September 22, 2016
Motortrivia Team (10069 articles)

Toyota Camry 2.5G ลองขับรุ่นย่อยสูงสุดของเครื่องเบนซิน


เรื่อง-ภาพ : นาธัส แสงสุริยะ

 

  โตโยต้า คัมรี่ โฉมปัจจุบัน เป็นเจนเนอเรชั่นที่ 7 ในตลาดโลก และเจนเนอเรชั่นที่ 5 ในเมืองไทย เปิดตัวในไทยมีนาคม 2012 ทำตลาดด้วยรุ่นเบนซิน 2,000 และ 2,500 ซีซี รวมทั้งรุ่นไฮบริด จากนั้นมีการปรับโฉมครั้งใหญ่ในปี 2015 และล่าสุดเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เน้นการเพิ่มอุปกรณ์มาตรฐาน ทีมงาน มอเตอร์ทริเวีย มีโอกาสทดลองขับรุ่น 2.5G ใช้เส้นทางจากศูนย์ทดสอบรถยนต์โตโยต้า Toyota Driving Experience หรือ TDX ถนนบางนา-ตราด ขาออก กิโลเมตรที่ 3 จุดหมายปลายทางอยู่ที่โรงแรมเชอราตัน หัวหิน รีสอร์ท แอนด์ สปา ระยะทางรวมไป-กลับ ประมาณ 400 กิโลเมตร

  คัมรี่ 2.5G เป็นรุ่นย่อยสูงสุดของรุ่นเครื่องยนต์เบนซิน ปรับราคาขึ้นเล็กน้อย จากเดิม 1.569 เป็น 1.599 ล้านบาท นับว่าคุ้มค่าเพราะเพิ่มอุปกรณ์มาตรฐานหลายรายการ ภายนอกเปลี่ยนกระจังหน้าดีไซน์ใหม่ Radiator Black Grille ดูสปอร์ตคมเข้มยิ่งขึ้น พร้อมสีใหม่สำหรับรุ่นนี้ White Pearl (เพิ่มเงิน 10,000 บาท) ภายในเพิ่มระบบกระจกมองข้างทั้ง 2 ฝั่งปรับมุมลงต่ำอัตโนมัติเมื่อเข้าเกียร์ถอยหลัง และพับเก็บอัตโนมัติเมื่อล็อครถ, คอนโซลเกียร์ดีไซน์ใหม่ คันเกียร์หุ้มหนังพร้อมลายไม้, เพิ่มหน่วยความจำเบาะไฟฟ้าฝั่งผู้ขับ สัมพันธ์กับตำแหน่งกระจกมองข้าง บันทึกได้ 2 ตำแหน่ง, ที่ปัดน้ำฝนอัตโนมัติ, ชุดเครื่องเสียง JBL Green Edge Tech เพิ่มลำโพงจาก 10 เป็น 12 ตัว ติดตั้งใน 8 ตำแหน่งรอบห้องโดยสาร

  เครื่องยนต์ไม่เปลี่ยนแปลง รหัส 2AR-FR เบนซิน 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว Dual VVT-i หัวฉีด EFI พร้อมระบบแปรผันความยาวท่อไอดีให้สัมพันธ์กับรอบเครื่องยนต์ ความจุ 2,494 ซีซี กำลังสูงสุด 181 แรงม้า ที่ 6,000 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุด 23.53 กก.-ม. ที่ 4,100 รอบต่อนาที เกียร์อัตโนมัติ 6 จังหวะ พร้อม Sequential Shift ปล่อยคาร์บอนไดอ๊อคไซด์ในไอเสีย 188 กรัมต่อกิโลเมตร รองรับแก๊สโซฮอล์ E20 ผ่านมาตรฐานไอเสีย ยูโร 4

  ระบบความปลอดภัยครบครัน เช่น แอร์แบ็ก 7 ใบ ประกอบด้วยคู่หน้า, ด้านข้าง, ม่านนิรภัย และแอร์แบ็กหัวเข่าผู้ขับ ระบบเตือนจุดบอดด้านข้าง Blind Sport Monitor และ Rear Cross Traffic Alert ระบบ Traction Control หรือ TRC ป้องกันล้อหมุนฟรี, Vehicle Stability Control หรือ VSC ควบคุมการทรงตัว, Hill-Start Assist Control หรือ HAC ช่วยออกตัวบนทางลาดชัน พร้อม ABS ป้องกันล้อล็อค, EBD กระจายแรงเบรก และ BA เสริมแรงเบรก เบาะไฟฟ้าคู่หน้าปรับได้ 8 ทิศทาง มีระบบชาร์จไฟสมาร์ทโฟนแบบไร้สาย ซึ่งทดลองแล้วใช้งานได้จริง


คุณภีมะ ฮัดเจสสัน ผู้อำนวยการฝ่ายประชาสัมพันธ์ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด


  กิจกรรมในช่วงเช้าได้รับเกียรติจาก คุณภีมะ ฮัดเจสสัน ผู้อำนวยการฝ่ายประชาสัมพันธ์ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด กล่าวต้อนรับสื่อมวลชน จากนั้นจึงเริ่มกิจกรรมทดสอบในสนาม ซึ่งแบ่งเป็น 3 ส่วน คือ การขับในลานทดสอบเอนกประสงค์ เพื่อลองอัตราเร่งในทางตรง การเข้าโค้ง ทดสอบเรื่องการเก็บเสียงและการสั่นสะเทือนเมื่อขับบนผิวถนนขรุระ การดูดซับแรงกระแทกเมื่อขับผ่านคอสะพานด้วยความเร็วประมาณ 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

  การทดสอบ ABS และ VSC บนลานที่มีความลื่นมากกว่าถนนปกติ จากผิวถนนที่ลื่นและมีฉีดน้ำเพิ่มความลื่น กำหนดให้ใช้ความเร็ว 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เมื่อเริ่มหมุนพวงมาลัยเพื่อสลาลมตัวรถก็ค่อยๆ เสียการทรงตัว เหมือนภาพสโลโมชั่นเพราะใช้ความเร็วต่ำ พยายามหมุนพวงมาลัยเพื่อแก้อาการ แต่เจ้าหน้าที่ของโตโยต้าบอกว่าหมุนช้าเกินไป เพราะผิวถนนลื่นกว่าปกติมาก รถค่อยๆ ไหลขวางเข้าไปชนไพล่อน ทั้งที่เหยียบเบรกอย่างเต็มที่แล้ว ABS ทำงาน รู้สึกว่าแป้นเบรกสู้เท้าเบาๆ ระบบช่วยเหลือต่างๆ แม้จะมีประสิทธิภาพสูงและทำงานได้อย่างสอดคล้องกับการใช้งานมากขึ้น แต่ก็ยังมีข้อจำกัด ความปลอดภัยในการขับจึงขึ้นอยู่กับตัวผู้ขับเป็นหลัก ไม่ใช่อุปกรณ์

  ปิดท้ายด้วย Lane Change สมมุติสถานการณ์ว่าต้องเปลี่ยนเลนฉุกเฉินเพื่อหลบสิ่งกีดขวาง ใช้ความเร็ว 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ช่องที่ให้หลบวางไพล่อนบีบไว้ค่อนข้างแคบ ต้องหมุนพวงมาลัยอย่างรวดเร็ว ยืนดูสื่อมวลชนท่านอื่นขับทดสอบเห็นว่าใช้ความเร็วค่อนข้างสูง แต่ก็ไม่มีคันไหนเสียการตรงตัว ลองขับเองใช้ความเร็วตามที่กำหนด สามารถหักหลบได้สบายๆ เจ้าหน้าที่ของโตโยต้าบอกว่าลองใช้ความเร็วถึง 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ก็ยังหลบผ่านไปได้เพราะทั้ง TRC และ VSC จะทำงานผสานกันเพื่อรักษารถให้ไปตามทิศทางของพวงมาลัย ในสถานการณ์คับขันถ้าผู้ขับมีสติ เพียงควบคุมพวงมาลัยเพื่อหลบหลีก ระบบก็จะช่วยให้การควบคุมนั้นทำได้ง่ายขึ้นและปลอดภัยขึ้น

  การทดสอบอีก 2 ส่วนที่เหลือคือการลองใช้ระบบ Rear Cross Traffic Alert ทำงานอัตโนมัติเมื่อเข้าเกียร์ถอยหลัง ทำงานที่ความเร็วต่ำกว่า 8 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และรถด้านข้างใช้ความเร็ว 8-28 กิโลเมตรต่อชั่วโมง พื้นที่ตรวจจับ 5.5-20 เมตร ระยะด้านลึก 6 เมตร สมมุติบางสถานการณ์ที่ต้องจอดแบบหันหน้าเข้า เช่น ขับรถไปช็อปปิ้งหรือเล่นกอล์ฟ ต้องหันท้ายออกเพื่อให้เคลื่อนย้ายสัมภาระได้สะดวก เมื่อจะออกจากช่องจอดก็ต้องถอยหลังออก ถ้ามีรถจอดประกบด้านข้าง มุมมองด้านหลังก็จะค่อนข้างจำกัด มองไม่เห็นรถด้านหลังที่ขับมา ระบบนี้ใช้เซ็นเซอร์ในการตรวจจับรถคันอื่น โดยจะเตือนด้วยสัญญาณเสียงและไฟกระพริบที่กระจกมองข้าง ถ้ารถมาจากด้านไหนก็จะเตือนที่กระจกข้างด้านนั้น สังเกตว่าสัญญาณเตือนจะดังขึ้นก่อนที่ผู้ขับจะมองเห็นรถที่ขับมาทั้งจากกระจกมองข้างและกล้องมองหลัง แสดงว่าระบบนี้ช่วยเพิ่มความปลอดภัยได้จริง ปิดท้ายด้วยการอธิบายอุปกรณ์ที่เพิ่มขึ้นในรถรุ่นนี้ รวมทั้งทดลองใช้ระบบต่างๆ จากนั้นจึงพักรับประทานอาหารกลางวัน

  อิ่มแล้วเริ่มออกเดินทางด้วยทางด่วนมุ่งหน้าถนนพระราม 2 ในเวลาประมาณ 11.30 น. จุดหมายแรกอยู่ที่ Danus’ Hobby Farm ระยะทางประมาณ 110 กิโลเมตร ตลอดเส้นทางสภาพการจราจรค่อนข้างโล่ง เซต 0 ข้อมูลการขับแล้วออกเดินทาง มีผู้ขับและผู้โดยสาร รวม 3 คน ขับแบบ Free Run แต่ก็ไม่ได้ขับเร็วนัก เน้นขับสบายๆ ตามรถทีมงานโตโยต้าไปเรื่อยๆ ปลอดภัยดีเพราะจะวิทยุมาบอกสภาพการจราจรด้านหน้าเป็นระยะ ใช้ความเร็วตามสภาพการจราจร 100-120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

  แอบปั้นตัวเลขอัตราสิ้นเปลืองบ้าง ด้วยการพยายามไม่คิ๊กดาวน์ ใช้การเร่งในเกียร์เดิม ในช่วงรอบต่ำ-ปานกลางพบว่า ถ้าต้องการเร่งแซงอย่างรวดเร็ว ก็ต้องใช้การคิ๊กดาวน์เปลี่ยนเกียร์ลงต่ำ ลากรอบสูงสักนิด แถวๆ 3,000 รอบต่อนาทีขึ้นไป รถจะเริ่มกระฉับกระเฉงขึ้น เร่งติดเท้ามากขึ้น รอบเครื่องยนต์กับความเร็วยังเท่ารุ่นเดิม ในโหมดเกียร์ D ที่ความเร็ว 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ใช้รอบ 1,500 รอบต่อนาที และถ้ากดคันเร่งไปถึง 2,500 รอบต่อนาที จะได้ความเร็ว 140 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ส่วนในโหมด Sequential Shift ยังคงคิ๊กดาวน์ได้

  บางช่วงที่ทำความเร็วได้นิ่งๆ อัตราสิ้นเปลืองเฉลี่ยในชุดมาตรวัดดีดขึ้นไปถึง 15.8 กิโลเมตรต่อลิตร ช่วงหลังๆ เริ่มขยับเพิ่มความเร็วกันมากขึ้นเพราะทางโล่ง ถึงโรงแรมเชอราตันได้อัตราสิ้นเปลืองเฉลี่ย 14.8 กิโลเมตรต่อลิตร ความเร็วเฉลี่ย 85 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เป็นตัวเลขของการขับทางไกล ถ้าเฉลี่ยการใช้งานในเมืองด้วยก็น่าจะสูสีกับตัวเลขโรงงานที่ระบุอัตราสิ้นเปลืองเฉลี่ยไว้ 12.5 กิโลเมตรต่อลิตร ความรู้สึกในการขับโดยรวมไม่ต่างจากเดิม เพราะไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงในจุดที่เกี่ยวข้อง

  โตโยต้า คัมรี 2.5G รุ่นปรับโฉม เพิ่มอุปกรณ์เพื่อความสะดวกและปลอดภัย เป็นรถที่เน้นขับแบบสบายๆ เงียบสงบสไตล์ผู้ใหญ่ หรือจะนั่งบนเบาะหลังแล้วมีคนขับให้ก็ไม่ขัดตา เครื่องยนต์และระบบส่งกำลังทำงานราบเรียบนุ่มนวล มีกำลังสำรองพอสมควร ช่วงล่างเซตมากลางๆ ไม่นุ่มจนย้วย แต่ก็ไม่แข็งจนกระด้าง พวงมาลัยผ่อนแรงพอเหมาะควบคุมง่าย เพิ่มราคา 30,000 บาท นับว่าคุ้มเมื่อเทียบกับอุปกรณ์ที่ได้รับ มาพร้อมการรับประกันคุณภาพ 3 ปี หรือ 100,000 กิโลเมตร อุ่นใจกับศูนย์บริการ 455 แห่ง ครอบคลุมทั่วประเทศ ซึ่งนับเป็นอีกหนึ่งจุดแข็งของโตโยต้า  

ขอบคุณ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด อำนวยความสะดวกตลอดการเดินทาง

Specification: Toyota Camry 2.5G

–   แบบตัวถัง ซีดาน 4 ประตู
–   ยาว x กว้าง x สูง 4,850 x 1,825 x 1,470 มิลลิเมตร
–   ฐานล้อ 2,775 มิลลิเมตร
–   ความกว้างล้อหน้า/หลัง 1,580/1,570 มิลลิเมตร
–   น้ำหนัก 1,475 กิโลกรัม
–   แบบเครื่องยนต์ เบนซิน 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว Dual VVT-i
–   ความจุ 2,494 ซีซี
–   กระบอกสูบ x ช่วงชัก 90.0 x 98.0 มิลลิเมตร
–   อัตราส่วนการอัด 10.4:1
–   กำลังสูงสุด 181 แรงม้า ที่ 6,000 รอบต่อนาที
–   แรงบิดสูงสุด 23.53 กก.-ม. ที่ 4,100 รอบต่อนาที
–   ระบบส่งกำลัง อัตโนมัติ 6 จังหวะ พร้อม Sequential Shift
–   ระบบขับเคลื่อน ล้อหน้า
–   ระบบบังคับเลี้ยว แร็กแอนด์พิเนียนพร้อมเพาเวอร์ไฟฟ้า EPS
–   ระบบกันสะเทือนหน้า อิสระ แม็กเฟอร์สันสตรัต พร้อมเหล็กกันโคลง
–   ระบบกันสะเทือนหลัง อิสระ ดูอัลลิงก์ สตรัต
–   ระบบเบรกหน้า/หลัง ดิสก์พร้อมครีบระบายความร้อน/ดิสก์ พร้อม ABS, EBD และ BA
–   ผู้จำหน่าย บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด
–   โทรศัพท์ Call Center 0-2386-2000 หรือ 1800-238-444
–   เวบไซต์ www.toyota.co.th.


2016 Toyota Camry 2.5G : MT Images


2016 Toyota Camry 2.5G : Official Images