระบบช่วยขับกึ่งอัตโนมัติ เจนเนอเรชั่นที่ 2 ช่วยลดภาระของผู้ขับ โดยจะช่วยควบคุมพวงมาลัยเพื่อให้รถอยู่กึ่งกลางเลน ทำงานที่ความเร็วสูงสุดที่ 130 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ทำงานได้โดยไม่จำเป็นต้องมีรถคันอื่นอยู่ด้านหน้า ระบบ Run-Off Road Mitigation ป้องกันรถวิ่งออกนอกช่องทาง ทำงานที่ความเร็ว 65-140 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ระบบ Run-Off Road Protection ปกป้องผู้ขับและผู้โดยสารในกรณีรถออกนอกุนน ระบบ City Safety มาพร้อมเซ็นเซอร์ตรวจจับสัตว์ขนาดใหญ่ เพิ่มความปลอดภัยขณะขับทั้งกลางวันและกลางคืน Adaptive Cruise Control ปรับความเร็วตามคันหน้าอัตโนมัติ รักษาระยะห่างอัตโนมัติและปรับตั้งระยะห่างได้ และมีกล้อง 360 องศา เห็นภาพรถรอบคันจากมุมสูง

●   อีกระบบที่น่าสนใจและทางวอลโว่มีการสาธิตการใช้งานจริงตอนกลางคืน คือ ระบบไฟส่องสว่างขณะเข้าโค้งแบบอัตโนมัติ หรือ Automatic Bending Lights ปรับมุมตามการเลี้ยวทั้งซ้ายและขวาได้ถึง 30 องศา และ ระบบไฟสูงแบบปรับอัตโนมัติ หรือ Full LED Active High Beam ไฟส่องสว่างแบบ LED สามารถสลับไฟสูง-ต่ำ และปรับเปลี่ยนทิศทางของไฟได้โดยอัตโนมัติ ทำงานร่วมกับกล้องตรวจจับแสงสว่าง เมื่อพบว่ามีรถอยู่ด้านหน้าจะปรับเป็นไฟต่ำอัตโนมัติ โดยจะปรับเฉพาะส่วนที่เป็นตัวรถ เพื่อไม่ให้แยงตาผู้ขับรถคันอื่น ส่วนด้านข้างของตัวรถที่เป็นทางมืด จะยังคงเป็นไฟสูงอยู่ และถ้าไม่มีรถคันอื่น ระบบจะปรับเป็นไฟสูงและฉายออกด้านข้าง เพื่อให้เห็นทางด้านหน้าได้กว้างและไกลที่สุด มาพร้อมไฟส่องสว่างขณะเลี้ยวซ้ายและขวา ตัวโคมแยกติดตั้งอยู่ในตำแหน่งสปอตไลต์

●   ภายในห้องโดยสารโดยเน้นความสำคัญของผู้ขับ การควบคุมระบบต่างๆ ออกแบบให้ใช้งานง่าย พื้นที่กว้างขวางสะดวกสบาย ตกแต่งหรูหราประณีต มีศูนย์กลางการควบคุมอยู่ที่จอสัมผัสขนาด 9 นิ้วที่คอนโซลกลาง สำหรับสั่งงานระบบปรับอากาศ, ปรับตั้งระบบต่างๆ ของรถ, คู่มืออิเล็กทรอนิกส์, ระบบ Sensus Connect มาพร้อมเครื่องเสียงชั้นดีจาก Bowers & Wilkins รองรับระบบ Bluetooth, USB และ AUX ปรับเวทีเสียงได้ 3 แบบ Studio, Stage และ Concert Hall รองรับ Apple Car Play และ Android Auto

●   มิติตัวถังเมื่อเปรียบเทียบกับรุ่นก่อนหน้า มีความยาว 4,963 มิลลิเมตร เพิ่มขึ้น 109 มิลลิเมตร กว้าง 1,879 มิลลิเมตร เพิ่มขึ้น 18 มิลลิเมตร สูง 1,443 มิลลิเมตร ลดลง 50 มิลลิเมตร ฐานล้อ 2,941 มิลลิเมตร เพิ่มขึ้น 106 มิลลิเมตร


คุณแอเน็ต แอนเดอร์สัน กรรมการผู้จัดการ บริษัทวอลโว่ คาร์ (ประเทศไทย) จำกัด


●   กิจกรรมทดลองขับเริ่มที่ ศูนย์วอลโว่ คาร์ ไทยแลนด์ แถวรามคำแหง ได้รับเกียรติจาก คุณแอเน็ต แอนเดอร์สัน (Anette Andersson) กรรมการผู้จัดการ บริษัทวอลโว่ คาร์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวต้อนรับและเดินทางไปพร้อมสื่อมวลชน ออกเดินทางโดยรับหน้าที่เป็นผู้โดยสารด้านหลัง สังเกตว่าแม้จะเป็นรถขับเคลื่อนล้อหน้า แต่พื้นห้องโดยสารด้านหลังระหว่างที่นั่งด้านซ้ายและขวา ยังมีซุ้มโป่งขึ้นมาเพื่อเป็นทางเดินของท่อไอเสียใต้ท้องรถ ทำให้เบียดบังที่วางเท้าไปพอสมควร สำหรับที่วางขานั้นกว้างเหลือเฟือสำหรับความสูง 170 เซนติเมตร ส่วนพื้นที่เหนือศีรษะและด้านข้างยังเหลือ พนักพิงเบาะหลังตั้งชันไปนิด ถ้าปรับให้เอนอีกหน่อยอาจจะเลยแนวหลังคา แต่ก็ไม่เป็นอุปสรรคต่อการงีบหลับ เพราะแค่คาดเข็มขัดนิรภัย ดึงที่เท้าแขนลง ปรับช่องแอร์ตรงเสากลางให้พอเหมาะ ใช้เวลาไม่นาน ลืมตาอีกทีก็ใกล้ถึงจุดพักรถบนถนนมิตรภาพแล้ว

●   รถรุ่นนี้ใส่ล้อแม็กใหญ่ 8.5 x 19 นิ้ว ยาง 255/40 R19 แก้มยางมีความสูงเพียง 102 มิลลิเมตร การขับคงต้องระวังหลุมบ่อมากหน่อย รถที่ทดสอบเติมลม 38 ปอนด์ต่อตารางนิ้ว แต่ก็นั่งนุ่มสบายไม่รู้สึกว่ากระแทกหรือสะเทือนมากนัก ยังแอบงีบได้เพราะด้านหลังไม่เหวี่ยงและไม่เมารถ ระยะทางช่วงแรก 125 กิโลเมตร บนเบาะหลังถือว่านั่งสบายพอสมควร

●   จากนั้นเปลี่ยนเป็นผู้ขับ มุ่งหน้าสู่จุดหมายต่อไป Midwinter Green ซึ่งตั้งอยู่บนถนนธนะรัชต์ ระยะทาง 50 กิโลเมตร ได้ลองอัตราเร่งของเครื่องยนต์ดีเซลที่มีบุคลิกแบบที่ชอบเป็นการส่วนตัวคือ ไม่ต้องลากรอบสูง มีแรงบิดพร้อมใช้งานตั้งแต่รอบต่ำ เร่งเพิ่มความเร็วได้ทันใจ แม้จะลากรอบได้ไม่สูงแบบเครื่องยนต์เบนซิน แต่เมื่อลองกดคันเร่งคิ๊กดาวน์ก็พบว่ารอบตวัดขึ้นได้อย่างไหลลื่น ทำงานสัมพันธ์กับเกียร์อัตโนมัติ 8 จังหวะ พร้อมโหมด +/- Geartronic การเปลี่ยนเกียร์ขึ้นและลงมีความราบเรียบต่อเนื่องและฉับไว เดินทางไกลด้วยรอบเครื่องยนต์ประมาณ 2,000 รอบต่อนาที จะทำความเร็วได้เกิน 130 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

●   ลองเร่งรอบสูง เสียงเครื่องยนต์ค่อนข้างเงียบ และแทบไม่มีการสั่นสะเทือน เสียงรบกวนจากภายนอกถูกตัดออกเกือบหมด ห้องโดยสารค่อนข้างเงียบสงบและนุ่มนวล อัตราสิ้นเปลืองเดินทางไกล ทำได้เกิน 20 กิโลเมตรต่อลิตร เมื่อเฉลี่ยกับการใช้งานในเมืองแล้วน่าจะใกล้เคียงกับตัวเลขจากโรงงาน

●   พวงมาลัยแร็กแอนด์พิเนียนพร้อมเพาเวอร์ไฟฟ้า แปรผันน้ำหนักได้เหมาะเจาะ ทำให้ขับรถคันใหญ่ได้อย่างคล่องตัวเมื่อใช้ความเร็วต่ำ และรู้สึกมั่นคงเมื่อใช้ความเร็วสูงเพราะพวงมาลัยที่หนืดขึ้น ไม่มีอาการวูบวาบ เบรกหนักแน่นสไตล์ยุโรป ระหว่างการขับได้ทดลองระบบความปลอดภัยต่างๆ เช่น ระบบแจ้งเตือนการชนพร้อมเบรกอัตโนมัติ, ระบบ Pilot Assist ช่วยรักษาทิศทางรถให้อยู่กลางเลน แต่ผู้ขับต้องวางมือไว้บนพวงมาลัยด้วย ถ้าระบบตรวจพบว่าไม่มีแรงต้านที่พวงมาลัย ก็จะตัดการทำงาน ระบบ Adaptive Cruise Control ใช้งานได้จริง แค่ตั้งความเร็วที่ต้องการ ถ้ามีรถช้ากว่าอยู่ด้านหน้า ระบบจะลดความเร็วลงด้วยการเบรก และรักษาระยะห่างตามที่ผู้ขับตั้งไว้ เมื่อไม่มีรถด้านหน้า หรือรถด้านหน้าเร่งความเร็วขึ้น รถก็จะเร่งความเร็วถึงที่ตั้งไว้ครั้งแรก การเบรกอัตโนมัติของรถทำได้ค่อนข้างนุ่มนวล

●   จากร้านอาหารมุ่งหน้าที่พัก ระยะทางไม่ไกล แค่ 34 กิโลเมตร ขับตามๆ กันไปเพื่อบันทึกภาพนิ่งและวีดิโอ ถึงที่พักแล้วได้ทดลองระบบ Park Assist Pilot ช่วยถอยจอดแบบเข้าซองและแบบขนานข้างฟุตบาท การใช้งานไม่ยาก แค่กดเปิดใช้งานระบบที่คอนโซลกลาง แล้วขับชิดฝั่งซ้ายซึ่งถูกเซตเป็นค่าเริ่มต้น ถ้าต้องการจอดในช่องฝั่งขวา ให้เปิดไฟเลี้ยวขวา จากนั้นทำตามคำแนะนำบนหน้าจอ ผู้ขับมีหน้าที่ควบคุมเกียร์และความเร็ว ส่วนระบบจะควบคุมพวงมาลัยให้ ทำงานร่วมกับกล้อง 360 องศา สังเคราะห์ภาพจากกล้องรอบคันเป็นภาพมุมสูง

●   สอบถามเจ้าหน้าที่ของวอลโว่ว่า ทำไมผู้ขับยังต้องเปลี่ยนเกียร์และควบคุมความเร็วเอง ได้รับคำตอบว่าเพราะวอลโว่ต้องการให้ผู้ขับมีส่วนร่วมในการขับรถ มากกว่าที่จะให้เป็น ระบบอัตโนมัติ ทั้งหมด

●   จากนั้นเป็นการสาธิตระบบเครื่องเสียง ระบบที่ปัดน้ำฝนพร้อมหัวฉีดน้ำติดตั้งบนก้านปัด สามารถฉีดน้ำพร้อมปัดได้โดยน้ำไม่สะบัดเลอะเทอะ ต่อด้วยการโชว์ความกว้างขวางของที่เก็บของด้านหลัง ซึ่งได้ประโยชน์จากการใช้ช่วงล่างหลังแบบ Integral Link มีแหนบที่ผลิตจากวัสดุสังเคราะห์วางขวางตัวรถ ทำหน้าที่แทนสปริง ช่วงล่างด้านหลังจึงใช้พื้นที่ติดตั้งน้อย เบาะหลังแยกพับได้แบบ 60:40 ทำงานด้วยระบบไฟฟ้า มีฟังก์ชั่น เปลี่ยนที่เก็บของด้านหลังเป็นห้องเซฟด้วยการใส่รหัสผ่านหน้าจอที่คอนโซลกลาง เมื่อใส่รหัสแล้วจะไม่สามารถพับเบาะได้ เปิดกระโปรงหลังก็ไม่ได้ กดปุ่มเปิดจากในรถก็ไม่ได้ จนกว่าจะใส่รหัส กระโปรงหลังมีระบบเปิดและปิดโดยไม่ต้องกดปุ่ม แค่พกรีโมทไว้กับตัวแล้วกวาดเท้าไปแถวใต้กันชนฝั่งซ้ายของทะเบียนรถ

●   วันรุ่งขึ้นเดินทางกลับใช้ความเร็วสบายๆ ประมาณ 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ระยะทางประมาณ 200 กิโลเมตร ขับคนเดียวรวดเดียว ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมงครึ่ง โชคดีที่การจราจรค่อนข้างโล่งตลอดทาง เครื่องยนต์ใช้รอบต่ำแทบไม่มีเสียงดังหรือความสั่นสะเทือน เป็นรถที่นั่งนุ่มสบาย ขับเองก็สนุก ตอบสนองดีตั้งแต่รอบต่ำ อัตราเร่งทันใจ และประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิง ช่วงล่างนุ่มนวลและมีการยึดเกาะถนนที่ดี ตั้งราคาไว้ 3,990,000 บาท ไม่ถูกกว่าคู่แข่ง แต่มีความน่าสนใจที่ระบบความปลอดภัยต่างๆ ที่ใช้งานได้จริง มาพร้อม Volvo Maintenance บำรุงรักษาฟรี 5 ปี หรือ 100,000 กิโลเมตร และรับประกันคุณภาพ 3 ปี หรือ 100,000 กิโลเมตร   ●

ขอบคุณ บริษัท วอลโว่ คาร์ (ประเทศไทย) จำกัด อำนวยความสะดวกตลอดการเดินทาง

Specification: Volvo S90 D4 Inscription

–   แบบตัวถัง ซีดาน 4 ประตู
–   ยาว x กว้าง x สูง 4,963 x 1,879 x 1,443 มิลลิเมตร
–   ความกว้างล้อหน้า/หลัง 1,628/1,629 มิลลิเมตร
–   ฐานล้อ 2,941 มิลลิเมตร
–   น้ำหนัก 1,790 กิโลกรัม
–   แบบเครื่องยนต์ ดีเซล คอมมอนเรล ทวินเทอร์โบ 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว i-ART Technology
–   ความจุ 1,969 ซีซี
–   กระบอกสูบ x ช่วงชัก 82 x 93.2 มิลลิเมตร
–   อัตราส่วนการอัด 15.8:1
–   กำลังสูงสุด 190 แรงม้า ที่ 4,250 รอบต่อนาที
–   แรงบิดสูงสุด 40.76 กก.-ม. ที่ 1,750-2,500 รอบต่อนาที
–   ระบบส่งกำลัง อัตโนมัติ 8 จังหวะ Geartronic
–   ระบบขับเคลื่อน ล้อหน้า
–   ระบบบังคับเลี้ยว แร็กแอนด์พิเนียนพร้อมเพาเวอร์ไฟฟ้า
–   ระบบกันสะเทือนหน้า อิสระ ปีกนก 2 ชั้น พร้อมเหล็กกันโคลง
–   ระบบกันสะเทือนหลัง Integral Link
–   ระบบเบรกหน้า/หลัง ดิสก์พร้อมครีบระบายความร้อน/ดิสก์ พร้อม ABS, EBD และ EBA
–   ผู้จำหน่าย บริษัท วอลโว่ คาร์ (ประเทศไทย) จำกัด
–   โทรศัพท์ 0-2305-4499
–   เวบไซต์ www.volvocars.com/th.


2017 Volvo S90 D4 Inscription