September 12, 2016
Motortrivia Team (10069 articles)

Honda Civic 1.5 Turbo RS แรงและประหยัด ลงตัวกับการใช้งาน


เรื่อง – ภาพ : นาธัส แสงสุริยะ

 

  ฮอนด้า ซีวิค โฉมปัจจุบัน เจนเนอเรชั่นที่ 10 เปิดตัวในไทยเดือนมีนาคม 2559 ที่ผ่านมา ทีมงาน มอเตอร์ทริเวีย มีโอกาสได้ทดลองขับแบบกลุ่ม 2 ครั้ง ที่สนามช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล และ อีกครั้งที่ภูเก็ต ล่าสุดขอยืมรถรุ่น 1.5 Turbo RS มาทดลองขับเพื่อเก็บข้อมูลในส่วนที่เหลือคือ อัตราเร่งและอัตราสิ้นเปลือง รวมทั้งความสะดวกสบายกับการขับใช้งานในชีวิตประจำวัน

 

ภายนอกโฉบเฉี่ยวล้ำสมัย

  รูปลักษณ์ของซีวิคใหม่ เน้นความเตี้ยและแบนกว้างดูคันใหญ่กว่าคอมแพกต์ซีดานรุ่นอื่น ตกแต่งด้วยเส้นสายที่เฉียบคม ด้านหน้าล้ำสมัยด้วยไฟหน้า LED รับกับกระจังหน้าทรงเฉียงให้ความรู้สึกดุดัน ด้านล่างมีสปอตไลต์ทรงกลมแบบ LED เช่นกัน ฝากระโปรงหน้างุ้มต่ำต่อเนื่องกับโป่งล้อหน้าเพิ่มความสปอร์ต ด้านข้างมีเส้นตัวถังลากผ่านด้านหน้าจรดหลัง แนวเส้นหลังคาลาดลงสู่ด้านหลังค่อนข้างมาก และเป็นแนวเดียวต่อเนื่องกับกระจกบานหลังและฝาท้าย ส่วนล่างของตัวรถมีเส้นตัวถังอีกชุดลากเฉียงขึ้นรับกับเส้นที่กันชนท้าย ล้อแม็กขนาด 7×17 นิ้ว และยางขนาด 215/50/17

  จุดเด่นของรถรุ่นนี้น่าจะอยู่ที่การออกแบบชุดไฟท้าย ที่ดูโฉบเฉี่ยวสะดุดตาด้วยชุดโคมที่ติดตั้งบนฝากระโปรงท้าย รับกับสปอยเลอร์แบบ Wing ที่มาพร้อมไฟเบรกดวงที่ 3 แบบ LED ด้านล่างมีช่องใส่แถบสะท้อนแสงตกแต่งสไลต์เดียวกับช่องใส่สปอตไลต์ด้านหน้า ท่อไอเสียแยกออกซ้าย-ขวา แต่ซ่อนไว้ด้านล่าง ปลายท่อหน้าตาธรรมดาแต่สามารถแต่งเพิ่มได้

  ภายนอกโดยรวมดูเป็นรถขนาดใหญ่ ปราดเปรียวด้วยตัวรถทรงแบนยาว ให้ความรู้สึกมั่นคง เส้นสายเฉียบคมล้ำสมัย มิติตัวถังมีความยาว 4,630 มิลลิเมตร กว้าง 1,799 มิลลิเมตร สูง 1,416 มิลลิเมตร ฐานล้อ 2,698 มิลลิเมตร ระยะต่ำสุด 125 มิลลิเมตร น้ำหนัก 1,317 กิโลกรัม

ภายในสปอร์ตกว้างขวาง

  สะดวกสบายด้วยระบบ Keyless Entry กดปุ่มยางตรงที่เปิดประตูเพื่อล็อก และแตะที่มือเปิดเพื่อปลดล็อก มีระบบ Engine Remote Start สั่งสตาร์ตเครื่องยนต์พร้อมเปิดแอร์ผ่านรีโมตคอนโทรล ช่วยลดความร้อนเมื่อต้องจอดกลางแดดนานๆ โดยเมื่อเข้าไปนั่งในรถจะต้องกดปุ่มสตาร์ตอีกครั้งจึงจะเข้าเกียร์และขับเคลื่อนรถไปได้ ภายในตกแต่งในโทนสีดำ ตัดกับสีโครเมียมในจุดต่างๆ มาตรวัดแบบ TFT พร้อมจอแสดงข้อมูลต่างๆ ควบคุมด้วยปุ่มฝั่งซ้ายของพวงมาลัย

  คอนโซลกลางติดตั้งจอสัมผัสขนาด 7 นิ้ว แบบ Advanced Touch ใช้ควบคุมและปรับตั้งระบบต่างๆ ของตัวรถ รวมทั้งเครื่องเสียงและระบบนำทางผ่านดาวเทียม ลองใช้งานแล้วพบว่าตอบสนองการสัมผัสได้ดี และทำงานได้รวดเร็วไม่มีอาการหน่วง ถัดลงมาเป็นสวิตช์ควบคุมเครื่องปรับอากาศแบบอัตโนมัติแยกซ้าย-ขวา ควบคุมเฉพาะระบบที่ใช้งานบ่อยๆ ถ้าจะปรับแรงลมหรือทิศทางของลมต้องกดปุ่ม CLIMATE แล้วจึงปรับตั้งผ่านหน้าจอสัมผัส ทำให้ดูมีขั้นตอนมากไปนิด แต่ก็เป็นส่วนที่ไม่ได้ปรับกันบ่อยๆ

  หน้าคอนโซลเกียร์เป็นที่วางของ มีช่องสำหรับร้อยสายผ่านลงไปด้านหลังคอนโซลกลาง ซึ่งมีช่อง USB ขนาด 1.5 แอมป์ และช่องต่อ HDMI รวมทั้งช่องจ่ายไฟฟ้า 12 โวลต์ การออกแบบซ่อนไว้ด้านหลังเสมือนบังคับให้ไม่สามารถใช้งานขณะขับได้ ขนาดเป็นผู้โดยสารยังเสียบใช้งานได้ลำบาก จะให้ง่ายและปลอดภัยต้องต่อพ่วงอุปกรณ์ให้เรียบร้อยก่อนขับรถ คันเกียร์สั้นๆ ดูสปอร์ต มีสวิตช์เปิด-ปิดระบบ BRAKE HOLD และระบบ ECON รวมทั้งเบรกมือไฟฟ้าอยู่ด้านข้าง ที่เท้าแขนตรงกลางมีที่ใส่แก้วน้ำแบบปรับเลื่อนได้ และมีช่อง USB อีก 1 ชุด

  ปลายก้านไฟเลี้ยวซึ่งอยู่ฝั่งขวา มีสวิตช์เปิด-ปิดกล้องมองด้านข้างของระบบ Honda LaneWatch ที่จะเปิดทำงานอัตโนมัติเมื่อเปิดไฟเลี้ยวซ้าย หรือจะกดสวิตช์ให้กล้องทำงานโดยไม่ต้องเปิดไฟเลี้ยวก็ได้ มาพร้อมเส้นกะระยะที่สามารถเปิด-ปิดได้ ช่วงลดมุมอับสายตาขณะเลี้ยวหรือเปลี่ยนเลนได้ดี เมื่อเข้าเกียร์ถอยหลัง กล้องมองหลังจะทำงานอัตโนมัติ แสดงภาพด้านหลังบนหน้าจอที่คอนโซลกลาง สามารถปรับมุมรับภาพได้ 3 แบบ คือ มุมกว้าง มุมปกติ และมุมสูง มาพร้อมเส้นกะระยะแบบแปรผันตามการหมุนพวงมาลัย

ระบบ BRAKE HOLD จะทำงานต่อเมื่อผู้ขับคาดเข็มขัดนิรภัยแล้วเท่านั้น การทำงานสอดคล้องกับการใช้งานจริง ขับคลานๆ ช้าๆ ระบบจะยังไม่ทำงาน ต้องให้รถจอดสนิทเท่านั้น และไม่จำเป็นต้องกดเบรกลึกๆ เพื่อให้ระบบทำงาน แค่แตะเบรกจนรถจอดสนิทก็สามารถยกเท้าออกจากแป้นเบรกได้เลย


  เบาะคู่หน้าปรับไฟฟ้า ผู้ขับปรับ 8 ทิศทาง ส่วนผู้โดยสารด้านหน้า 4 ทิศทาง พวงมาลัยปรับ 4 ทิศทาง ฝั่งซ้ายมีสวิตช์ควบคุมหน้าจอในชุดมาตรวัด เครื่องเสียง การรับโทรศัพท์ และระบบ Siri ส่วนฝั่งขวาเป็นสวิตช์ครูสคอนโทรล มี Paddle Shift ที่ด้านหลังพวงมาลัย แป้นคันเร่งและเบรกแบบสปอร์ต เบาะผู้ขับโอบกระชับพอเหมาะด้วยปีกพนักพิงที่ค่อนข้างสูง ส่วนปีกที่เบาะนั่งไม่สูงนักเพื่อให้เข้า-ออกได้สะดวก ปรับเบาะผู้ขับให้พอดีกับความสูง 170 เซนติเมตรแล้วลองย้ายไปนั่งเบาะหลังตรงฝั่งผู้ขับ เมื่อนั่งแบบพิงเต็มหลังพบว่าหัวเข่าห่างจากพนักพิงเบาะหน้าเกิน 20 เซนติเมตร ส่วนพื้นที่เหนือศีรษะและด้านข้างเหลือไม่มากนัก เบาะหลังมีที่เท้าแขนพร้อมที่วางแก้วน้ำในตัว พนักพิงเบาะหลังพับไม่ได้ ที่เก็บสัมภาระกว้างและลึกพอสมควร

  ระบบ BRAKE HOLD จะทำงานต่อเมื่อผู้ขับคาดเข็มขัดนิรภัยแล้วเท่านั้น การทำงานสอดคล้องกับการใช้งานจริง ขับคลานๆ ช้าๆ ระบบจะยังไม่ทำงาน ต้องให้รถจอดสนิทเท่านั้น และไม่จำเป็นต้องกดเบรกลึกๆ เพื่อให้ระบบทำงาน แค่แตะเบรกจนรถจอดสนิทก็สามารถยกเท้าออกจากแป้นเบรกได้เลย โดยที่ชุดมาตรวัดจะมีไฟแจ้งว่าระบบกำลังทำงาน เมื่อกดคันเร่งเพื่อออกตัว การปลดเบรกก็ทำได้อย่างนุ่มนวล ลองแกล้งด้วยการเบรกให้รถจอดสนิท ระบบ BRAKE HOLD ทำงาน จากนั้นปลดเข็มขัดนิรภัย ระบบจะแจ้งเตือนว่ายกเลิก BRAKE HOLD และเบรกมือไฟฟ้าจะทำงานโดยอัตโนมัติ ลองปลดเบรกมือระบบก็จะแจ้งว่าต้องเหยียบเบรกก่อนถึงจะปลดเบรกมือได้ ดูแล้วมั่นใจได้ว่าระบบนี้จะไม่เกิดการผิดพลาดแน่ๆ

  หลังจากทดลองขับใช้งานทั่วไปพบว่า รถรุ่นนี้รองรับการใช้งานได้ดี อุปกรณ์มาตรฐานต่างๆ สามารถใช้งานได้จริง และช่วยเพิ่มความสะดวกสบายและปลอดภัย ทั้งระบบ Honda LaneWatch ช่วยลดมุมอับ กล้องมองหลังที่มีเส้นกะระยะแบบแปรผัน และระบบ BRAKE HOLD ที่ช่วยลดความเมื่อยล้าเมื่อต้องขับท่ามกลางสภาพการจราจรที่ติดขัด ไฟหน้า LED ทั้งไฟสูงและไฟต่ำ ให้ความสว่างเหลือเฟือและมีขอบแขตที่คมชัด ไม่รบกวนสายตาผู้อื่น การเก็บเสียงที่ความเร็วต่ำทำได้ดี แต่เมื่อใช้ความเร็วระดับ 130-140 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จะมีเสียงลมปะทะค่อนข้างชัด เดาว่ามาจากร่องที่ด้านข้างของกระจกหน้า ซึ่งน่าจะออกแบบไว้เพื่อเป็นรางดักน้ำฝนที่ถูกปัดออก

แรงพอเหมาะ ประหยัดพอตัว

  ซีวิค 1.5 Turbo RS ใช้เครื่องยนต์เบนซินไดเร็คอินเจ็คชั่น 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว มีระบบ Dual VTC หรือ Variable Valve Timing Control เสื้อสูบและฝาสูบอะลูมิเนียม ความจุ 1,498 ซีซี อัดอากาศด้วยเทอร์โบแบบ Single-Scroll พร้อมอินเตอร์คูลเลอร์ บูสต์ประมาณ 16.5 ปอนด์ต่อตารางนิ้ว พร้อมเวสต์เกตไฟฟ้าและอินเตอร์คูลเลอร์ พอร์ตไอเสียเป็นชิ้นเดียวกับฝาสูบ จึงไม่ต้องมีท่อร่วมไอเสีย ให้กำลังสูงสุด 173 แรงม้า ที่ 5,500 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุด 220 นิวตัน-เมตร หรือ 22.4 กก.-ม. ที่ 1,700-5,500 รอบต่อนาที ส่งกำลังด้วยเกียร์อัตโนมัติ CVT พร้อมโหมด +/- 7 จังหวะ

  เริ่มวัดอัตราสิ้นเปลืองตั้งแต่วันแรกที่รับรถ โดยเซตข้อมูลการขับของทริป A ใหม่หมด และจะไม่เซตใหม่อีกจนกระทั่งคืนรถ ขับออกจากฮอนด้าแถวบางนาประมาณ 11.00 น. กลับบ้านที่เมืองนนท์โดยใช้ทางด่วน ระยะทาง 32.8 กิโลเมตร เวลาที่เครื่องยนต์ทำงาน 43 นาที ความเร็วเฉลี่ย 45 กิโลเมตรต่อชั่วโมง มาตรวัดอัตราสิ้นเปลืองเฉลี่ยแสดงตัวเลข 15.4 กิโลเมตรต่อลิตร สำหรับการขับในเมืองล้วนๆ นับว่าอยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจ

  วันที่ 2 ขับไปถ่ายรูปที่เขาใหญ่ ออกเดินทางตั้งแต่เช้ามืด ขับมาถึงแถวๆ มหาวิทยาลัยกรุงเทพเพิ่งนึกได้ จึงเซตทริป B ใหม่ จากนั้นขับยาวๆ ใช้ความเร็ว 100-120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แวะพักที่ปั๊มบนถนนธนรัชต์ ระยะทาง 136.4 กิโลเมตร เวลาที่เครื่องยนต์ทำงาน 1.20 ชั่วโมง ความเร็วเฉลี่ย 101 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ได้อัตราสิ้นเปลือง 18.0 กิโลเมตรต่อลิตร ดูเหมือนจะโกงนิดๆ เพราะเริ่มเซตตอนที่รถทำความเร็วคงที่ได้แล้ว จากนั้นขับใช้งานบนเขาใหญ่ มีการดับและสตาร์ตเครื่องยนต์ใหม่บ่อยครั้ง รวมทั้งติดเครื่องยนต์เดินเบา กลับถึงบ้านเช็คข้อมูลทริป B ระยะทาง 384.5 กิโลเมตร เวลาที่เครื่องยนต์ทำงาน 7.03 ชั่วโมง ความเร็วเฉลี่ย 54 กิโลเมตรต่อชั่วโมง อัตราสิ้นเปลืองเฉลี่ย 16.5 กิโลเมตรต่อลิตร วันที่ 3 ขับแถวชานเมืองช่วงรถโล่งอีกประมาณ 80 กิโลเมตร

อัตราสิ้นเปลืองขณะเดินทางไกล ถ้าขับใช้งานจริงด้วยความเร็วปกติ ไม่ช้ามากเพื่อปั้นตัวเลข แต่ก็ไม่ได้เร็วจัดหรือเร่งแซงรอบสูงตลอดเวลา น่าจะเห็นตัวเลข 14-15 กิโลเมตรต่อลิตร ส่วนตัวเลขโรงงาน 17.9 กิโลเมตรต่อลิตรนั้นก็สามารถทำได้ไม่ยาก


  วันที่ 4 ต้องขับไปเขาใหญ่อีกครั้งเพราะงานยังไม่เสร็จเนื่องจากฝนตก แวะเติมน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91 เต็มถัง คราวนี้ไม่ลืมเซตข้อมูลทริป B ก่อนออกจากบ้าน ใช้ความเร็วประมาณ 120-140 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แวะพักบนถนนมิตรภาพก่อนเลี้ยวเข้าถนนธนรัชต์ บันทึกข้อมูลทริป B ได้ระยะทาง 156.4 กิโลเมตร เวลาที่เครื่องยนต์ทำงาน 1.40 ชั่วโมง ความเร็วเฉลี่ย 93 กิโลเมตรต่อชั่วโมง อัตราสิ้นเปลืองเฉลี่ย 15.9 กิโลเมตรต่อลิตร ถ่ายภาพนิ่งและวีดิโอเสร็จช่วงบ่าย กลับถึงบ้านด้วยระยะทาง 413.3 กิโลเมตร ความเร็วเฉลี่ย 57 กิโลเมตรต่อชั่วโมง อัตราสิ้นเปลืองเฉลี่ย 16.3 กิโลเมตรต่อลิตร

  อัตราสิ้นเปลืองขณะเดินทางไกล ถ้าขับใช้งานจริงด้วยความเร็วปกติ ไม่ช้ามากเพื่อปั้นตัวเลข แต่ก็ไม่ได้เร็วจัดหรือเร่งแซงรอบสูงตลอดเวลา น่าจะเห็นตัวเลข 14-15 กิโลเมตรต่อลิตร ส่วนตัวเลขโรงงาน 17.9 กิโลเมตรต่อลิตรนั้นก็สามารถทำได้ไม่ยาก แค่ขับบนทางโล่งด้วยความเร็วปานกลาง 100-110 กิโลเมตรต่อชั่วโมงก็ทำได้แล้ว

  วันที่ 5 ซึ่งเป็นวันนัดคืนรถ ออกจากบ้านตั้งแต่เช้ามืดเหมือนเดิมเพื่อหนีรถติด ลองเซตทริป B ดูใหม่เล่นๆ จากบ้านถึงจุดพักรถบนในทางด่วน ระยะทาง 28.7 กิโลเมตร เวลาที่เครื่องยนต์ทำงาน 24 นาที ความเร็วเฉลี่ย 72 กิโลเมตรต่อชั่วโมง อัตราสิ้นเปลืองหรูๆ 19.8 กิโลเมตรต่อลิตร

  ข้อมูลนี้คงใช้อ้างอิงอะไรไม่ได้ เพราะขับตอนเช้ามืดที่รถโล่งตลอด ซึ่งแทบไม่พบในการใช้งานจริง

  สรุปทริป A ที่เซตไว้ตั้งแต่วันแรก ระยะทางที่ขับไปทั้งหมด 1,124 กิโลเมตร เวลาที่เครื่องยนต์ทำงาน 19.5 ชั่วโมง ความเร็วเฉลี่ย 57 กิโลเมตรต่อชั่วโมง อัตราสิ้นเปลืองเฉลี่ย 16.0 กิโลเมตรต่อลิตร ถือว่าน่าพอใจมากๆ เพราะช่วงที่ถ่ายภาพนิ่งและวีดิโอ มีการดับและสตาร์ตเครื่องยนต์บ่อยครั้งเพื่อเลื่อนรถหามุม รวมทั้งการติดเครื่องยนต์เดินเบาด้วย

  สำหรับการขับใช้งานในชีวิตประจำวัน อัตราเร่งถือว่าเหลือเฟือ ด้วยแรงบิดที่มาในรอบต่ำ บางจังหวะที่ไม่เร่งรีบก็ไม่จำเป็นต้องคิ๊กดาวน์ แค่ไล่รอบในเกียร์เดิมก็ได้อัตราเร่งที่ทันใจพอสมควรแล้ว ความรู้สึกคล้ายขับรถเก๋งดีเซลเทอร์โบ ที่เร่งดีตั้งแต่รอบต่ำ แต่เบนซินเทอร์โบได้เปรียบที่ลากรอบได้สูงกว่า ทำให้อัตราเร่งไหลลื่นกว่า เกียร์อัตโนมัติ CVT มีการทำงานที่สอดคล้องกับคันเร่ง และให้ความรู้สึกคล้ายเกียร์แบบฟันเฟือง ผู้ขับจึงไม่ต้องปรับตัวมากนัก การเปลี่ยนเกียร์ทำได้นุ่มนวลและต่อเนื่องตามสไตล์เกียร์ CVT และเมื่อขับแบบสปอร์ตก็ยังรู้สึกถึงการเปลี่ยนของเกียร์ ตำแหน่งเกียร์ S จะเร่งรอบสูงกว่าเกียร์ D ประมาณ 1,000 รอบต่อนาที ที่ความเร็วเท่ากัน เมื่อใช้งาน Paddle Shift จะไม่สามารถคิ๊กดาวน์ได้ ต้องดึง Paddle Shift หรือลดความเร็วลงมากๆ เกียร์ก็จะเปลี่ยนลงให้ แต่เกียร์ยังคงเปลี่ยนขึ้นเกียร์สูงให้เองเมื่อลากรอบเกิน 6,000 รอบต่อนาที

เมื่อไล่ขึ้นไปถึงเกียร์ 4 รอบเครื่องยนต์จะนิ่งอยู่ที่ 6,000 รอบต่อนาที ความเร็วยังไหลขึ้นเรื่อยๆ และนิ่งอยู่ที่ 208 กิโลเมตรต่อชั่วโมง การตอบสนองของเครื่องยนต์เป็นแบบมาเร็วต่อเนื่อง หมดแล้วหมดเลย ดูตัวเลขแล้วจัดจ้านพอตัว 0-100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ใน 7.68 วินาที ควอเตอร์ไมล์ 0-402 เมตร ใช้เวลา 15.7 วินาที


  วัดอัตราเร่งในโหมดเกียร์ D และ S ไม่ได้ใช้ Paddle Shift เพราะสุดท้ายแล้วเกียร์ก็เปลี่ยนขึ้นให้เองอยู่ดี ผลลัพธ์แทบไม่ต่างกัน โดยในช่วงออกตัวจากรอบเดินเบา รอบจะไต่ขึ้นช้าๆ แล้วเริ่มกวาดเร็วหลังจากเกิน 2,000 รอบต่อนาที เกียร์อัตโนมัติ CVT มีช่วงรอบตกเมื่อเปลี่ยนเกียร์ขึ้นสูง โดยจะไล่รอบขึ้นไปที่ 6,000 รอบต่อนาที และตกมาแถวๆ 5,000 รอบต่อนาที ไม่ได้ขึ้นไปคาที่รอบสูงสุดแบบเกียร์ CVT หลายรุ่นที่เคยขับ แต่อัตราเร่งก็ทันใจพอสมควร ปลายๆ เกียร์ 2 ที่เกือบ 6,000 รอบต่อนานที ก็ได้ความเร็วเกิน 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมงแล้ว

  เมื่อไล่ขึ้นไปถึงเกียร์ 4 (นับจากช่วงรอบตกของแต่ละเกียร์) รอบเครื่องยนต์จะนิ่งอยู่ที่ 6,000 รอบต่อนาที ความเร็วยังไหลขึ้นเรื่อยๆ และนิ่งอยู่ที่ 208 กิโลเมตรต่อชั่วโมง การตอบสนองของเครื่องยนต์เป็นแบบมาเร็วต่อเนื่อง หมดแล้วหมดเลย ดูตัวเลขแล้วจัดจ้านพอตัว 0-100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ใน 7.68 วินาที ควอเตอร์ไมล์ 0-402 เมตร ใช้เวลา 15.7 วินาที ทำความเร็วได้ 149.8 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ความเร็วสูงสุดจากเครื่องวัดอัตราเร่ง 203.5 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

–   ความเร็ว 10 กม./ชม. เวลา 0.67 วินาที ระยะทาง 0.99 เมตร
–   ความเร็ว 20 กม./ชม. เวลา 1.35 วินาที ระยะทาง 3.77 เมตร
–   ความเร็ว 30 กม./ชม. เวลา 1.94 วินาที ระยะทาง 7.89 เมตร
–   ความเร็ว 40 กม./ชม. เวลา 2.54 วินาที ระยะทาง 13.72 เมตร
–   ความเร็ว 50 กม./ชม. เวลา 3.17 วินาที ระยะทาง 21.64 เมตร
–   ความเร็ว 60 กม./ชม. เวลา 3.87 วินาที ระยะทาง 32.20 เมตร
–   ความเร็ว 70 กม./ชม. เวลา 4.65 วินาที ระยะทาง 46.32 เมตร
–   ความเร็ว 80 กม./ชม. เวลา 5.47 วินาที ระยะทาง 63.52 เมตร
–   ความเร็ว 90 กม./ชม. เวลา 6.55 วินาที ระยะทาง 89.11 เมตร
–   ความเร็ว 100 กม./ชม. เวลา 7.68 วินาที ระยะทาง 118.74 เมตร
–   ความเร็ว 110 กม./ชม. เวลา 9.00 วินาที ระยะทาง 157.57 เมตร
–   ความเร็ว 120 กม./ชม. เวลา 10.60 วินาที ระยะทาง 208.37 เมตร
–   ความเร็ว 130 กม./ชม. เวลา 12.20 วินาที ระยะทาง 263.93 เมตร
–   ความเร็ว 140 กม./ชม. เวลา 13.91 วินาที ระยะทาง 328.18 เมตร
–   ความเร็ว 150 กม./ชม. เวลา 15.79 วินาที ระยะทาง 403.99 เมตร
–   ความเร็ว 160 กม./ชม. เวลา 18.66 วินาที ระยะทาง 527.63 เมตร
–   ความเร็ว 170 กม./ชม. เวลา 21.73 วินาที ระยะทาง 668.27 เมตร
–   ความเร็ว 180 กม./ชม. เวลา 25.14 วินาที ระยะทาง 834.17 เมตร
–   ความเร็ว 190 กม./ชม. เวลา 29.42 วินาที ระยะทาง 1054.54 เมตร
–   ความเร็ว 200 กม./ชม. เวลา 34.53 วินาที ระยะทาง 1331.70 เมตร
–   ระยะทาง 0-100 เมตร เวลา 07.0 วินาที ความเร็ว 93.8 (กม./ชม.)
–   ระยะทาง 0-200 เมตร เวลา 10.3 วินาที ความเร็ว 118.3 (กม./ชม.)
–   ระยะทาง 0-402 เมตร เวลา 15.7 วินาที ความเร็ว 149.8 (กม./ชม.)
–   ระยะทาง 0-1000 เมตร เวลา 28.4 วินาที ความเร็ว 187.2 (กม./ชม.)
–   ความเร็วสูงสุด 203.5 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

ช่วงล่างเน้นนุ่มนวล

  แม้เครื่องยนต์จะมีสมรรถนะค่อนข้างสูง แต่ระบบกันสะเทือนก็ไม่ได้ถูกเซตให้แข็งสไตล์สปอร์ต โดยยังคงเน้นความนุ่มนวลเป็นหลัก ด้านหน้าอิสระ แม็คเฟอร์สันสตรัต พร้อมเหล็กกันโคลง ด้านหลังอิสระ มัลติลิงค์ พร้อมเหล็กกันโคลง รองรับการขับใช้งานทั่วไปได้ดี เดินทางด้วยความเร็ว 120-140 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ได้อย่างนุ่มนวล ไม่เหนื่อยล้า ที่ความเร็วต่ำก็ดูดซับแรงสะเทือนได้ดี ส่วนที่ความเร็วสูงจะมีอาการวูบวาบบ้างเมื่อขับผ่านถนนที่เป็นคลื่นลอน แลกกับความนุ่มนวลในความเร็วที่ใช้งานบ่อยๆ ก็นับว่าคุ้ม หรือถ้าใช้ความเร็วสูงจัดบนทางเรียบก็มั่นคงดีไม่วูบวาบ

  ระบบบังคับเลี้ยวแร็กแอนด์พิเนียนพร้อมเพาเวอร์ไฟฟ้า ปรับน้ำหนักมาค่อนข้างหนืด สัมผัสได้ตั้งแต่ความเร็วต่ำ และยิ่งหนืดขึ้นเมื่อใช้ความเร็วสูง ช่วยให้การควบคุมรถมีความมั่นคง มีความเสถียรไม่วูบวาบ ขับเร็วได้โดยไม่เกร็ง และเข้าโค้งได้อย่างเป็นธรรมชาติ ไม่ต้องประคองพวงมาลัย ระบบเบรกดิสก์ 4 ล้อ ด้านหน้ามีครีบระบายความร้อน มาพร้อมระบบป้องกันล้อล็อกและกระจายแรงเบรก ผลงานการเบรกถือว่าดี แรงเบรกสัมพันธ์กับน้ำหนักเท้า และเบรกได้ทันใจเมื่อมีเหตุฉุกเฉิน ถ้าเบรกรุนแรงไฟกะพริบจะทำงานอัตโนมัติเพื่อเตือนผู้ขับที่ตามมา

  ฮอนด้า ซีวิค 1.5 Turbo RS รูปลักษณ์ล้ำสมัยโดดเด่นสะดุดตา ดูใหญ่กว่าคู่แข่งในระดับเดียวกัน ภายในแต่งแบบสปอร์ตและกว้างขวางพอตัว เครื่องยนต์ 1,500 ซีซี เทอร์โบ 173 แรงม้า มีความยืดหยุ่นในการใช้งาน ขับช้าๆ ก็ราบเรียบนุ่มนวลและประหยัดเชื้อเพลิง เมื่อกดคันเร่งลึกๆ ก็ตอบสนองได้ทันใจ เกียร์อัตโนมัติ CVT ปรับปรุงลบจุดด้อย คงจุดเด่นเรื่องความต่อเนื่องนุ่มนวล รุ่นสูงสุดตั้งราคาไว้ 1.199 ล้านบาท เป็นทางเลือกที่น่าสนใจและสดใหม่ที่สุด ณ เวลานี้  

ขอบคุณ บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด เอื้อเฟื้อรถยนต์ในการทดสอบ

Specification: Honda Civic 1.5 Turbo RS

–   แบบตัวถัง ซีดาน 4 ประตู
–   ยาว x กว้าง x สูง 4,630 x 1,799 x 1,416 มิลลิเมตร
–   ความกว้างล้อหน้า/หลัง 1,547/1,563 มิลลิเมตร
–   ระยะต่ำสุด 125 มิลลิเมตร
–   ฐานล้อ 2,698 มิลลิเมตร
–   น้ำหนัก 1,317 กิโลกรัม
–   แบบเครื่องยนต์ เบนซินไดเร็คอินเจ็คชั่น 4 สูบ เทอร์โบ DOHC 16 วาล์ว VTC
–   ความจุ 1,498 ซีซี
–   กระบอกสูบ x ช่วงชัก 73.0 x 89.5 มิลลิเมตร
–   อัตราส่วนการอัด 10.6:1
–   กำลังสูงสุด 173 แรงม้า (PS) ที่ 5,500 รอบต่อนาที
–   แรงบิดสูงสุด 22.4 กก.-ม. ที่ 1,700-5,500 รอบต่อนาที
–   ระบบส่งกำลัง อัตโนมัติ CVT
–   ระบบขับเคลื่อน ล้อหน้า
–   ระบบบังคับเลี้ยว แร็คแอนด์พิเนียนพร้อมเพาเวอร์ไฟฟ้า
–   ระบบกันสะเทือนหน้า อิสระ แม็คเฟอร์สันสตรัต พร้อมเหล็กกันโคลง
–   ระบบกันสะเทือนหลัง อิสระ มัลติลิงค์ พร้อมเหล็กกันโคลง
–   ระบบเบรกหน้า/หลัง ดิสก์พร้อมครีบระบายความร้อน/ดิสก์ พร้อมเอบีเอส และอีบีดี
–   ผู้จำหน่าย บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด
–   โทรศัพท์ Call Center 02-341-7777 ตลอด 24 ชั่วโมง
–   เวบไซต์ www.honda.co.th/civic.


2016 Honda Civic 1.5 Turbo RS