January 5, 2017
Motortrivia Team (10162 articles)

2017 Faraday Future FF 91 ผ่านอุปสรรคแรกสำเร็จที่ CES

เรื่อง : AREA 54

●   หลังจากที่ลุ้นกันมาพักใหญ่ ในที่สุด ฟาราเดย์ ฟิวเจอร์ก็ผ่านอุปสรรคแรกได้สำเร็จ เปิดตัวโปรโตไทป์ของรุ่นโปรดัคชั่นรุ่นแรกในชื่อ FF 91 ไปในงาน 2017 CES หรือ Consumer Electronics Show ที่ลาส เวกัส ทันตามกำหนดการณ์ที่วางเอาไว้ ตัวงานจะมีขึ้นระหว่างวันที่ 5 – 8 มกราคม 2017 นี้

●   ก่อนหน้านี้ ฟาราเดย์ ฟิวเจอร์ ได้จัดแสดงต้นแบบ FFZERO1 Concept ซึ่งใช้ภาพลักษณ์ของรถในลักษณะ Le Mans prototype เป็นตัวแทนธีมงานออกแบบสำหรับรุ่นจำหน่ายจริง โดยตัวโปรโตไทป์ FF 91 รุ่นล่าสุดนี้แสดงให้เห็นว่าฟาราเดย์ ฟิวเจอร์ตั้งความหวังในการ “ขาย” เอาไว้อย่างเต็มที่ ตัวรถฉีกแนวคู่แข่งอย่าง Lucid Air และ Tesla Model S จากซีดานไปเป็นครอสโอเวอร์ซึ่งมีแนวโน้มทางการตลาดว่าจะขายได้สะดวกกว่า และมีกลุ่มลูกค้าที่กว้างกว่าตามมุมมองของนักวิเคราะห์การตลาด

●   FF 91 ตัวโปรโตไทป์ติดตั้งระบบขับเคลื่อนไฟฟ้าล้วนแบบแบตเตอรี่ (BEV – battery electric vehicle) ใช้มอเตอร์ไฟฟ้า 4 ตัวแยกขับล้อทั้ง 4 กำลังรวมทั้งระบบผลิตได้ 1,050 แรงม้า (HP) แรงบิดสูงสุด 184.4 กก.-ม. เก็บประจุไฟฟ้าด้วยแบตเตอรี่ลิเธียม-ไออน ความจุหรือความสามารถในการจ่ายไฟใน 1 ชม. เท่ากับ 130 กิโลวัทท์-ชม. (ความจุเท่ากับ Lucid Air) ซัพลายเออร์คือ LG Chem เกาหลีใต้

●   การแยกติดตั้งมอเตอร์ไฟฟ้า 4 ล้อนี้ ฟาราเดย์ ฟิวเจอร์เรียกมันว่า multi-motor จุดเด่นก็คือมันสามารถเพิ่ม-ลดกำลังในแต่ละล้อได้อย่างอิสระ ซึ่งทำให้วิศวกรสามารถเขียนซอฟท์แวร์ควบคุมระบบกระจายแรงบิดได้ในอีกชั้นหนึ่ง (Torque Vectoring Control) โดยไม่ต้องมีกลไกฮาร์ดแวร์ที่ซับซ้อนในแบบระบบขับเคลื่อน 4 ล้อทั่วไป ทว่าในความเป็นจริงแล้ว ฟาราเดย์ ฟิวเจอร์ไม่ได้ทำอะไรในแบบใหม่เอี่ยมครับ เนื่องจากแนวคิดของเซ็ทอัพในลักษณะนี้ Rimac Concept_One ทำมาก่อนหน้านี้แล้วในปี 2011 พร้อมกับระบบกระจายแรงบิดที่ใช้ชื่อว่า AWTV หรือ All Wheel Torque Vectoring

●   สำหรับระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติใน FF 91 ประกอบด้วยเรดาห์รัศมีทำการระยะใกล้-ไกลรวม 13 ตัว, กล้อง HD 10 ตัว, เซนเซอร์ อัลตราโซนิค 12 ตัว และมี Lidar (ทำงานในลักษณะเดียวกับเรดาห์ คือ ยิง และสะท้อนกลับเพื่อวัด ระยะ-เวลา ในการเดินทางของแสงเลเซอร์) แบบลอยตัวและสามารถสอดเก็บได้แบบอัตโนมัติติดตั้งเอาไว้บนฝากระโปรงหน้า เบื้องต้นลักษณะการใช้งานน่าจะเหมือนกับเทสล่า คือ “ฮาร์ดแวร์รองรับ และมีการอัพเกรดซอฟท์แวร์เพิ่มความสามารถเป็นระยะ” ดังนั้นฟังก์ชั่นพื้นฐานจึงไม่มีอะไรแตกต่างกัน อาทิ ฟังก์ชั่นช่วยจอดอัตโนมัติ, นำรถเข้าไปจอดในโรงรถด้วยตัวเอง หรือขับเคลื่อนด้วยตัวเอง เพิ่ม-ลดความเร็วเป็นบางช่วงบนไฮเวย์ (ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของผู้ขับ) เป็นต้น

●   สิ่งที่ยั่วใจบรรดาพ่อบ้านเท้าหนักคือตัวเลขอัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. ที่ใช้เวลาเพียง 2.3 วินาที ในขณะที่ตัวเลขสำหรับแม่บ้านได้แก่ระยะทางในการวิ่งต่อ 1 ชาร์จที่สูงถึง 608 กม. อย่างไรก็ตาม ตัวเลขนี้เป็นเข้าใจได้จากความจุของแบตเตอรี่แพคที่ส่งผลให้ FF 91 กลายเป็นรถที่มีความจุแบตเตอรี่สูงสุดในคลาสไฟฟ้าเป็นรุ่นที่ 2 ต่อจาก Lucid Air ที่ใช้แบตเตอรี่แพคความจุเท่ากัน แน่นอนว่ามันจะต้องดันราคารถให้แพงมากขึ้นไปด้วย… หากมีการผลิตจริง

●   “หากมีการผลิตจริง” เป็นข้อความที่ผู้แปลตั้งใจเน้น และเอาใจช่วยอย่างยิ่งยวดครับ ฟาราเดย์ ฟิวเจอร์กำลังประสบปัญหาทางการเงินอย่างหนักหน่วง และมีปัญหากับกลุ่มทุนยักษ์ใหญ่จากจีนอย่าง LeEco ชัดเจน หากพวกเขาไม่สามารถข้ามผ่านอุปสรรคในส่วนนี้ได้ก็อาจจะต้องปิดบริษัทไปภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2017 ที่จะถึงนี้

●   ถึงอย่างนั้น ฟาราเดย์ ฟิวเจอร์ก็ยังสู้ไม่ถอย พร้อมเปิดจองรถ 300 คันแรกในชื่อ FF 91 Alliance Edition ด้วยเงินจองเพียง 5,000 ดอลลาร์ หรือราว 1.8 แสนบาทเท่านั้น รายได้ส่วนหนึ่งในการขายคันจริงจะถูกบริจาคไปยังองค์กรเพื่อสิ่งแวดล้อมในสหรัฐฯ ด้วย ทว่าฟาราเดย์ ฟิวเจอร์ยังไม่เปิดเผยราคาจำหน่ายในขณะนี้   ●

2017 Faraday Future FF 91 Prototype