January 27, 2017
Motortrivia Team (10069 articles)

TATA พยายามผลักดันอนาคต Nano ด้วยระบบขับเคลื่อนใหม่ๆ แบบกรีน


Posted by : AREA 54

 

●   TATA Nano รถเล็กที่ควรจะประสบความสำเร็จในอินเดียกลับไปได้ไม่สวยเท่าที่ (ทาทา) คิด เนื่องจากข้อจำกัดหลายๆ อย่างของตัวรถ ไม่ว่าจะเป็นขนาด ประสิทธิภาพ หรือความปลอดภัย ล่าสุดแชร์แมนคนใหม่ของ Tata Sons Limited Mr. Natarajan Chandrasekaran ซึ่งเพิ่งรับตำแหน่งในช่วงต้นเดือนมกราคม 2017 ที่ผ่านมา ขอลองคิดใหม่ทำใหม่ ด้วยการเพิ่มเติมระบบขับเคลื่อนแบบยกชุดไปเป็นรถกรีนเต็มระบบ

●   เว็บไซท์ hindustantimes.com มีรายงานว่า Nano ไม่ได้เป็นเพียงแค่รถรุ่นหนึ่งภายใต้แบรนด์ทาทาเท่านั้น แต่มันเป็นรถที่ทาทาฝันว่าจะเปลี่ยนโฉมการเดินทางในอินเดีย อย่างไรก็ตาม ตัวเลขยอดจำหน่ายนับตั้งแต่ปี 2009 จนถึงปัจจุบันแสดงให้เห็นว่า ยอดจำหน่ายของ Nano นั้นร่วงลงมาแบบน่าใจหาย ในช่วงปี 2010 – 2012 Nano มียอดจำหน่ายสูงสุดมากกว่า 7 หมื่นคันต่อปี จากนั้นก็ทิ้งดิ่งจนมาเหลือเพียง 1.6 หมื่นคันในช่วงปี 2015

●   ตามข่าว ทีม R&D ของทาทา มอเตอร์ส กำลังพัฒนาระบบเคลื่อนใหม่ๆ ให้กับ Nano เพื่อให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย โดยนอกเหนือจากรุ่นเครื่องยนต์สันดาปภายใน Nano น่าจะมีรุ่นย่อยระบบขับเคลื่อนเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 2 หรือ 3 ตัวเลือก นั่นคือ Nano พลังไฮบริด และ Nano BEV หรือไฟฟ้าล้วนแบบแบตเตอรี่ ส่วนแบบที่ 3 ซึ่ง “อาจจะ” มีเพิ่มเติมเข้ามาคือ ระบบขับเคลื่อนแบบอัดอากาศ หรือรถ CAV : Compressed-air vehicle

●   ก่อนอื่น… ปัญหาความเข้าใจในเนื้อหาข่าวของคุณผู้อ่านในบ้านเราคือมักจะติดกับเนื้อหาพลังงานทางเลือกที่ดูดีเกินความจริงจากคำบางคำ เช่น “ใช้พลังงานจากน้ำทะเล” (เช่น Nano Flowcell) หรือใช้ “อากาศ” แบบที่เราจะกล่าวถึงในย่อหน้าถัดไป ผู้แปลอยากบอกว่า พลังงานทางเลือกเหล่านี้ ไม่ได้หมายถึงการวักน้ำทะเลมาใส่ในรถ (ในที่นี้คือใช้น้ำเกลือเป็นสื่อนำไฟฟ้า) หรือมีเครื่องดักลมดักอากาศมาใช้ได้เลย ทุกอย่างมีกระบวนการที่ซับซ้อนมากมายในการนำมันมาแปลงเป็นพลังงานขับเคลื่อน ที่สำคัญไม่ได้หมายความว่ามันเป็นพลังงานฟรีที่หาได้ทั่วไป

●   ในกรณีของทาทา ระบบขับเคลื่อนแบบอัดอากาศนี้ไม่ใช่การศึกษาแบบ in-house แต่อาศัยความร่วมมือของบริษัทฝรั่งเศส Motor Development International ซึ่งกำลังพัฒนาซิตี้คาร์ขนาดจิ๋วในชื่อ Air Car โดยยังไม่ได้มีการทำตลาดอย่างจริงจัง ณ เวลานี้… ทั้งนี้ โปรเจคท์ร่วมระหว่าง ทาทา-มอเตอร์ เดวิลอปเมนท์ (บางแหล่งข่าวใช้คำว่าขายสิทธิบัตรไปเลย) เป็นแผนงานระยะยาว 7 ปี ที่เริ่มขึ้นในปี 2012 ซึ่งก็ต้องรอดูกันต่อไปว่ามันจะคุ้มค่ากับการลงทุนของทาทาหรือไม่

●   สำหรับระบบอัดอากาศในรถ หรือรถ Compressed-air vehicle หรือ Compressed air car นั้น มีหลักการทำงานพื้นฐานคือ ใช้อากาศอัดเข้าไปในถังความดันสูง จากนั้นจึงใช้แรงดันอากาศไปขับเคลื่อนการทำงานของลูกสูบภายในเครื่องยนต์แบบนิวเมติคที่ออกแบบมาโดยเฉพาะ ในที่นี้เรียกว่า Pneumatic motor หรือ Compressed air engine

●   ตัวรถต้นแบบแรกของ Motor Development International ที่ชื่อ AIRPod ในปี 2009 นั้น ชุดระบบประกอบด้วยถังอัดอากาศแบบคาร์บอนไฟเบอร์/เทอร์โมพลาสติค ความจุ 175 ลิตร แรงดัน 350 บาร์ ส่งแรงดันไปขับเคลื่อนลูกสูบ กำลังสูงสุดผลิตได้เพียง 4 กิโลวัทท์ หรือราว 5 แรงม้านิดๆ (HP) แรงบิด 1.5 กก.-ม. เท่านั้น ความเร็วสูงสุดประมาณ 70 กม./ชม. วิ่งทำระยะทางแบบนอกเมืองได้ราว 220 กม. ระยะเวลาในการอัดอากาศเต็มถัง 1.5 นาที

●   เบรคฝันกันไว้ตรงนี้อีกนิด… ตัวเลขระยะทาง 220 กม. นี้มาจากรถขนาดจิ๋วที่มีน้ำหนักตัวรถเปล่าๆ เพียง 220 – 300 กก. นะครับ ในขณะที่ TATA Nano รุ่นปัจจุบันหากยกเครื่องยนต์เดิมออกไปอย่างน้อยๆ ก็ต้องมีน้ำหนักราว 600 กก. เมื่อรวมน้ำหนักตัวผู้ขับ ผู้โดยสารก็น่าจะหนักราว 700 กก. ขึ้นไป คิดแบบมองโลกในแง่ดี ตีเสียว่าหากทาทานำระบบต้นแบบนี้มาใช้งานจริง (โดยยังไม่ได้พัฒนาอะไรเพิ่มเติม) ก็น่าจะวิ่งได้ประมาณ 100 กม. +/- นิดหน่อย

●   เห็นว่าได้ชัดว่า เฉพาะระบบอัดอากาศนั้นให้ประสิทธิภาพได้ไม่น่าประทับใจนัก อย่างไรก็ตามหากในอนาคตมีการต่อยอดไปใช้ร่วมกับระบบไฟฟ้า มีแบตเตอรี่ในการเก็บประจุไฟฟ้า มีระบบพื้นๆ (ในปัจจุบัน) อย่าง regenerative braking ช่วยชาร์จไฟกลับในขณะเบรคก็น่าจะเข้าที… เปรียบเทียบให้เห็นภาพกันอีกนิด หากเป็นรถ range-extended ที่ใช้เครื่องยนต์เป็นเจนเนอเรเตอร์ เราก็โยนเครื่องยนต์สันดาปภายในทิ้งไปแล้วเอาระบบอัดอากาศแรงดันสูงเข้าไปแทนที่… หรือหากเป็นรถ fuel cell เราก็โยนชุด cell stack ทิ้งไปแล้วเอาระบบอัดอากาศแรงดันสูงเข้าไปแทนที่… แต่จะคุ้มหรือเปล่าไม่แน่ใจครับ

●   อย่างไรก็ตาม ผู้แปลขอเอาใจช่วยทาทาครับ การก้าวไปข้างหน้าด้วยความกล้าย่อมดีกว่าย่ำอยู่กับที่   ●