February 21, 2017
Motortrivia Team (10167 articles)

Opel, GM, PSA และผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลงในตลาดยุโรป


Posted by : AREA 54

 

●   Adam Opel AG หรือ “โอเปิล” แบรนด์ผู้ผลิตรถยนต์จากเยอรมันที่เรารู้จักกันดี กำลังจะเปลี่ยนมือผู้ถือครองสิทธิ์จากเจนเนอรัล มอเตอร์ส ไปเป็นรถในเครือ Groupe PSA โดยการตัดสินใจในเบื้องต้นนี้ เป็นผลมาจากการที่ GM มีรายงานว่าสูญเสียรายได้ราว 257 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากผลประกอบการในปี 2016 จากส่วนงานในยุโรป และนับเป็นการขาดทุนครั้งที่ 16 ติดต่อกันในภูมิภาคนี้

●   แม้ว่าบ้านเราจะไม่มีรถรุ่นใหม่ๆ จากแบรนด์โอเปิลเข้ามาทำตลาด แต่โอเปิลก็เป็นหนึ่งในแบรนด์ที่เราคุ้นหูคุ้นตาคุ้นชื่อกันเป็นอย่างดี… โอเปิลก่อตั้งบริษัทและมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่รุสเซลไฮม์มาตั้งแต่ปี 1863 ผลิตรุ่นรถที่มีชื่อเสียงมากมายหลายรุ่นจนถึงปัจจุบัน ความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของโอเปิลเกิดขึ้นในช่วงปี 1929 โอเปิลกลายเป็นบริษัทร่วมทุนของ GM ซึ่ง GM เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในช่วงแรก ก่อนจะเข้าควบคุมการดำเนินงานของบริษัทแบบเบ็ดเสร็จในอีก 2 ปีต่อมา

●   ส่วนแบรนด์ Vauxhall นั้น หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 จบลง ผลกระทบที่ตามมาก็คือสภาพเศรษฐกิจโลกตกต่ำ ทำให้วอกซ์ฮอลล์มีปัญหาในการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง และถูก GM เข้าครอบครองกิจการในช่วงปี 1925 (ก่อนโอเปิล 4 ปี) โดย GM ได้ส่งรถเชฟโรเลตเข้าไปทำตลาดผ่านเครือข่ายก่อนในช่วงแรก ทว่าในช่วงยุค 70s GM กลับทำการปรับภาพลักษณ์และลดบทบาทของวอกซ์ฮอลล์ลงให้กลายเป็นเพียงแบรนด์รองของโอเปิลเท่านั้น ซึ่งทำให้วอกซ์ฮอลล์กลายมาเป็นซับ-แบรนด์ของโอเปิล หรือ “รถโอเปิลรุ่นพวงมาลัยขวา” จนถึงปัจจุบัน

●   สำหรับตลาดยุโรปนั้น โอเปิลมีความสำคัญต่อ GM ในฐานะ “แบรนด์ GM ในยุโรป” (ยกเว้นสหราชอาณาจักรซึ่ง GM ถือสิทธิ์ในนาม Vauxhall Motors) และเคยวางแผนงานยกเลิกการจำหน่ายรถภายใต้แบรนด์เชฟโรเลตในยุโรปภายในปี 2015 โดยจะมุ่งเน้นไปที่รถใหม่หรือรถรีแบดจ์ (เช่น Opel Ampera-e/Chevrolet Bolt) ในนามโอเปิล, วอกซ์ฮอลล์ และโฮลเดน เท่านั้น ทว่าปัญหาการขาดทุนอย่างต่อเนื่องทำให้ GM ต้องเปลี่ยนมา “ขอความร่วมมือ” กับ Groupe PSA เพื่อให้การดำเนินงานในยุโรปมีความแข็งแกร่งขึ้นกว่าที่เป็นอยู่

●   หากดีลนี้สำเร็จในระยะเวลาอันสั้น GM จะได้ประโยชน์จากการลดการลงทุนที่สิ้นเปลืองในยุโรปทันที หลังจากที่มีความพยายามในการลดการดำเนินงานในยุโรปมาอย่างต่อเนื่อง เช่น ยกเลิกการผลิตโฮลเด้นในออสเตรเลีย และจะ ทำตลาดเฉพาะรถรีแบดจ์เพียงอย่างเดียว ในขณะที่ PSA ซึ่งมีแบรนด์เปอโยท์, ซีตรอง และ DS (ซับ-แบรนด์สำหรับทำตลาดไฮเอนด์ของซีตรอง) ในมือ จะมีโอกาสในการเพิ่มศักยภาพของกลุ่มด้วยการถือสิทธิ์และครอบครองเทคโนโลยีที่โอเปิลมีอยู่ในมือ และนั่นอาจจะทำให้ PSA สามารถขยับเข้าไปใกล้กับยักษ์ใหญ่ในยุโรปอย่าง Volkswagen Group ขึ้นอีกนิด

●   นอกจากนี้ Mr. Carlos Tavares ผู้บริหารระดับสูงของ PSA ยังมีแผนเข้าพบกับ Theresa Mary นายกรัฐมนตรีแห่งสหราชอาณาจักรเพื่อหารือเกี่ยวกับทิศทางของแบรนด์วอกซ์ฮอลล์ในอนาคต รวมถึงการดูแลพนักงานอีกหลายหมื่นชีวิตของวอกซ์ฮอลล์ที่มีความกังวลถึงผลกระทบในขณะนี้ ทั้งในโรงงานที่สหราชอาณาจักรและในเยอรมนีเอง ซึ่งปัจจุบัน GM มีโรงงานผลิตโอเปิล/วอกซ์ฮอลล์ 2 แห่งในสหราชอาณาจักร คือโรงงาน Vauxhall Ellesmere Port และโรงงาน IBC Vehicles โดยโรงงานในเยอรมนีที่ผลิตรถวอกซ์ฮอลล์ในปัจจุบันคือโรงงาน Adam Opel AG Werk Russelsheim

●   ล่าสุดเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2017 ที่ผ่านมา สื่อใหญ่อย่าง Barron’s ได้คาดการณ์ว่าหากดีลนี้ไม่มีอะไรผิดพลาด หุ้นของ GM น่าจะพุ่งขึ้นอย่างต่ำๆ 35% และ GM ก็น่าจะมีกระแสเงินสดเพิ่มขึ้นราว 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทันที ทว่ามูลค่าจริงๆ ของดีลนี้คือการที่ GM สามารถอุดรอยรั่วในยุโรปได้สำเร็จ และหันมาตั้งเป้าหมายการดำเนินงานในจีน, ละตินอเมริกา และอเมริกาเหนือได้อย่างเต็มที่   ●


Carlos Tavares, CEO ของ Groupe PSA และ Mary Barra, CEO ของ GM


Update 1: จบดีลที่ 2.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

Tuesday, 7 March, 2017 12:59 PM

 

●   ย้อนไปในปี 2010 บอร์ด GM เคยมีมติว่าจะไม่ขายแบรนด์โอเปิลอย่างแน่นอน… ผ่านไป 6 ปี เศรษฐกิจโลกมีการพลิกผันอย่างต่อเนื่อง แม้ GM จะพลิกฟื้นคืนชีวิตกลับมาได้อย่างสวยหรู หลังผ่านกระบวนการพิทักษ์สินทรัพย์ ทว่าที่สุดแล้ว วันที่ GM เห็นสมควรว่าถึงเวลาจะปล่อยมือจากโอเปิลและการดำเนินงานในยุโรปก็มาถึง

●   ดีลสำคัญของ GM และ Groupe PSA (เปอโยท์ ซีตรอง) ผ่านไปด้วยดี มูลค่าของข้อตกลงนี้จบที่ตัวเลข 2.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 8.5 หมื่นล้านบาท ยังผลให้ Groupe PSA กลายเป็นยักษ์ใหญ่อันดับที่ 2 ในอุตสาหกรรมยานยนต์ยุโรปรองจากโฟล์คสวาเกน กรุ๊ปทันที นอกจากนี้ Groupe PSA ยังเชื่อว่ารถยนต์ภายใต้แบรนด์โอเปิล/วอกซ์ฮอลล์ จะช่วยกลุ่มสามารถทำกำไรได้ภายในปี 2026

●   ในขณะที่ GM ลอยตัว และ PSA ได้ประโยชน์เต็มที่จากแบรนด์โอเปิล/วอกซ์ฮอลล์ ทว่าความกังวลส่วนใหญ่ตกไปอยู่ที่พนักงานในโรงงานซึ่งยังไม่มีความแน่นอนว่าจะต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงในรูปแบบใด… อย่างไรก็ตาม Mr. Carlos Tavares ได้ให้คำมั่นว่า หากทีมงานเดิมยังมีผลงานที่ดี และมีแนวคิดที่สร้างสรรค์ ก็ไม่อะไรต้องกังวลกับความเปลี่ยนแปลงนี้ (ซึ่งผู้แปลคิดว่ายังเร็วไปที่จะมีการการันตีใดๆ แบบเป็นรูปธรรมจาก PSA ในเวลานี้)

●   นอกจากนี้เว็บไซท์ bbc.com ยังมีรายงานว่า เรื่องเร่งด่วนที่ PSA จะต้องตัดสินใจก็คือ การเตรียมงานผลิต Opel Astra ใหม่ซึ่งยังไม่มีความแน่ชัดว่าจะใช้โรงงานใดเป็นฐานการผลิต อันเป็นผลกระทบต่อเนื่องจากกรณี Brexit ที่อังกฤษออกจาก EU และทำให้แบรนด์สัญชาติอังกฤษอย่างวอกซ์ฮอลล์จำเป็นต้องแบกรับภาระในส่วนของภาษีชิ้นส่วนสำหรับการประกอบรถยนต์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งนั่นหมายถึงต้นทุนที่สูงขึ้นไปโดยปริยาย

●   ที่สำคัญ Mr. Tavares ได้แถลงการณ์ในชั้นต้นว่า Groupe PSA ตั้งใจจะปรับลดค่าใช้จ่ายบางส่วนในการดำเนินการปีละราวๆ 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ดังนั้นผลกระทบบางส่วนจะต้องเกิดขึ้นกับพนักงานในโรงงานทั้งในสหราชอาณาจักรและเยอรมันอย่างแน่นอน ในขณะที่วิศวกรส่วนงาน R&D ยังคงเป็นขุมทรัพย์ที่ PSA รอวันนำออกมาใช้งาน   ●